กพร.จี้'แรงงานไทย'พัฒนาฝีมือ

กพร.จี้'แรงงานไทย'พัฒนาฝีมือ

กพร.จี้"แรงงานไทย"พัฒนาฝีมือ พร้อมยกระดับมาตรฐานสากล

จากปัญหาแรงงานที่ในปัจจุบันกำลังขาดแคลน ประกอบกับแรงงานที่มีอยู่ก็มีศักยภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการในประเทศ จึงเป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องเร่งเดินหน้าแก้ไข ตลอดจนแรงงาน ต้องมีการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะฝีมือที่ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความพร้อมเข้าสู่ "เออีซี" ซึ่งอาจทำให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวปัญหาดังกล่าวว่า ตอนนี้ศักยภาพหรือฝีมือของแรงงานไทย เป็นโจทย์ที่ต้องมาดูในเรื่องของการพัฒนา แต่แรงงานไทยแม้ว่าจะถูกมองว่า 60% พื้นฐานการศึกษาน้อย แต่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้เก่ง เพราะแรงงานไทย เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งงานหลายๆ ประเภท แรงงานเหล่านี้ คือ ตัวหลัก จึงไม่ได้จำเป็นว่า แรงงานจะต้องมีระดับการศึกษาอย่างเดียว แต่ถ้าจะมีเรื่องของการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็ต้องมีระบบพัฒนาเข้าไปเสริม ขณะนี้อาจมีแรงงานบางส่วนที่ยังไม่ปรับตัว ซึ่งตอนนี้แรงงานไทยต้องปรับตัวให้มีทักษะหลายๆ ด้าน เพราะเราจำเป็นต้องขยับให้แรงงานไทยเป็นแรงงานฝีมืออีกประเภทหนึ่ง ส่วนแรงงานนำเข้า ก็ไม่จำเป็นต้องให้นำเข้าแรงงานฝีมือก็ได้
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวถึงกรณีการขาดแคลนแรงงานว่า เราต้องยอมรับว่า เราต้องใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เพราะแรงงานไทยไม่อยากทำงานประเภทนี้ ส่วนอุตสากรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง แรงงานไทยก็จะทำ แต่ถ้าสินค้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มแต่ราคาไม่แพง ก็อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

"อะไรที่มองว่า เป็นการใช้ฝีมือสูงหรือสินค้าพรีเมี่ยม หรือสินค้าราคาแพง คุณภาพสูง ฐานการผลิตจะอยู่ที่บ้านเรา ซึ่งต้องยอมรับเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่หากต้องการต้นทุนต่ำ ก็มีฐานการผลิตที่บ้านเรา และก็ค่อยไปประเทศอื่นที่มีค่าจ้างถูกลง เช่นเดียวกันกับเรา ที่ได้ขยับเป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าคุณภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนราคาแพงอยู่บ้านเรา ชิ้นส่วนที่มีราคาถูก ก็จะถูกกระจายไปผลิตที่ประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า"

อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่า ที่จริงแล้ว แรงงานในส่วนที่ยังขาดอยู่ คือ ฝ่ายที่ปฏิบัติการ ที่มีระดับต่ำกว่าอาชีวะหรือระดับอาชีวศึกษา เพราะเราเป็นประเทศที่กึ่งเอาเทคโนโลยี จึงต้องมีความรู้และทักษะที่ต้องได้มาตรฐานระดับหนึ่ง ส่งผลให้แรงงานที่มีความต้องการมาก คือ ระดับอาชีวศึกษา โดยขณะนี้ด้วยนโบายของรัฐบาล เรามีความร่วมมือกัน ระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจบริการ ส่งเด็กเข้าไปฝึก เรียกว่า ระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา เข้าไปฝึกในสถานประกอบการให้ระยะเวลายาวขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในโรงแรม หรืออุตสาหกรรม การผลิตทุกประเภท อาจจะเข้าไปอยู่ครึ่งปีหรือ 1 ปี

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เราผลักดันให้สถานประกอบกิจการพัฒนาฝีมือของแรงงานตามความต้องการของกิจการหรือธุรกิจ โดยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการฝึกอบรมลูกจ้างของตนเอง ค่าใช้จ่ายจากการฝึกการอบรม สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและสถานประกอบกิจการ จัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการลดหย่อนภาษี

"ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหลักๆ ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ เครื่องนุ่งห่ม การนำเด็กเข้าไปฝึกในสถานประกอบการ ก็จะทำให้เจอเทคโนโลยีจริง และสามารถทำงานได้ตามที่สถานประกอบการต้องการได้"

ม.ล.ปุณฑริก ยังกล่าวถึงกรณีการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจทำให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ว่า ก็อาจจะจริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง การที่เราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ไม่หมายความว่า แรงงานจะเข้าทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรีเลย อย่างใน 7 สาขาอาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ เป็นต้น ก็ต้องมีการผ่านกฎเกณฑ์ การคัดกรอง เพื่อที่จะมีใบอนุญาตประกอบอาชีพก่อนที่จะขอใบอนุญาตการทำงานได้ ไม่ใช่อยู่ๆ ดี จะเข้ามาทำงานมากมายสามารถเข้ามาทำงานได้
ส่วนหากเปรียบเทียบความสามารถของแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าว เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ เก่งเรื่องภาษา เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน แรงงานไทยจะสู้ได้หรือไม่นั้น ทุกวันนี้เรามีการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับอาเซียนและนานาชาติ เป็นการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานแต่ละประเทศ ตั้งแต่งานที่เป็นพื้นฐาน จนถึงงานที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น การเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างเชื่อม ช่างยนต์ที่เป็นการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งนี้ทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน เราก็วางกรอบกันไว้ว่า เราจะทำอย่างไรที่จะยกระดับให้มีทักษะฝีมือเทียบเท่าระดับโลก หรือเทียบเคียงกับคนในระดับสากล

“เรามีการจัดการแข่งขันวัดระดับฝีมือแรงงานในระดับเยาวชน ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก ในระดับอาเซียน เราจัดทุกๆ 2 ปี โดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัด ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับแถวหน้า แต่ถ้าวัดกันในระดับโลก โดยประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกองค์กร World Skin หรือสกินโอลิมปิก คือ โอลิมปิกด้านฝีมือและทักษะ เราได้เอาข้อสอบระดับโลกหรือมาตรฐานที่แข่งกันในระดับโลก นำมาจัดแข่งในระดับอาเซียนและจัดแข่งในระดับประเทศ เพื่อเตรียมคน เป็นข้อตกลงกันในอาเซียนที่เข้มข้นมาก เพราะเรามาช่วยยกระดับคนในอาเซียนของเรา”

อย่างไรก็ตาม ส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรามีการพัฒนาฝีมือเป็นรายอุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมที่เราแข่งขันได้ ก็จะถูกนำหยิบยกขึ้นมาเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศ ที่ปัจจุบันทั้งอาเซียนก็ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด จะทำให้รู้ว่า ฝีมือของแรงงานแต่ละระดับได้ และส่งผลให้แรงงานแต่ละคนสามารถพัฒนาฝีมือเป็นไปขั้นๆ และได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมได้

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว มีหลายประเทศ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่แรงงานไทย ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ หากเปิดประชาคมอาเซียน อาจจะทำให้คนไทยไม่มีที่ยืนในภาคการท่องเที่ยวนี้หรือไม่ เรื่องนี้แรงงานไทยทุกคนก็ต้องพัฒนาตนเอง ซึ่งนิ่งนอนใจไม่ได้ แม้ด้วยความเป็นไทย ยิ้มมีเสน่ห์ แต่ต้องพูดรู้เรื่องด้วย ความจริงแล้วคนต่างชาติที่มาท่องเที่ยวก็ไม่ได้ต้องคนที่พูดได้สมบูรณ์แบบ แต่ขอให้สื่อสารได้ก็พอ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำให้แรงงานสื่อสารให้ได้

อธิบดี กพร. กล่าวถึงที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า หลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานนั้น ก็อาจจะเรื่องจริงครึ่ง ไม่จริงครึ่งก็ได้ แต่ขณะนี้พบว่าประเทศไทยมีการปรับตัวมาก เพราะมีหลายมหาวิทยาลัยก็เปิดหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในแต่ละธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรม ถ้ามีการพัฒนาคน เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ บุคคลที่จบปริญญาตรีแล้วก็ต้องเข้ามาอบรม แต่สิ่งที่สำคัญ เราก็ต้องเอาสมรรถนะหรือความรู้เหล่านี้ เข้าไปสอนในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กที่จบมามีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากขึ้น

และขณะนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีมากยิ่งขึ้น คณะ หรือสาขาวิชา มีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีหลักสูตรอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถ้าหากเป็นแรงงานใหม่ เราก็พัฒนาทักษะให้กับแรงงานมากเพียงพอที่จะทำงานได้ ซึ่งเหมือนกับการที่เราซื้อคอมพิวเตอร์มา ก่อนจะใช้ก็ต้องใส่โปรแกรมต่างๆ เข้าไปถึงจะสามารถใช้งานได้ ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกันที่เราต้องฝึกคนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยเน้นปฏิบัติ 80% และทฤษฎี 20% และก็ต้องฝึกงานในสถานการณ์จริงด้วย

ในภาวะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราก็มีหลักสูตรให้กับคนที่ทำงานอยู่แล้ว เช่น ภาษา เทคโนโลยี โลจิสติกส์ การบริหารจัดการ เข้าไปยกระดับการฝึกอบรมคนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียวที่เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่เราก็ต้องช่วยกัน พร้อมทั้งผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีประสิทธิภาพให้มีมากยิ่งขึ้น