ล่ารายชื่อค้านสปช.ให้ผู้พิพากษาทำงานแค่ศาลชั้นต้น

ล่ารายชื่อค้านสปช.ให้ผู้พิพากษาทำงานแค่ศาลชั้นต้น

ผู้พิพากษานับร้อยเตรียมทำหนังสือคัดค้าน สปช.ให้ผู้พิพากษาอาวุโสทำงานได้แค่ศาลชั้นต้น เริ่มล่ารายชื่อตั้งแต่วันนี้

ผู้้สื่อข่าวรายงานว่า  ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จะเริ่มล่ารายชื่อเพื่อทำหนังสือคัดค้านกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลในคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษาการปฏิรูปศาลยุติธรรม และกำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโสควรมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปหรือ 65 ปี ขึ้นไป และที่สำคัญ ให้อยู่ที่ศาลชั้นต้นเท่านั้น  ทำให้ผู้พิพากษาทั้งหลายไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว  และจะร่วมกันลงชื่อ ทำหนังสือคัดค้านไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

ทั้งนี้หนังสือที่จะร่วมกันลงชื่อคัดค้าน ได้มีการจัดพิมพ์ไว้เรียบร้อยแล้ว มีใจความว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอาวุโสทั้ง 3 ชั้นศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญปี 2550  นั้น ปัจจุบันดำเนินมาด้วยดี สามารถช่วยเหลืองานคดีที่ค้างอยู่ในศาลสูงได้เป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีปัญหาหรือเป็นอุปสรรคในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีรายงานศึกษาวิจัยฉบับใดโต้แย้งว่าโครงสร้างตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

"การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาสำนวนและเขียนคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน 10 ถึง 20 ปี  และเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งห่างเหินจากการทำหน้าที่นั่งสืบพยานให้กลับไปนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงเป็นการใช้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความรู้ความชำนาญ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีในศาล การกำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นเท่านั้น เป็นการฝืนต่อความรู้สึกและประสงค์ของผู้พิพากษาอาวุโสส่วนใหญ่ ที่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสำนวนและเขียนคำพิพากษาตามความชำนาญและความถนัดของตนซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานานในขณะอยู่ในศาลสูงอันเป็นหน้าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุต้องกลับออกรับราชการนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นในท้องที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาปัจจุบันย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและผู้พิพากษาอาวุโส"

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์  ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวว่า  ผู้พากษาอาวุโส เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในทางคดีเพราะทำคดีมาเป็นเวลายาวนานจนอายุถึงตามที่กฎหมายกำหนดก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาอาวุโส  ซึ่งผู้พิพากษาอาวุโสเป็นคนที่เก่ง มีความรู้ความสามารถมากมาย บางคนเคยเป็นประธานศาลฎีกา ,รองประธานศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีในศาลฎีกา , หัวหน้าคณะในศาลฎีกา มาแล้ว จึงสามารถใช้สิ่งที่สะสมมาทำหน้าที่เป็นพี่ีเลี้ยงให้กับผู้พิพากษา่ในชั้นศาลต่างๆในการพิจารณาพิพากษาคดีได้เป็นอย่างดี  

"แต่มาคราวนี้ จะกำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโส ทำคดีได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เราจึงไม่เห็นด้วยซึ่งผู้พิพากษาจะร่วมกันลงลายมือชื่อทำหนังสือคัดค้านเรื่องนี้  โดยคาดว่าจะได้รายชื่อนับร้อยชื่อ และจะเริ่มเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป"ศรีอัมพร กล่าว