รวบรวมไม้พะยูงสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์

รวบรวมไม้พะยูงสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์

จนท.รวบรวมไม้พะยูงเถื่อนที่ถูกจับกุมได้ คัดที่สวยที่สุดส่งสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ เขต8 จ.นครราชสีมา เพื่อรวบรวมสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของไทย

สำนักงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ นายชวน ธีรวุฒิอุดม หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดพิธีปล่อยขบวนรถพ่วงขนส่งไม้พะยูงคุณภาพดี คัดเลือกจากที่สวยที่สุด ที่ทำการตรวจจับกุมยึดมาได้จากมอดไม้ จากผู้ต้องหา คดีลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีการลักลอบตัดไม้พะยูงตามแนวชายแดนจังหวัดศรีสะเกษ แล้วนำมากองรวมกันไว้ ตามสำนักงานป่าไม้ใน 22 อำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้ทยอยคัดเลือกไม้พะยูงที่สวยที่สุด นำมากองรวมกันไว้ที่สำนักงานป่าไม้จังหวัด และสำนักงานป่าไม้เขต โดยรวบรวมได้ จำนวน 560 ท่อนเหลี่ยมซีก นำรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ มาบรรทุกเพื่อทยอยนำส่งที่ สำนักงานทรัพยากรป่าไม้ เขต 8 จังหวัดนครราชสีมา โดยไม้พะยูงของกลางทั้งหมดได้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ในการนี้เพื่อนำไปก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของไทย เพื่อการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพื่อเชื่อว่าสักวันหนึ่ง ไม้พะยูง ซึ่งเป็นไม้สูงศักดิ์จะหมดไปจากแผ่นดินไทย หากทุกฝ่ายไม่ช่วยกัน แน่นอนว่าไม้มีค่าเหล่านี้อาจจะหมดไปจากแผ่นดินไทย ในงานนี้ได้มี นายวัฒนา พุฒิชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางมาเป็นประธานปล่อยขบวนขนส่งไม้มีค่า

นายวัฒนา พุฒิชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ไม้พะยูงนับว่าเป็นไม้สูงค่าของไทย โดยเฉพาะแหล่งที่มีไม้พะยูงที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มากที่สุด สวยที่สุด เป็นไม้เนื้อดีที่สุดก็ที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะในแถบชายแดนเทือกเขาพนมดงรัก มีอุณภูมิที่เหมาะสม เป็นไม้พะยูงที่มีเนื้อแน่น หนา ต้นกลมลายไม้เนื้อในสวยงาม จากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้ไม้พะยูงที่ขึ้นเองตามธรรมชาติสวยงามที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาดมืด จึงมีการลักลอบตัดกันมาก ราคาถีบสูงขึ้นทุกวัน ขณะที่ทั้งชาวบ้าน–ราษฎรตามแนวชายแดนของจังหวัดศรีสะเกษ พยายามที่จะปกปักรักษาไว้เท่าใด ก็ยังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าไม้พะยูงของไทยแทบทุกวัน ตัดเล็กตัดน้อย สะสมมากๆ แล้วก็ติดต่อขายให้กับนายทุนส่งขายต่างชาติ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการตรวจจับยึดได้ตลอดเช่นกัน จึงเชื่อว่าสักวันหนึ่งไม้จะหมดไปจากแผ่นดินไทย จึงได้มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ไว้ โดยการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาแก่คนรุ่นหลังๆ ต่อๆ ไป จังหวัดศรีสะเกษ โดย นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ร่วมโครงการ โดยได้คัดเลือกไม้พะยูงที่สวยงาม ได้ตรวจยึดเอาไว้ แบบไร้ค่า เพียงปล่อยให้พุพังไปตามกาลเวลา หลังจบคดีส่งเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ตลอดการขนส่งจะมีการติดป้ายอย่างชัดเจน