การตลาด“รวยข้ามคืน”กลเกมเครื่องดื่ม 2 แสนล.

การตลาด“รวยข้ามคืน”กลเกมเครื่องดื่ม 2 แสนล.

เกมการตลาดร้อนฉ่า เมื่อค่ายเครื่องดื่มต่างสาดโปรโมชั่นใส่กันโครมใหญ่จนผู้ผลิต-ผู้บริโภคต้องกลับมาฉุกคิดถามหา“คุณค่า”ในตัวสินค้ามากกว่ายอดขาย

ร้อนไหนไม่เท่าร้อนนี้ ที่อุณหภูมิของประเทศไทย ทำท่าจะหลอมละลายทุกสรรพสิ่ง

ทว่า..ยิ่งร้อนแรงแค่ไหน ผู้ประกอบการตลาดเครื่องดื่ม ก็ยิ่งยิ้มไม่หุบสวนทางอุณหภูมิ

“ยิ่งร้อน-ยิ่งต้องดับกระหาย..!!”

สมรภูมิเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ (Soft Drink) มูลค่าตลาดรวมมากถึง “2 แสนล้านบาท” จึงคึกคักอย่างยิ่ง เมื่อค่ายเล็กค่ายใหญ่ ต่างตบเท้าอัด “โปรโมชั่น” หนึ่งในส่วนประสมทางการตลาด (4Ps -Procut Price Place Promotion) กันอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อโกยยอดขาย

ฮอตสุดต้องยกให้ “อิชิตัน” ของเสี่ยตัน ภาสกรนที ที่งัดแคมเปญเด็ด “อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง ภาค 4” ชิงโชคส่งรหัสใต้ฝา แจกเบนซ์ SLK 3 คัน (3.6ล้านบาท/คัน) และเบนซ์ CLA อีก 47 คัน (2.39 ล้าน/คัน) งานนี้ “เจ้าพ่อการตลาด” สามารถเรียกเรตติ้ง จากผู้บริโภคได้ถล่มทลาย

อีกค่ายคู่แข่งอย่าง “โออิชิ” ที่มีส่วนแบ่งการตลาดหายใจรดต้นคอผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ไม่น้อยหน้าส่งแคมเปญ “รหัสโออิชิ ซิ่งทั่วไทย” แจกโตโยต้า ยาริส 50 คัน ,ยามาฮ่า ฟีโน่ หัวฉีด 550 คัน สู้ศึก !

จะปล่อยให้ 2 ยักษ์ “ชาเขียวพร้อมดื่ม” เปิดศึกช้างชนช้าง (มูลค่าตลาดรวมชาเขียวพร้อมดื่ม 1.5 หมื่นล้านบาท) คงไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่า “เครื่องดื่ม” จะอยู่ในแคทิกอรี่หรือหมวดหมู่ไหน ก็ต้อง “ตั้งการ์ด” ป้องส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าตลาดเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ (Replacement)

“แรงเหวี่ยง” ที่เกิดขึ้นจากโปรโมชั่นแรงของชาเขียว จึงอาจทำให้เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ โดนหางเลข !!

ที่ผ่านมา เราจึงเห็นอีกตลาดสำคัญ อย่าง “เครื่องดื่มชูกำลัง” มูลค่าตลาดรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ตบเท้า “แจกแหลก” ไม่แพ้กัน

ไม่ว่าจะเป็น “คาราบาวกรุ๊ป” ที่ควงสินค้าในเครือ “คาราบาวแเดง” และ “สตาร์ทพลัส” มาจัดแคมเปญ “รวยเงินล้านกับบาวแดง” แจกทองคำร่วม 663 รางวัล รวมมูลค่า 15 ล้านบาท ยาวถึง 5 ก.ย. 58, เมื่อเบอร์ 2 ออกรบ เบอร์ 1 อย่างค่ายโอสถสภา อยู่เฉยไม่ได้ส่งแคมเปญ "LIPO BIG EASY BUNUS" แจกเบนซ์ CLA 250 AMG 3 คัน (2.6ล้าน/คัน) ไอโฟน6 16 GB 300 เครื่อง และทองคำ 5,000 บาท 900 รางวัล ยาวถึง 31 ก.ค.58 ขณะที่เบอร์ 3 อย่าง “กระทิงแดง” เลยส่งแคมเปญ "กระทิงแดง Ready ศุกร์แสนสุข ลุ้นแสนทุกวันศุกร์" แจกทอง 30 รางวัลรวม มูลค่า 3 ล้านบาท ถึง 31 พ.ค. 58

ขณะที่หมวดเครื่องดื่มอื่น อดรนทนไม่ได้โดนมาเล่นด้วย ไม่มีใครยอมปล่อย “โอกาส” กระตุ้นยอดขายในฤดูร้อนสุดๆให้หลุดลอย

อย่างตลาดน้ำดื่ม มูลค่าตลาดรวม 3 หมื่นล้านบาท มีเบอร์ 2 อย่าง "คริสตัล" แห่งค่ายเสริมสุข ขนแคมเปญ "ดื่มคริสตัลวันนี้ลุ้น HONDA HRV และจี้คริสตัลทองคำ" รวม 107 รางวัล รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ถึง 30 มิ.ย.58

เครื่องดื่มเกลือแร่ มูลค่าตลาดรวม 4.5 พันล้านบาท โดดลงมาเล่น เมื่อ “เอ็ม สปอร์ต” จากค่ายโอสถสภา ปล่อยแคมเปญ “เอ็ม สปอร์ต 7 ปี แจกโชคทองทั่วไทยปี” รวมมูลค่า 1.1 ล้านบาท ถึง 31 พ.ค. 58

ขณะที่ตลาดกาแฟทรีอินวัน มูลค่าตลาดรวม 6,000 ล้านบาท แบรนด์ “ซูเปอร์” ขอแจมแคมเปญ “ซูเปอร์กาแฟ คืนความสุขให้คนไทย แจกโชคใหญ่กว่า 18 ล้าน” ขนทั้งเบนซ์ CLA รุ่น 180 จำนวน 3 คัน ทองคำ 40 รางวัล และไอโฟน 6 จำนวน 274 รางวัล มาแจกยาวถึงสิ้นปีนี้

พี่เบิ้มปล่อยหมัดหนัก ตลาดเอเชี่ยนดริ๊งค์ มูลค่าตลาดรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ก็ขอบ้าง เมื่อ “เก๊กหล่อ” แบรนด์น้องใหม่จากค่าย “รีสเพค วัน เบฟเวอเรจ” ของ “สรกฤติ ลัทธิธรรม” อดีตลูกหม้อไทยเบฟ โดนมาอัดแคมเปญส่ง “เก๊กหล่อ เก๊กหล่อ เก๊กสวย เก๊กรวยทุกวัน แจกแสนทุกวัน แจกล้านทุกเดือน” แจกทองคำ 3,908 รางวัล มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ถึง 29 มิย.

ไม่นับเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ที่เพิ่งสิ้นสุดโปรโมชั่นทิ้งท้ายหน้าร้อน รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อีกมากมายหลากแบรนด์ ที่ใช้เครื่องมือการตลาดหลากรูปแบบมาหาทางกระตุ้นยอดขาย ในภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ "ฝืด!"

เพราะร้อนนี้ถือโอกาสสุดท้ายของปี ในการกระตุ้นยอดแบบก้าวกระโดด !!

“การแข่งขันไม่ได้เปลี่ยนไป ยังดุเดือดเลือดพล่านเหมือนในอดีต ชนิดที่ฟาดฟันกันเมื่อใด ย่อมมีคนล้มหายตายไปจากสมรภูมิรบ” ผศ.พิเศษ ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ นักการตลาดชื่อดังแห่ง สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) บอกไว้อย่างนั้น
ยิ่งการจัดโปรโมชั่น เป็นสิ่งที่นักการตลาดทำกันมาแต่ไหนแต่ไร

ทว่า สัดส่วนการทุ่มงบทำโปรโมชั่นในช่วงร้อนหนี้ ถือว่า “หนักหน่วง” เพราะในแง่ “กลยุทธ์ตลาด” นับว่าเปลี่ยนไปจากเดิม

“เดิมทีงบก้อนโต ถูกประโคมใช้ผ่านสื่อหลัก แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เสพสื่อหลายช่องทาง งบเลยถูกถ่ายโอนมายัง โปรโมชั่นลด แลก แจก แถม แบบเต็มๆ”

ประกอบกับ “ไฮซีซั่น” ของตลาดเครื่องดื่ม มาพร้อมกับอากาศร้อน สินค้าดับกระหายขายดี เลยทำให้นักการตลาดทุ่มงบส่งเสริมการขายคึกคัก

ลงน้ำหนักไปที่โปรโมชั่นในสัดส่วนที่มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น ตามดีกรีความร้อน

เพราะมีแบรนด์สินค้าจำนวนมากในตลาด "โปรโมชั่น" จึงมีผลต่อ “การตัดสินใจของผู้บริโภค" หากแบรนด์ใดไม่งัดกิจกรรมมาเล่น ก็อาจสูญเสีย “ส่วนแบ่งตลาด” ให้คู่แข่ง

"หากแบรนด์ A B C รายละเอียดของสินค้าไม่ต่างกันเท่าไหร่ มาวางในชั้นวางใกล้กิน อีกรายมีโปรโมชั่น อีกรายไม่มี ถามว่า ผู้บริโภคจะเลือกซื้ออะไร" เธอตั้งคำถามให้คิด

ขณะที่บริบทของสังคม กำลังมองเรื่องโปรโมชั่น “ชิงโชค” ลุ้นระทึกรายวันว่าไม่ต่างจาก “คอหวย” ที่ตั้งตาคอยผลออกสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน แน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านั้นดูจะเป็นการ “ปลูกฝัง” ให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม “ลุ้น เสี่ยงโชค คาดหวัง รวยเร็ว รวยลัด”

ส่วนจะส่งผลกระทบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า “จุดยืน” ของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน “ดร.กฤตินี” เผย
หากมองการซื้อหวยผิดหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ โอกาสที่จะได้มีเงิน หากพินิจถึงแรงงาน กรรมกร ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย การเก็บเงินหลักล้านบาท มีมากน้อยแค่ไหน

โปรโมชั่นลุ้นรวยต่างๆ จึงเป็นหนทางหนึ่งของของภาวะ “รวยทางลัด” ของพวกเขาเหล่านั้น
กระนั้น ในฐานะนักวิชาการ มองผลกระทบเชิงสังคมจากกรณีนี้ ย่อมน่าห่วง หากบางค่ายบางแบรนด์ “โหน” กระแสมากเกินไป

“เพราะอะไรที่เกินพอดี ไม่ดีทั้งนั้น” เธอบอก พร้อมหยิบยกตัวอย่าง เครื่องดื่มชูกำลัง หากซื้อเพื่อเติมเติมความต้องการของร่างกายก็เข้าใจได้ แต่หากซื้อเพื่อเสี่ยงโชค ก็อาจเกินความต้องการ
หลายคนอาจกำลังมองว่าเวลานี้ กิจกรรมที่นักการตลาดที่ทำนั้น “มอมเมา” ผู้บริโภคกับค่านิยม “เสี่ยงโชค”มากเกินไป จนอาจกลายเป็น “เหยื่อการตลาด” หรือไม่

ประเด็นนี้ “ดร.กฤตินี้” ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคอาจรู้ทันหรือไม่รู้ทันกลยุทธ์การตลาดของนักการตลาด ด้วยระดับความรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นที่ทำได้คือต้องพยายามทำให้ผู้บริโภค “รู้เท่าทัน” ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง

ไม่ว่าผู้บริโภคคนนั้นจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สำรวจเงินในกระเป๋า มีจำนวนนี้ จะใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง สินค้าเครื่องดื่มอะไรที่ “จำเป็น” ต่อการบริโภค อะไรที่ไม่จำเป็น

ขณะเดียวกัน ต้องติดตามสิ่งที่นักการตลาดใช้เดินกลยุทธ์ต่างๆด้วย ว่าเขาทำอะไร เพื่ออะไร เพราะนั่นจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเองเท่านั้น แต่เอื้อประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย

ฟากผู้ประกอบการ ก็ควรกลับมาตั้งต้นที่ “ผู้บริโภค” ทำความเข้าใจลูกค้าของแบรนด์มากขึ้นว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เป้าหมายรอง เพื่อประเมินว่า “กลุ่มหลัก” นั้นมีความต้องการที่แท้จริงอย่างไร แล้วย้อนมาตอบโจทย์ตัวเองมากกว่านี้ และจำกัดการทำตลาด ที่จะไม่เป็นการทำร้ายผู้บริโภค

“หากไม่จำกัดตัวเอง มุ่งจะขายสินค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้ยอดขายพุ่งกระฉุด ก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อสังคมตามมา”

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า ปัจจุบันมีหลายองค์กร เริ่มจำกัดการทำการตลาด โดยมีกระแสการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เยาวชนฯ เพื่อมาสร้างสมดุล

อีกสิ่งที่พลิกหน้าประวัติศาตร์การตลาด คือ บรรดานักการตลาดเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณค่า” หรือ Value มากขึ้น สินค้าบางประเภท เช่น เครื่องสำอาง ในอดีตอาจพูดถึงผลิตภัณฑ์ว่าทำให้สวย ดูดีขึ้น แต่ตอนนี้ขยับสู่เรื่องราวเกี่ยวกับ “อารมณ์” หรือ Emotional สวยให้ผู้คนชื่นชม ก่อนจะก้าวสู่การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ดูแลตัวเองให้ดี คิดบวก เป็นต้น

ดังนั้น ไม่ว่านักการตลาดจะโหมกลยุทธ์การตลาดหนักแค่ไหน สิ่งที่ต้องคำนึงคือ การกลับมาตอบโจทย์ “คุณค่าของแบรนด์สินค้า” ให้ได้ด้วยว่า..

คุณค่าที่ผู้บริโภคได้รับนั้นควรอยู่ตรงไหน อย่ามุ่งแค่ยอดขาย แล้วผลักภาระบางประการให้กับผู้บริโภค เช่น คุณสมบัติของเครื่องดื่มประเภทหนึ่ง ที่มีการทำแคมเปญว่าดื่มแล้วสนุก สดชื่น แต่การตัดสินใจที่เหลือเป็นของผู้บริโภค เช่น เด็ก เยาวชน นี่คือการผลักภาระให้เขา เพราะผู้บริโภคเหล่านี้อาจไม่ทราบผลดี ผลเสียของการดื่มเท่าที่ควร ไม่อยากเอ่ยตัวผลิตภัณฑ์ เพราะมันกระทบอยู่เซ็กเตอร์เดียว

“ตัน” แจงเหรียญมี 2 ด้าน

เมื่อบางครั้งนักการตลาด ผู้ประกอบการ ถูกมองเป็นผู้ร้าย ที่กำลังมอมเมาผู้บริโภคด้วยโชคผ่านโปรโมชั่น ในเรื่องนี้ “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า

“เหรียญมี 2 ด้าน” พร้อมขยายความว่า โปรโมชั่นจริงๆมีทุกปี ทุกแบรนด์ต่างก็ลด แลก แจก แถม ต่างกันแค่ “ความสำเร็จ” ของแบรนด์ว่าใครจะสำเร็จมากกว่ากัน

ส่วนสินค้าเครื่องดื่ม ก็ยืนยันว่ามี “สูตร” ให้เลือกมากมาย ทั้งน้ำตาลน้อย น้ำตาลมาก หรือไม่มีน้ำตาล

แต่กิจกรรมส่งเสริมการขายที่ห้ำหั่นกันนี้ จะผิดไปจากหลักการตลาดหรือไม่ ที่บ้างมองว่า เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างซัพพลายและดีมานด์ เขาบอกว่า

“โปรโมชั่นทำกันปกติ เป็นกลยุทธ์การตลาดทั่วโลกใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปีหนึ่งมี 365 วัน จะมีโปรโมชั่นมากๆก็เพียงช่วงนี้” เขาย้ำ เพราะอย่างชาเขียวอิชิตัน อัดแคมเปญใหญ่ใช้เวลา 50 วันเท่านั้น ยังเหลืออีก 300 กว่าวัน ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบอื่น

ส่วนโปรโมชั่น จะก่อให้เกิดดีมานด์เทียมในตลาดหรือไม่ “ตัน” บอกว่า ในมุมของนักการตลาด แน่นอนว่าเป็นการ “กระตุ้นยอดขาย” นั่นเป็นสิ่งดี แต่เป้าหมายของเขา ไม่ใช่ของเรื่องยอดขายหรือกำไรเท่านั้น แต่ต้องการนำ “สินค้า” กระจายให้เข้าถึง “ร้านค้า” เพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยรับประทานได้ซื้อบริโภค นำไปสู่การ “ขยายฐานตลาด” ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น 

นั่นคือการสร้างคุณค่าต่อยอดออกไป ในความหมายของเขา

ตันยังยกตัวอย่าง การทำโปรโมชั่นสินค้าบางรายการที่มีขนาดตลาด 100 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม อาจขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้นเป็น 150 ล้านบาท ขยับสู่ 300 ล้านบาท เป็นต้น

ทว่า..ผลลัพธ์ ก็กลับไป “สู่ยอดขายและกำไร” โดยปริยาย จากการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ช่องทางจำหน่าย และขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนแคมเปญล่าสุด “อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง ภาค 4” ที่ผลตอบรับดีเกินคาด โดยสามารถป้อนสินค้าเข้าทำตลาดได้มากถึง 1.5 แสนลังต่อวัน ลำพังการผลิตสินค้าของโรงงานตนเองไม่พอ! จนต้องจ้าง 2 โรงงานที่รับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)เพิ่ม

ความสำเร็จของการทำตลาดชาเขียว ทำให้เขาเตรียมลั่นกลองรบครั้งใหม่ ในตลาดเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 1.25 หมื่นล้านบาท ภายใต้แบรนด์ “ไบเล่” ที่ทุ่มทุน 240 ล้านบาท ซื้อสิทธิ์ขาดในการทำตลาดแบรนด์เก่าแก่เกือบ 50 ปีในไทย โดยกำลังทุ่มงบ 10 ล้านบาท งัดบิ๊กอีเวนท์ในเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม การกระหน่ำกิจกรรมตลาดหนักหน่วง ยอมรับว่า “อะไรที่มากไปย่อมไม่ดี” พร้อมย้ำภาพเหรียญสองด้านว่า...

ธุรกิจเครื่องดื่มของอิชิตัน ยังสร้างประโยชน์อื่นๆมากมาย ใช่แค่รอให้ทุกคนลุ้นโชค ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานนับหมื่น ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกรที่เพาะปลูกชา ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ฉลากต่างๆ เป็นต้น

“อย่ามองแค่จุดเดียว”

-------------------------------------------

เสียงจากผู้บริโภคที่ “โชคดี”

เมื่อค่ายเครื่องดื่มดัง “อิชิตัน” ดึงรถยนต์หรูยี่ห้อ “เมอร์ซิเดส เบนซ์” ล่อใจผู้บริโภค มีหรือจะไม่เสี่ยงลุ้นชิงรางวัล “เอกรัฐ คงเซ็น” หนุ่มจากนครศรีธรรมราช อายุ 25 ปี ส่งรหัสใต้ฝาเครื่องดื่มในเครืออิชิตันไม่มาก แต่กลับได้ “โชคใหญ่” รถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ CLA ราคา 2.39 ล้านบาท
ความรู้สึกที่รู้ตัวว่าได้ลาภลอย “ตื่นเต้นและดีใจมาก” เขาเล่าว่า ส่งรหัสใต้ฝาเครื่องดื่มไป 3-4 รหัส และวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ทีมงานของตันโทร.หาเขาพร้อมข่าวดี

“ผมจะซื้อเครื่องดื่มที่ร้านสะดวกซื้อ การตัดสินใจซื้อจะพิจารณาจากราคา รสชาติ และยี่ห้อ ซึ่งผมมียี่ห้อในใจอยู่แล้ว” เขาเล่า โดยแต่ละวันจะซื้อเครื่องดื่ม 1-2 ขวดเท่านั้น ไม่ได้มุ่งมั่น หรือเอาจริงเอาจังกับกิจกรรม “ลุ้น ชิงโชค”

ค่านิยมชอบรถหรู สำหรับเขาไม่ใช่ประเด็น เพราะหลังการได้รางวัล เขาขอเลือกรับเงินสดแทน พร้อมเหตุผลว่าขับเบนซ์ที ต้องเติมน้ำมันอาทิตย์ละ 2,000-3,000 บาท ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของต่างจังหวัด ทำการเกษตร จึงนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน

แต่ผลพวงหลังการได้รางวัลใหญ่ ปฏิกิริยาของผู้คนรอบข้างเขามาขอเกาะติดวิธีการให้ได้มาซึ่งโชคดีบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามการเลือกซื้อเครื่องดื่ม ยี่ห้ออะไร รสชาติใด ส่งรหัสใต้ฝาวัน เวลาไหน

“เพราะเราเป็นตัวอย่างที่ได้รางวัล” เขาบอก

ขณะที่ตัวเขา หลังได้รางวัล พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มจากนี้ ยังยืนหยัดเลือกแบรนด์เดิม เพียงแต่หลังจากลับไปใช้ชีวิตที่บ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็บริโภคลดลง เลือกที่จะดื่มน้ำเปล่าแทน 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริโภค ถามว่าเขารู้เกม และเป้าหมายของนักการตลาดหรือไม่ เอกรัฐตอบว่า ผู้บริโภคจำนวนมากที่อาจไม่รู้ แม้กระทั่งเขาเอง ก็ทราบเพียงว่า นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ “กระตุ้นยอดขาย” ให้เติบโต

ส่วนผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่เลือกซื้อสินค้า ก็ไม่ได้นั่งรับรู้ด้วยว่าเครื่องดื่มที่พวกเขาดื่มนั้น จะมีส่วนประกอบน้ำตาลมากน้อย มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างไร เขาให้มุมมองส่วนตัว

------------------------------------------------

“แจกรถ” ปั๊มตลาดยานยนต์ “ไม่ขึ้น”

อานิสงส์ของตลาดเครื่องดื่มมอบโชคกันล็อตใหญ่ โดยเฉพาะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ “คึกคัก” ได้ แต่ไม่สามารถกระตุ้นตลาดในประเทศ หรือระบายสต๊อกรถยนต์ได้มากกนัก เพราะหากเทียบจำนวนรถที่นำมาแจกจำนวนหลักร้อยคัน กับการขายในประเทศทั้งปีกว่า 9 แสนกัน เป็นสัดส่วนที่ “น้อยมาก”

นี่คือมุมมองของ “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เขาบอกด้วยว่า การที่ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ ตบเท้าเลือกยานยนต์เป็นรางวัล เพราะมองว่าสามารถ “จูงใจ” ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ เท่านั้น

“อยู่ที่สินค้ามากกว่าที่ต้องการแจกรถยนต์ด้วยการชิงโชค เพราะผู้บริโภคที่ดื่มสินค้าเครื่องดื่ม แล้วหากได้เบนซ์ ก็เป็นความฝัน เป็นสิ่งที่อยากได้ แน่นอนว่ากิจกรรมส่งเสริมการขายดังกล่าว ทำให้ตลาดรถยนต์คึกคัก แต่คงไม่ช่วยอุตสาหกรรมให้ฟื้น”

การที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะเชิดหัวขึ้นได้ ปัจจัยสนุบสนุนคือ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ รัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

“ไม่ใช่งบรายจ่ายประจำนะ” เขาย้ำ

ส่วนสถานการณ์ยานยนต์ขณะนี้ ยังคงเป้าการผลิตที่ 2.15 ล้านคัน เป็นยอดขายในประเทศ 9.5 แสนคัน และส่งออก 1.2 ล้านคัน แต่กลางปีนี้ แต่ละบริษัทจะต้องส่งตัวเลขคาดการณ์มาใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเผชิญปัจจัยจับจากภาวะ “เศรษฐกิจทรุด” ซึ่งจะดำรงอยู่ถึงครึ่งปี โดยคาดหวังว่าหากรัฐเร่งการลงทุนได้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะดีขึ้น หนุนยานยนต์ยังมี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจยานยนต์ขณะนี้ คือ สถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งกว่า 40% จากปกติไม่เกิน 10%

ซ้ำร้ายต้องวางเงินดาวน์รถยนต์เพิ่มเป็น 20-25% จากขั้นต่ำ 10% ถึงจะถอดรถป้ายแดงได้