เมืองโบราณ “อู่ทอง” บนเส้นทางชุมชนเข้มแข็ง

เมืองโบราณ “อู่ทอง” บนเส้นทางชุมชนเข้มแข็ง

ใครจะเชื่อว่า “อู่ทอง” อำเภอหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีจะมีทรัพยากรการท่องเที่ยวมากมายหลายด้าน

อาทิเป็นแหล่งโบราณสถานในยุคทวารวดี พบร่องรอยประวัติศาสตร์การค้าและพุทธศาสนาเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงการเกษตรและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย


ด้วยศักยภาพที่มากมายขนาดนี้หากไม่มีการจัดระบบบริหารจัดการที่ดี โอกาสที่สิ่งเหล่านี้จะสาบสูญไปตามกาลเวลาหรือถูกกลืนลงไปอยู่ในมือของนายทุนย่อมจะสูงเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวหลายๆที่ และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง


ศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และรักษาการผู้จัดการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองว่า พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองคือพื้นที่ซึ่งมีอัตลักษณ์ในตนเอง จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ค้นพบได้ระบุไว้ว่าที่นี่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,000 ปี จะเรียกว่าเป็นเมืองที่รอคอยการฟื้นคืนก็ว่าได้


“หน้าที่ของสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.7) คือพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองโบราณคดีอู่ทองออกเป็น 6 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาม การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว สี่ การพัฒนาบริการเพื่อการท่องเที่ยว ห้า การประชาสัมพันธ์ และ หก การบริหารจัดการ"


โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 10 ปี ทางอพท.ได้ให้ทางคณะการจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า)ขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ในมิติสังคม โดยเริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวให้ความรู้ชุมชน และสร้างภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน การจะฟื้นอดีตดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ แต่ภาคประชาชนต้องมองเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในการพัฒนาทุกมิติทั้ง 3 มิติคือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม


สำหรับมิติเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากแม้ทุกชุมชนทุกครัวเรือนจะมีงานหลักของตนเองอยู่แล้ว แต่การพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะทำให้มีเม็ดเงินจากภายนอกเข้ามาในชุมชนมากขึ้นทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่นในปี 2557 ที่ผ่านมา รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นถึง 100% จากการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจต่อเนื่อง


"มิติสุดท้ายคือ สิ่งแวดล้อม ตรงนี้เรามุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน เพราะมีรายได้แต่ถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ย่อมไม่มีทางยั่งยืน นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับ LOW CARBON TOURISM โครงการในปีที่ผ่านมาคือ ทำเรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมพื้นฐาน ทำให้ชุมชนเข้าใจถึงการคัดแยกขยะว่า ขยะอะไรเป็นพิษ ขยะอะไรที่รีไซเคิล และขยะอะไรที่สามารนำไปทำปุ๋ย"


ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทางคณะการจัดการท่องเที่ยว ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและให้ความรู้กับชุมชนเพื่อสนับสนุนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน


“ขณะนี้ทางเราได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบ 5 หมู่บ้านจาก 25 ชุมชนในพื้นที่เขตเมืองโบราณอู่ทอง ที่ถือว่าเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรที่น่าสนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ บ้านโคก ซึ่งเป็นชุมชนวัฒนธรรมข้าว, เนินพลับพลา พื้นที่นี้มีแหล่งโบราณคดี ซากปรักหักพัง, บ้านดงเย็น ซึ่งโดดเด่นด้านการเกษตร ชุมชนวัดอู่ทองเป็นวิถีชีวิตคนเมือง ชุมชนเขาพระเน้นในเรื่องธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยโดยเฉพาะพุหางนาค ซึ่งเป็นภูเขาหินขนาดใหญ่”


การวางชุมชนต้นแบบทั้ง 5 หมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วน 20 ชุมชนที่เหลือจะมีหน้าที่ในการซัพพอร์ตการท่องเที่ยวเช่น การผลิตสินค้าของที่ระลึก อาหาร วัตถุดิบต่างๆ “นอกจากนี้ทางอพท.กับเรายังพยายามร่วมกันจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดี อู่ทอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและเน้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น”


ประยูร อสัมภินพงศ์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดี อู่ทอง ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน แสดงความเห็นว่า ชมรมคือหนึ่งในกลไกของการพัฒนาในโครงการดังกล่าวเนื่องจากชมรมคือตัวแทนของประชาชนใน 25 ชุมชน นั่นหมายความว่าหากชุมชนต่างๆต้องการสิ่งใดหรือให้อพท.ช่วยเหลือในด้านไหนก็ต้องเสนอมาที่ชมรมเพื่อให้ชมรมเสนอไปยังหน่วยงานอพท.


“ผ่านไป 1 ปีกับโครงการดังกล่าวยอมรับว่าเห็นผลแล้วในระดับหนึ่ง คือระดับของความร่วมมือกันในชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ผมไม่ได้หมายถึงแค่ 5 หมู่บ้านแต่รวมไปถึงชุมชนที่ได้รับประโยชน์เมื่อมีการท่องเที่ยวเช่นการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีเม็ดเงินเข้าในชุมชนมากขึ้น


ในฐานะประธานชมรมฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชน พวกเราคาดหวังว่าใน 5 ปี ชุมชนของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเมืองที่มีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้วิถีชีวิตของเรา ซึ่งใน 5 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ หนึ่ง ทุกคนในชุมชนมีอัธยาศัยที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว มีความรักและผูกพันต่อชุมชน สอง จะต้องมีเม็ดเงินจากภายนอกเข้ามามากขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนสามารถลงทุนพัฒนาสิ่งต่างๆ ในชุมชน สาม รายได้ของคนในชุมชนจะต้องสูงมากขึ้นเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุดท้ายการท่องเที่ยวจะนำพา 25 ชุมชนไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้” ประยูร กล่าวปิดท้าย


ทั้งหมดคือการเติบโตอย่างเป็นระบบของเมืองโบราณอู่ทอง ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเราเชื่อว่าหากทุกฝ่ายยังคงร่วมมือกันเช่นนี้ การพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็ใกล้แค่เอื้อม