ประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่มี 'โรฮิงญา' บนแผ่นดินพม่า

ประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่มี 'โรฮิงญา' บนแผ่นดินพม่า

(รายงาน) ประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่มี“โรฮิงญา”บนแผ่นดินพม่า

ทำไมชาวโรฮิงญา จึงต้องเป็น “เหยื่อ” ขบวนการค้ามนุษย์? ชาวโรฮิงญามาจากไหนกันแน่?


นี่อาจเป็นคำถามพื้นๆ สำหรับคนเสพข่าวรายวัน โดยเฉพาะยุคสื่อใหม่ที่ขายข่าว “เร็วและสั้นกระชับ” และมีดราม่าบ้าง


ชาวโรฮิงญา เป็นชาติพันธุ์มุสลิมอาศัยอยู่ที่อยู่ดินแดนที่เรียกว่า “รัฐอาระกัน” หรือ “รัฐยะไข่” ที่เป็นรัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศเมียนมาร์ ติดกับชายแดนบังคลาเทศ มีลักษณะร่างกาย ภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ภาษาที่ถูกใช้ในบังคลาเทศ


ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญานั้นมีมายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม และการเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือจุดเริ่มต้นของการอพยพออกจากแผ่นดินถิ่นเกิด


ดูเป็นเรื่องตลกร้าย เนื่องจากสมัยอังกฤษปกป้องอาณานิคมจากการรุกรานของญี่ปุ่น ชะตากรรมชาวโรฮิงญาได้พบกับทางแยกระหว่าง “รัฐเอกราช” กับ “คนไร้รัฐ” อย่างไม่คาดฝัน


พ.ศ.โน้น อังกฤษสนับสนุนกลุ่มมุสลิมโรฮิงญา สร้างเขตกันชนในรัฐยะไข่ เพื่อป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน กลุ่มกู้ชาติชาวพม่าได้อาศัยญี่ปุ่นเป็นกองหนุนสู้รบอังกฤษ และพันธมิตรชาวโรฮิงญา


ฉะนั้น กองกำลังชาวโรฮิงญาจึงต้องรบราฆ่าฟันกับชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธในยะไข่ มันเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” มาจนถึงทุกวันนี้


เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนไป กองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบกับความพ่ายแพ้ในสงคราม กลุ่มกู้ชาติชาวพม่าเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรกับกองทัพอังกฤษ


ชาวโรฮิงญาที่เป็นอดีตพันธมิตรของอังกฤษ ก็ถูกทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมเพียงลำพังในรัฐยะไข่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น อังกฤษรับปากจะให้เอกราชแก่ “รัฐอิสระ” ของชาวโรฮิงญา


แม้ว่าพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงญาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี “อูนุ” และมีการตั้งเขตปกครองพิเศษ แต่ภายหลังการยึดอำนาจของ “นายพลเนวิน” พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้ และปลุกกระแสชาตินิยมพม่าพุทธ


ชาวโรฮิงญา จึงไม่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองพม่าตามกฎหมายสัญชาติ ทำให้สถานะของชาวโรฮิง ยาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ กลายเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้สิทธิใดๆ รอเพียงการผลักดันให้ออกนอกประเทศ


นอกจากนั้น “นายพลเนวิน” ได้เปลี่ยนชื่อจาก “รัฐอาระกัน” เป็น “รัฐยะไข่” ตามมาด้วยการประกาศใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ปี ค.ศ.1982 กำหนดสิทธิของ 135 กลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ แต่ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา


ยุคสมัยกฎเหล็กของ “นายพลเนวิน” ทำให้ชาวโรฮิงยาหลายแสนต้องอพยพหนีความรุนแรงไปประเทศบังคลาเทศ แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดนพม่าบังคลาเทศจนถึงปัจจุบัน


เมื่อชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ จึงไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่สามได้ จำเป็นที่ต้องอยู่อาศัยตามแนวชายแดนพม่า-บังคลาเทศ


“ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้” ชาวโรฮิงญาบางกลุ่มในบังคลาเทศ ได้จัดตั้งพรรคปลดปล่อยโรฮิงญา (RLP) และเปลี่ยนเป็นแนวร่วมโรฮิงญารักชาติ (RPF) ในเวลาต่อมา


เมื่อรัฐบาลทหารพม่ากดดันชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่มากขึ้น กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้แยกออกจากแนวร่วมโรฮิงญารักชาติ RPF และได้จัดตั้งองค์กรโรฮิงญาเข้มแข็ง (RSO) ประกาศรับการสนับสนุนจากโลกมุสลิม


ปัจจุบัน สมาชิก RSO และแนวร่วมอิสลามโรฮิงญาอาระกัน (ARIF) ได้รวมเข้าด้วยกันและจัดตั้งสภาแห่งชาติโรฮิงญา (RNC) และกองทัพแห่งชาติโรฮิงญา (RNA) ต่อสู้ด้วยกำลังติดอาวุธอยู่ตามแนวชายแดน


ความรุนแรงและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาจำต้องอพยพเข้าสู่ไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่าที่เดินทางหนีเข้ามาในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางบกจากรัฐยะไข่ ผ่านเขตพะโค ก่อนเข้ารัฐกะเหรี่ยง และข้ามชายแดนเข้าไทยทางชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ระยะหลังชาวโรฮิงญาในค่ายพักพิงที่เมืองจิตตะกอง บังคลาเทศ ก็มุ่งหน้าสู่ทะเลเช่นเดียวกับชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ด้วยความหวังที่จะหาอนาคตที่ดีกว่าในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย


อีกเส้นจะผ่านน่านน้ำอิรวะดี ชายฝั่งตะนาวศรี และรัฐมอญก่อนจะเข้าน่านน้ำไทยเขตจังหวัดระนองและพังงา เส้นทางนี้ใกล้ฝั่งและใช้เวลาน้อยกว่า แต่เสี่ยงที่จะเจอกับกองเรือของกองทัพพม่า


พวกเขามีทางเลือกไม่มาก การถูกบังคับให้อพยพเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก และหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ