'พุทธะอิสระ'จี้กมธ.ร่างรธน. แก้ม.157

'พุทธะอิสระ'จี้กมธ.ร่างรธน. แก้ม.157

“พระพุทธะอิสระ” จี้กมธ.ร่างรธน. แก้ม.157 หวั่นถูกนักการเมืองใช้เพื่อลดพระราชอำนาจกษัตริย์ ขู่ไม่อธิบายความให้เข้าใจ ปชช.อาจเคลื่อนไหวอีก

พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ พระพุทธะอิสระ ประธานคณะสงฆ์วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ทบทวนและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในมาตรา 157 ว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในกรณียับยั้งร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภา ว่าในรายละเอียดซึ่งกำหนดให้นายกฯ นำพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมาย หากรัฐสภามีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ 2 ใน 3 ของที่ประชุม แม้พระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือพระราชทานคืนมาภายในกรอบเวลาที่กำหนดว่า บทบัญญัติดังกล่าวควรแก้ไข ว่า ร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือพระราชทานคืนมาภายในกรอบเวลาที่กำหนด ให้เป็นอันตกไป เพราะกังวลว่าในอนาคตหากมีนักการเมืองต้องการเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะใช้ช่องทางตามร่างมาตรา 157 ดำเนินการ  

ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ ชี้แจง ว่ามาตราดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นช่องทางเพื่อลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ เพราะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ฐานะประมุขของประเทศไทยตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่หากจะมีการแก้ไขพระราชอำนาจทำได้ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สปช.พิจารณามีมาตราที่กำหนดไว้ว่าการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวจะทำได้ยากกว่าปกติ คือ ให้สภาฯ พิจารณาและใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และต้องให้ประชาชนลงประชามติ ดังนั้นตนยืนยันว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งนี้บทบัญญัติมาตราดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2492 แล้ว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพระพุทธะอิสระ แสดงความเห็นยืนยันว่าในประเด็นที่เข้าใจคือสามารถทำได้ โดยอาตมาถือเป็นตัวแทนของความไม่เข้าใจของประชาชน ดังนั้นขอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา อธิบาย ชี้แจงให้ตนและประชาชนเข้าใจในรายละเอียดด้วย อย่างไรก็ตามอาตมาเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังมีข้อบกพร่อง ดังนั้นจึงเสนอแนะเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป มีการบูรณาการของเก่าให้มีความทันสมัย เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก ทั้งนี้หากไม่มีคำอธิบายที่ดีอาตมาไม่แน่ใจว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ รับปากว่าจะอธิบายรายละเอียด และกระบวนการตามที่พระพุทธอิสระกังวลให้สาธารณะเกิดความเข้าใจ