นายกฯร่วมพิธีเปิดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่26

นายกฯร่วมพิธีเปิดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่26

"พล.อ.ประยุทธ์" ร่วมพิธีเปิด การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ชูปชช.คือหัวใจของประชาคมอาเซียน หนุนพัฒนาศก.ตามแนวคิด “หนึ่งบวกหนึ่ง”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภริยา ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ณ ห้อง Plenary Hall ชั้น 1 อาคาร Kuala Lumpur Convention Centre (KLCC) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนได้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมการแสดงทางวัฒนธรรม และการเปิดตัวโครงการสถานีโทรทัศน์ “GOASEAN”

จากนั้น พลเอกประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 แบบเต็มคณะ (plenary) พร้อมกับ ผู้นำอาเซียน 9 ชาติ และนาย เล เลือง มิญ (H.E. Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวกับ การจัดตั้งประชาคมอาเซียน วิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2015 และทิศทางในอนาคต โดยภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่า ในที่ประชุม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ให้การต้อนรับอยางอบอุ่น และถือโอกาสแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อการจากไปของนายลี กวน ยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งแสดงความเสียใจที่ได้ทราบข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเนปาล และขอแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลและประชาชนชาวเนปาลสำหรับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยในปีนี้ ไทยขอให้ความมั่นใจว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือต่อการรวมตัวเปนประชาคมเดียวกันในปีนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2558 สำหรับประเทศไทย ประชาชนคือศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ดังนั้น วิสัยทัศน์ของอาเซียนจะต้องมุ่งสร้างประชาคมที่ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และมีความสุข เราต้องยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกระทบจากภัยคุกคามต่างๆและคุ้มครองกลุ่มที่เปราะบาง ด้อยโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม 

นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมเกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจสำหรับหลายประเทศ แต่กลับไม่มีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพและได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมในขณะเดียวกัน ต้องวางรากฐานให้ประชาคมตั้งอยู่บนหลักของกฎกติกา มีธรรมาภิบาล และสามารถเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมีส่วนร่วมของทุกประเทศ

สำหรับการสร้างประชาคมอาเซียน ในการสร้างประชาคมอาเซียน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ไปสู่วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน ต้องเร่งดำเนินการให้ประชาคมอาเซียนรวมตัวอย่างลึกซึ้งและเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในการนี้ เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งความเชื่อมโยงในภูมิภาค และความเชื่อมโยงกับภายนอกภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนา สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างด้านการพัฒนา 

ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของอาเซียน ผ่านโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ การขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางทั้งถนนและรถไฟ ความร่วมมือกับ สปป.ลาวเพื่อก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 และ 6 การสร้างเส้นทางรถไฟจากอรัญประเทศไปยังชายแดนไทย-กัมพูชา และการให้ความช่วยเหลือก่อสร้างสะพานรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟในกัมพูชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสิงคโปร์-คุนหมิง

ไทยกำลังผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างงานและดึงดูดการลงทุนภายในภูมิภาค 

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันตามแนวคิด “หนึ่งบวกหนึ่ง” บนพื้นฐานที่ว่าประเทศอาเซียนแต่ละประเทศมีจุดขายที่จะช่วยเสริมกันและกันได้ โดยมุ่งดึงดูดการลงทุนเข้าอาเซียน ขยายฐานการผลิตในภูมิภาค และช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในอาเซียน

หากอาเซียนมุ่งมั่นจริงจังเกี่ยวกับการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ต้องเร่งรัดขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังคงกีดกันการค้าระหว่างเรา รวมทั้งส่งเสริมการรวมตัวกันเพื่อความมั่งคั่งของอาเซียนโดยรวม 

นอกจากนั้น ควรส่งเสริมการจัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ในขณะเดียวกัน การรวมตัวและความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นย่อมมีผลข้างเคียงเชิงลบตามมาด้วย เราจึงต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยประสานงานกันอย่างใกล้ชิด แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ก็เป็นอีกตัวอย่างของความร่วมมือ ซึ่งไทยหวังว่า ผู้นำอาเซียนจะสามารถรับรองได้ในปลายปีนี้เพื่อให้บังคับใช้ได้ต่อไป อาเซียนควรจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องการบริหารจัดการชายแดนอย่างเป็นระบบ โดยมีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า น่าจะมอบหมายให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติพิจารณาศึกษาเรื่องนี้เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมต่อไป 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียนประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ความเป็นอยู่ของเขามักจะผกผันไปตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก อาเซียนจึงควรพิจารณาว่าจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร ไม่ให้เกษตรกรผู้ผลิตออกไปจากวงจรการเกษตรในอนาคต เนื่องจากรายได้น้อย ขาดทุน เหน็ดเหนื่อย คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น และไม่มีอนาคต ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อภาคการผลิต

อาเซียนควรพิจารณาความเป็นไปได้ที่อาเซียนจะร่วมมือกันเพื่อเป็นคลังอาหาร (food bank) ของโลก แนวทางหนึ่งที่ประเทศในภูมิภาคอาจพิจารณา คือ การสร้างพันธมิตรรายสินค้า ซึ่งไทยพร้อมจะหารือกับประเทศส่งออกที่สำคัญในอาเซียนเพื่อสร้างพันธมิตรแทนที่จะเป็นคู่แข่งกัน อาเซียนควรเสริมสร้างแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตรเพื่อเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยกระดับและทำให้มาตรฐานต่าง ๆ สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร อาจสร้างความร่วมมือด้านเกษตรสมัยใหม่ และควรสร้างตราสินค้าอาเซียน โดยเฉพาะในภาคเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ในอนาคต อาเซียนคงต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรมากขึ้น โดยสนับสนุนเขาในการพัฒนาขีดความสามารถ โดยเฉพาะในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาคการเกษตรจะได้เป็นเสาสำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป 

การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม เพื่อช่วยสร้างน้ำต้นทุน นอกจากจะช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำที่สะอาดได้เพิ่มขึ้น อาเซียนจึงควรตั้งเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนในอาเซียนสามารถเข้าถึงน้ำที่สะอาดได้ภายในปี 2568 ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน แต่ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นอุปสรรคสำคัญในด้านนี้ อาเซียนควรมีเป้าหมายระยะยาวที่จะให้ภูมิภาคปลอดจากหมอกควัน (haze-free ASEAN) โดยร่วมมือกันปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องปัญหาหมอกควัน อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภูมิภาค เป็นต้น และควรมีหน่วยงานร่วมในการบริหารจัดการร่วมกันในทุกประเทศ

หากประชาคมอาเซียนจะมีบทบาทอันเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกในอีกสิบปีข้างหน้า ก็ควรสามารถดำเนินการร่วมกันในการรักษาความสงบและส่งเสริมสันติภาพ ประเทศไทยจึงขอเสนอแนวความคิด ดังนี้ หนึ่ง เราควรพยายามหาวิธีส่งเสริมการประสานงานระหว่างกันในเรื่องการรักษาสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ เพื่อที่อาเซียนจะได้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น สอง เราควรกระชับความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหารในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) เพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที และสาม เราควรจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน หรือ ACMM ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดอย่างเป็นทางการได้ในช่วงปลายปีนี้ ประชาคมอาเซียนต้องเตรียมรับมือกับประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ในอีกสิบปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญที่ไทยให้กับการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม