ดราม่าของกลุ่มต้าน 'คสช.'

ดราม่าของกลุ่มต้าน 'คสช.'

(รายงาน) ดราม่าของกลุ่มต้าน คสช.

ในบรรดาผู้ที่ถูก ศปป.เชิญไปสานเสวนาที่สโมสรทหารบก ปรากฏว่า กลุ่มนักวิชาการ และนักศึกษาฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ออกอาการดราม่ามากที่สุด


มีการปล่อยข่าวผ่านโซเชียลมีเดียว่า ผู้รับเชิญทั้งหมดจะโดนคุมตัว เพื่อปรับทัศนคติ โดยวาดภาพเสียน่ากลัวตามอำนาจมาตรา 44 ราวกับยุคทมิฬมาร 2500 จะกลับคืนมา


สุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการค่ายธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ที่หน้าเฟชบุ๊คว่า "วันนี้คุยกันกับศูนย์ปรองดองฯ เดิมคิดว่าคงแค่สักบ่ายโมงก็เสร็จ แต่กลายเป็นเลิกเอาบ่ายสามครึ่ง เพราะผู้เข้าร่วมอยากเสนอความคิดกันเยอะ พูดได้ไม่ทั่วถึง


“รูปแบบเป็นการรับฟังความเห็นคือ ศปป. เสนอแนวคิดเบื้องต้น แล้วผู้รับเชิญก็อภิปรายเสนอแนวคิด ศปป. รับฟังและสอบถาม พูดกันเต็มที่ มีทั้งเสริมและแย้งกัน บรรยากาศจริงจังมากจนผู้รับเชิญไม่ยอมเลิก แต่ศปป. ต้องขอหยุดพักก่อน เพราะมีผู้จองใช้สถานที่ตอนเย็น”


ขณะที่หนึ่งในสองนักศึกษาที่ได้รับเชิญ สิรวิชญ์ เสรีธิวัตน์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะต่อหน้านายทหารว่า


“ตอนนี้กองทัพไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาการเมืองไทยได้ กองทัพอย่าสำคัญตัวผิดไป กองทัพนั่นแหละคือตัวปัญหาที่สร้างปัญหาทางการเมืองขณะนี้ และตอนนี้กังวลเพราะมีการห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในสโมสรฯด้วย จึงไม่รู้ว่าเขาจะทำการอะไรต่อไป”


นักศึกษาอีกคน นัชชชา กองอุดม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ กลับออกมาเล่ากับสื่อบางสำนักว่า


“ศปป.ก็มีการขอร้องไม่ให้นำเรื่องที่มาพูดคุยกันในวันนี้ออกมาพูดกับสื่อ เพราะเกรงว่าจะเกิดประเด็นมากมาย ซึ่งไม่อยากนำประเด็นเหล่านี้ไปสู่ความขัดแย้ง”


ด้านข้อเสนอ “ยืดเลือกตั้ง” ของประธาน นปช. กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการอิสระ ที่ได้ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส


"สมศักดิ์" วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ค ว่า "ผมไม่ให้ความสำคัญกับเลือกตั้งภายใต้ รธน.คสช. และเห็นว่า รธน. คสช. เป็น รธน.เฮงซวย...


"ประเด็นคือ ผมมองว่า การประชุมเมื่อวานมันไร้สาระ คือ ไม่มีวี่แววว่า คสช. จะเอาข้อเสนออะไรก็ตาม ที่ต่างออกไปจากแผนคุมอำนาจนักการเมืองตาม รธน.นั้น ไปปฏิบัติอยู่แล้ว


“ดังนั้น การเสนอเรื่องเลื่อนเลือกตั้งออกไปก่อน 2-3 ปี เพื่อทำให้ รธน.ดีขึ้นก่อนอะไรแบบนั้น ก็ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ และเหมือนกับไปยอมรับกลายๆ ด้วยว่า กระบวนการมาร่าง รธน.แบบนี้ เป็นเรื่องปกติ”


ดังนั้น “สมศักดิ์” อยากเห็น จตุพรและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย แถลงไม่ยอมรับ รธน. หรือกระบวนการที่ทำอยู่นี้มากกว่า


ความเห็นของสมศักดิ์ข้างต้นนี้ ก็ได้รับการโต้แย้งจาก จตุพร พรหมพันธุ์ ทันที และประธาน นปช.มองว่า ข้อเสนอของสมศักดิ์ ดูจะเป็นอาการ “ไร้เดียงสาของฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อสถาปนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต