สแกนตลาด “เศรษฐีจีน”เที่ยวไทยพลิก “แมส” สู่ “คุณภาพ”

สแกนตลาด “เศรษฐีจีน”เที่ยวไทยพลิก “แมส” สู่ “คุณภาพ”

เศรษฐีจีนเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน การจับจริต รสนิยม คือเป้าหมาย ฉีกตำราแมสสู่ “คุณค่า” เที่ยวไทยดูดมังกรไฮคลาส

นับตั้งแต่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก มีเศรษฐีจีนพันล้าน เพิ่มขึ้นถึง 190 คนจากประชากร 1,300 ล้านคน

ขณะที่นักท่องเที่ยวหรูหรา พรีเมี่ยมของจีน มีรายได้มากกว่า 1.1 แสนบาทต่อเดือน นิยมเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ เปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านคน มีการใช้จ่ายต่อคนสูงมากกว่า 1 แสนบาทต่อ 1 ทริป จากนักท่องเที่ยวจีนที่ออกนอกประเทศทั้งหมด 71 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา

นั่นหมายถึง จีนกำลังจะกลายประเทศ “ส่งออก” นักท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก ตามที่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศภายในปี 2563 หรือในอีก 5 ปีจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางออกนอกประเทศทะลุ 500 ล้านคน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังคาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนปี 2558 ว่า จะมีคนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยแตะที่ 5.6 ล้านคน จากปี 2557 อยู่ที่ 4.6 ล้านคน ผลักดันรายได้ 1.9 แสนล้านบาท

เฉลี่ยคนจีนเดินทางมาเที่ยวในไทยปีละ 7-8 แสนคน (5ปีที่แล้ว) กระโดดขึ้นมาเป็น 4 ล้านคน หรือ 4-5 เท่าตัวภายใน 5 ปี

ไทยยังเป็นเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีน ติดอันดับ 3 รองจากเกาหลี และญี่ปุ่น

ข้อมูลของ ททท. ยังระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาไทย จะเป็นกลุ่มตลาดระดับกลาง 40% อีก 50% เป็นระดับทั่วไป (แมส) ส่วนนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยมจีน ส่วนใหญ่นิยมไปท่องเที่ยวในยุโรป และสหรัฐมากกว่าฝั่งเอเชีย

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้นักการตลาดต้องวิเคราะห์ทบทวน กลยุทธ์จับทิศทางการเติบโตเชิงปริมาณไปพร้อมกับคุณภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด !

ที่ผ่านมา ททท. จึงได้ร่วมกับ บริษัท วายแอนด์อาร์ ไทยแลนด์ และบริษัท อินทัช รีเสิร์ซ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ปักหมุดวิจัยตลาดมหาเศรษฐีจีนในเชิงลึกกว่า 1 ปี โดยเจาะกลุ่ม 2,400 กลุ่มตัวอย่าง ผ่านการสำรวจแบบ in market survey ใน 8 เมืองหลักของจีน ที่กำลังมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น คุณหมิง เฉิงตู เสิ่นหยาง และซีอาน

เพื่อให้เข้าใจ และเข้าถึงจริต รสนิยม พฤติกรรม คุณค่า ของมหาเศรษฐีจีนเหล่านี้ ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้รับมาออกแบบแนวทางการสื่อสารการตลาด ให้จูงใจนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าหนัก เปิดประสบการณ์สร้างคุณค่าเที่ยวไทย (Thainess) นำเสนอแพ็คเกจที่มีบริการด้านท่องเที่ยวหลากหลาย - หรูหราเลอค่าอย่างไทย ดึงดูด”พญามังกร”กระเป๋าหนัก      

สันติ ชุตินธรา รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉายภาพแผนการตลาดท่องเที่ยวในมิติใหม่ของททท. โดยหันไปมุ่งโฟกัสกลุ่มตลาดจีนพรีเมี่ยม กระเป๋าหนัก ไปพร้อมกับการปรับภาพลักษณ์ของไทยจากประเทศท่องเที่ยวราคาถูกคุ้มค่า

เพราะพบว่า 5 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทั่วไป ที่นิยม "พักระยะสั้น - ใช้จ่ายต่ำ 4 หมื่นบาทต่อทริป"

ปลาอ้วน” ครีมๆ กระเป๋าหนักของจีน มาเที่ยวไทยไม่ถึง 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนพรีเมี่ยมที่มีอยู่กว่า 10 ล้านคน

"ปีที่ผ่านมาคนจีนกลุ่มกระเป๋าหนักมาเที่ยวไทย 3.3 แสนคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน 4.6 ล้านคน"  เธอบอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ นโยบายททท. จึงหันหัวเรือสู่กลุ่มเป้าหมาย “รายเซ็คเมนท์”  เพื่อคัดกรองนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าหนัก ฉีกการตลาดแบบเหวี่ยงแห

การวิจัยเพื่อเฟ้นหาไลฟ์สไตล์ประชากรจีนใน 8 เมืองหลัก อยู่บนความคาดหวังว่า จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนพรีเมี่ยมจะมาไทยเพิ่มอีก 1 แสนคน ในปี 2560

@Grouping 3 ไลฟสไตล์ พรีเมี่ยมจีน

    ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. เปิดผลวิจัยคนจีนกระเป๋าหนักกว่า 10 ล้านคน ว่าแบ่งเซ็คเมนท์ใหญ่ได้ 3 เซ็คเมนต์หลักๆ ประกอบด้วย

    1.ประสบความสำเร็จในชีวิต (Succeeder) จำนวนราว 4.3 ล้านคน กลุ่มหรูหราเหนือชั้น ต้องการความหรูหรา ลักชัวรี่ โชว์ออฟบ่งบอกให้โลกรู้ด้วยสินทรัพย์ รสนิยม เครื่องประดับรอบตัว ชอบวิ่งเข้าหาแบรนด์เนม ชอบให้รางวัลกับตัวเอง ต้องการสิ่งที่ทำให้โดดเด่นและแตกต่าง

ฉะนั้นทำตลาดเศรษฐีมังกรกลุ่มนี้ ของพื้นๆอย่าได้นำเสนอ เมื่อต้องเดินทางท่องเที่ยว ชีวิตต้องสบาย เพราะประสบความสำเร็จแล้ว ต้องมาพร้อมกับความสะดวกสบายหรูหรา จึงยินยอมจ่ายที่พักแพงๆ ว่ากันว่า คนกลุ่มนี้ชอบชอปปิงเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเข้าร้านเครื่องเพชร หรือแบรนด์เนมมักชี้ห่อ ชี้ห่อ ไม่ค่อยแคร์และคิดมากว่า จ่ายไปเท่าไหร่แล้ว การใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 100,000 บาท

    2.รักษ์โลก (Reformer) จำนวนราว 2 ล้านคน มีกำลังซื้อสูงยอมจ่ายเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ เศรษฐีมังกรแนวนี้นิยมเสพไลฟ์สไตล์สุนทรียนิยม รักษ์ธรรมชาติ สายลม แสงแดด ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องวิ่งไล่ตามกระแส อยู่ในกฎเกณฑ์ ชอบเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเอง หรือเรียกพวกเขาว่า “ฮิปเตอร์กระเป๋าหนัก” ให้ความสำคัญกับรสนิยมชื่นชอบมากกว่าเหตุผล ที่สำคัญแสวงหาอะไรที่เป็นแก่นแท้ มากกว่าวัตถุนิยมฟุ้งเฟ้อ การใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 140,000 บาท

    3.กลุ่มกลางๆ คนธรรมดา ผู้ร่ำรวย (High Value Mainstream) จำนวน 3.8 ล้านคน รักครอบครัวมีเหตุผล ใช้เงินด้วยสมอง มีบุคลิก ชอบชีวิตเรียบง่าย ไม่ชอบหวือหวา ไม่ต้องการความเสี่ยง แต่เน้นคุณค่าราคาสมเหตุสมผล การใช้เงินจึงอยู่ในภาวะที่ต้องมีเหตุผลการใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ย 96,000 บาท

การแบ่งกลุ่มไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมและรสนิยม เพื่อแยกย่อยหลักการและวิธีดำเนินชีวิตรวมถึงจิตวิทยาของเศรษฐีทั้ง 3 เซ็คเมนต์นี้ ทำให้ง่ายต่อการนำเสนอแพ็คเกจท่องเที่ยวและสินค้าได้ตรงกับจริตของเขาเหล่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนรู้ ว่าใคร ที่ไหน อย่างไร และอะไรคือสินค้า และทำไมต้องนำเสนอเช่นนี้ และยังง่ายต่อการเลือกเครืองมือทางการตลาด สื่อสารเจาะเข้าหาความคิด ชีวิต พญามังกรทั้ง 3 เซ็คเมนท์

นักการตลาดจากททท. ยังระบุถึงการเลือกโฟกัสตลาดจีนวาดวงแหวนไว้รอบภาคตะวันออกเมืองใหญ่ติดกับทะเล เพราะมีเศรษฐีเกิดขึ้นหนาตา ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เมือง ปักกิ่ง มีนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยม 1.14 ล้านคน เซี่ยงไฮ้ 5 ล้านคน และกวางโจว หรือ เซิ่นเจิ้น 1.99 ล้านคน รวม 3 เมืองใหญ่มีกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม พญามังกรมากกว่า 8 ล้านคน จึงเป็น 3 ตลาดที่ให้ความสำคัญเป็นหลัก ขณะที่เมืองรองอื่น มีเศรษฐีจีนไม่ถึง 1 ล้านคน แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ประกอบด้วย คุณหมิง เฉิงตู เสิ่นหยาง และซีอาน

ทั้งนี้หากแยกเมืองต่างๆ จะพบว่ามีรสนิยมหลากหลาย เช่น ปักกิ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า ส่วนเซี่ยงไฮ้กับให้ความสำคัญของความมีชื่อเสียงของสถานที่หรูหราและทันสมัย ส่วนกวางโจว ก็เน้นภาพลักษณ์และฟังเสียงวิจารณ์หรือรีวิวจากคนอื่น เช่น เพื่อน หรือญาติ ขณะที่มณฑลอื่นๆ เช่น คุณหมิง เฉิงตู และซีอาน นิยมพิจารณาความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น หรือความน่าสนใจของชุมชนเมือง วิถีชีวิต

การเสนอขายจึงต้องพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการไลฟ์สไตล์ของคนจากแต่ละเมือง

กลยุทธ์สำคัญที่จะเข้าไปทำกาตลาดมุ่งเน้นโฟกัสกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับพรีเมี่ยมรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือนขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งกลุ่มที่มีฐานะ เป็นกลุ่มคนมีรสนิยมในการเสพ หรือกลุ่ม Mainstream

หันมาดูจุดเด่นที่รวบยอดมาเป็นจุดขายได้ นั้นคือ ความหรูหรา เลอค่า แปลกใหม่ ในแบบฉบับ "Thainess" ที่ต้องสวยเลือกได้ เป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์เศรษฐีมีระดับที่มุ่งไปสัมผัสประสบการณ์จากยุโรปให้ลองเข้ามาแสวงหาประสบการณ์ที่ไม่มีประเทศไหน เหมือนในไทย

“เพราะความหรูที่ไหนก็หาได้ แต่หรูหราแบบไทยเป็นสไตล์ที่หาที่ไหนไม่ได้” สรุปจุดขายผ่าน “Discover Thainess” จึงถูกนิยามว่า “เดินทางสะดวกสบาย ประสบการณ์พิเศษ มีความเป็นส่วนตัว บริการด้วยใจ และหรูหราอย่างไทย คุ้มค่าเงิน"

แพ็คเก็จนำไปออกไปสร้างจุดขายโปรดักส์หรูหรา สไตล์ไทย ยังคงสู้ได้สบายคือ รีสอร์ท สปา นวดไทย และอาหารไทย ถือเป็นสินค้าโดดเด่น (Out Standing) ที่ทำให้คนจีนหลงรักคนไทย

ส่วนภาพลักษณ์เชิงลบที่ต้องปรับทัศนคติของคนจีนให้เปลี่ยนมุมมองคือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนประหยัด (Cheap Destination) ไม่ปลอดภัย และยังไม่โดดเด่นในด้านชั้นเชิงการแพทย์

@ชั้นเชิง..เข้าหาไฮโซมังกร

สำหรับกลวิธีการสื่อสารกับคนรวยพญามังกร เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรหว่านด้วยการโฆษณา หรือการตลาดแบบแมสที่เคยเห็นแชะชินตาว่าจะปลุกกระแสได้ สำหรับพรีเมี่ยมพญามังกร ไม่มีทางได้แอ้ม หากใช้กลยุทธ์ธรรมดาปลุกกระแส หรือแม้กระทั่งสื่อใหม่ก็ใช่ว่าจะชนะใจและทรงอิทธิพลได้ทันที เพราะทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่การดึงมาใช้อย่างแยบยล สอดคล้องกับจริตของท่านเจ้าสัว สิ่งที่มีอิทธิพลทำให้นักท่องเที่ยวศักยภาพสูง (High Value) จีนตัดสินใจเลือกจุดหมายท่องเที่ยว สำคัญที่สุดอยู่ที่ความหลากหลายของสถานที่ และรองลงมาคือได้รับคำแนะนำจากคนรู้จัก เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ตลาดคนมีฐานะในเมืองจีน บางกลุ่มนิยมจ้างบริษัทออกแบบการท่องเที่ยว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเดินทางเบ็ดเสร็จ ฉะนั้นททท.จึงต้องเข้าไปพัฒนาความสัมพันธ์ กับคนกลาง ทำงานร่วมกันแบบพาร์ทเนอร์ จัดแพ็คเกจเส้นทางท่องเที่ยวหรูหรา ให้เหมาะกับเศรษฐีกระเป๋าหนัก รวมถึงการเข้าหากลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิดของเศรษฐีเหล่านีh

ไม่เพียงเท่านี้ เศรษฐีเหล่านี้จะมีกลุ่มสังคมแหล่งรวมตัวทำกิจกรรมตามประสาคนมีตังค์ ผ่านชมรมต่างๆ งานแสดงสินค้านาฬิกา งานตีกอล์ฟ งานเจรจาธุรกิจการค้า หรือชมรมต่างๆ เป็นใบเบิกทางให้เข้าถึงรสนิยมความชอบ ผ่านกลุ่มคนสังคมเดียวกัน

“เศรษฐีอยู่ที่ไหนเราก็ต้องเข้าไปหา สรรหากิจกรรมให้ตรงกับจริตคนรวย ที่ไม่ได้เข้าถึงง่าย จึงไม่ใช้โฆษณาแบบแมส เพราะคนเหล่านี้ไม่เชื่อโฆษณาจูงใจง่ายๆ กลยุทธ์จึงต้องซับซ้อนมากกว่า"

------------------------------------

สถาบันสอน “ความเป็นผู้ดี” มาแรงในจีน

สิ่งที่สังเกตได้ชัดขึ้นคือพฤติกรรมคนจีน มีความหลากหลายและเริ่มเรียนรู้ที่จะมีรสนิยมการใช้ชีวิตให้สมกับความเป็นเศรษฐี มีฐานะ ต้องการยอมรับจากสังคมเพื่อเป็น “ใบเบิกทาง” ไปสู่การเจรจาธุรกิจได้ราบรื่น

เรื่องเล่าน่าแปลกใจที่พอจะยืนยันถึงเศรษฐีจีนวันนี้ คนละประเภทกับที่ชาวไทยเขียนบ่นระคายเคืองในโลกโซเชียลมิเดีย

จากคำบอกว่าของโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานบริหารด้านสร้างสรรค์กลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท Y&R ประเทศไทย ค้นพบ "สถาบันสอนวัฒนธรรมผู้ดีมีฐานะ” กำลังมาแรงมากในหมู่มวลเศรษฐีจีน สนนราคาค่าเรียนเบาะๆ ก็ประมาณ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 12 วัน หรือกว่า 3 ล้านบาท

หลักสูตรประกอบด้วย การเข้าสังคมให้ยอมรับระดับสากล สอนกันตั้งแต่มารยาท บนโต๊ะอาหาร อาทิ ใช้ช้อนซ้อมปลอกกล้วยหอมจึงจะดูดีมีระดับ จนถึงการวางตัว ภาษา ท่าทาง กริยาแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ

เท่านั้นยังไม่พอ จีนเริ่มหันมาเรียนรู้การบริโภคอย่างชาญฉลาดด้วยคุณค่าหลากหลาย ทั้งผ่านเรื่องราว (Story telling) ความเป็นแก่นแท้เชิงลึก ของความเป็นแบรนด์หรูหราไม่กลวง เช่น การเกิดขึ้นของเว็บไซต์สอนดื่มไวน์ หรือแม้กระทั่งงานเปิดตัวดีไซน์ของดิออร์ เอ็กซ์ซิบิชั่น ต่างก็งัดจุดขายการเล่าเรื่องราวความเป็นดีไซน์

สิ่งเหล่านี้ บอกให้โลกรับรู้ว่ามีเศรษฐีจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยม รอบรู้และมีไหวพริบ ไม่ใช่รวยอย่างเดียว ใช้เงินซื้อทุกสิ่ง ดังนั้นกลยุทธ์ตลาดแบบขายทื่อๆ เน้นฮาร์ดเซลล์พับกระดานไปได้เลย

ขณะที่การบริหารการสื่อสารกับเศรษฐีจีนในยุคนี้ ยังละเอียดอ่อนและใช้ศิลปะสูง

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหน้ามือเป็นหลังมือของเศรษฐกิจในจีน จึงทำให้สังคมจีนปัจจุบันอยู่ระหว่างการเรียนรู้ถึงการเติบโตในเชิงคุณภาพ ที่มีสัดส่วนเริ่มมากขึ้น และสร้างโอกาสให้ไทยทำการตลาดรองรับคนกลุ่มพรีเมี่ยม เข้าถึงเนื้อแท้เศรษฐีมังกร

-------------------------------------

มังกรหันหัวเรือ วัตถุนิยมสู่คุณค่ายั่งยืน

สี จิ้นผิง ผู้นำจีนรู้ว่า เศรษฐกิจที่เติบโตทำสถิติสูงสุด 7-10% ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งภาพลักษณ์เชิงลบ รวยวัตถุนิยม แต่ไร้ระดับเชิงคุณภาพ นโยบายของเขาจึงหันหัวเรือจากที่เน้นการเติบโตด้วยจีดีพีสูง สู่การขับเคลื่อนประเทศเป็นสังคมคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสของการพัฒนาศักยภาพนักท่องเที่ยวจีนที่มีคุณภาพเข้ามาในไทย

โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานบริหารด้านสร้างสรรค์กลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท Y&R ประเทศไทย ระบุว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนถูกเน้นใน 4 เรื่อง คือ

ความเข้มแข็ง คู่ขนานกันตั้งแต่สังคมเศรษฐกิจ การเมือง ทหาร และวิทยาศาสตร์

ความศิวิไลซ์ เจริญพร้อมกับอารยธรรม

ความเป็นกลมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ความงดงามอย่างจีน ที่ประกอบด้วยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วนวัตกรรม คิดค้นวิจัย แทนการที่เคยก็อปปี้

กลับมาสู่ “สาระแก่นแท้” ความหมายคุณค่าความเป็นมนุษย์ จุดเชื่อมต่อที่ทำให้ตลาดไทยควานหาตลาดพรีเมี่ยมในจีนได้ไม่ยาก หากสร้างจุดขายเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของชาวพญามังกรไฮคลาส

นั่นเพราะจีนยุคใหม่ เปลี่ยนโฉมหน้าความเชื่อ หรือทัศนคติเดิมๆอย่างชัดเจน

การใช้ชีวิตต่อมุมมองการจับจ่าย เมื่อความมั่งคั่งเข้าสู่จีน ค้นพบว่า อัตราการจองทัวร์ในรูปแบบมัดรวมกันเป็นกลุ่มไปต่อรองซื้อแพ็คเกจรวมลดลง วันนี้สัดส่วนการจองโรงแรมหรือการบริการท่องเที่ยวผ่านออนไลน์มีถึง 62% สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการก้าวทันโลกของคนจีน

รวมถึงคำว่าแบรนด์ในอดีตคือเครื่องมือบอกฐานะความสำเร็จภาพลักษณ์ รสนิยม แต่วันนี้กลายเป็นสาระและคุณภาพจากแบรนด์มากกว่า

สังคมจีนกำลังหันไปสู่สังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ เรื่องราว ข้อมูลสินค้าในทุกมิติ โดยเฉพาะท่องเที่ยว เป็นโอกาสนำเสนอแพ็คเกจ ฉะนั้นใครที่เคยหงุดหงิดกับพฤติกรรมจีนที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนเรียนรู้โลกภายนอก จึงก็ไม่ควรเหมารวมจีนทุกคนจะเหมือนกัน

กลวิธีสร้างแบรนด์ประสบการณ์และคุณค่า ความเข้าใจจึงควรสื่อสารสร้างความเข้าใจมากกว่าต่อต้าน จะเป็นเครื่องมือคัดกรอง”พญามังกร” ในหลงสเน่ห์เมืองไทยได้เอง

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนจะเป็นนักท่องเที่ยวตลาดหลักที่พลังการซื้อและการใช้จ่ายที่สำคัญของโลก