'ปชป.-พท.'จัดเต็ม! วิพากษ์ 'ระบบโอเพ่นลิสต์'

'ปชป.-พท.'จัดเต็ม! วิพากษ์ 'ระบบโอเพ่นลิสต์'

"ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย" ประสานเสียง! วิพากษ์ 'ระบบโอเพ่นลิสต์' พรรคอ่อนแอ หรือ คืนอำนาจ ?

ประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในระบบ "บัญชีรายชื่อ" ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ใช้ “ระบบโอเพ่นลิสต์” คือนอกจากประชาชนจะลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบแล้ว จะต้องลงคะแนนเลือกบุคคลที่แต่ละพรรคเสนอมา เพื่อจัดลำดับ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้จัดลำดับ ส.ส.ในพรรคของตนเอง โดยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกแต่เพียงพรรคการเมืองเท่านั้น

"กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ให้เหตุผลในประเด็นนี้ว่า เป็นการให้สิทธิประชาชนจัดอันดับ ส.ส.ตามที่ตนเองต้องการ และเป็นการ "สกัดกลุ่มทุน" ที่จะเข้ามาในรูปแบบของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงกันมากตลอดทั้งสัปดาห์ โดยเฉพาะความเห็นจากพรรคการเมืองซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆ จากระบบนี้

โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่อย่าง "ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย" ที่ออกมาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ระบบดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะจะต้องแข่งขันกันเองภายในพรรคจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง



พท.ยก3เหตุผลค้านโอเพ่นลิสต์


เริ่มต้นที่ความเห็นจากตัวแทนทางฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตส.ส.เชียงราย ที่เห็นว่า ประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ประเด็นแรกคือ ทำให้ประชาชนยุ่งยากในการลงคะแนนเสียง เพราะจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคเสนอมีเป็นจำนวนมากซึ่งยากแก่การลงคะแนน

ประเด็นถัดมาคือ จะส่งผลให้เกิดจังหวัดนิยม ซึ่งแต่ละโซนก็มีการแบ่งเป็นหลายจังหวัด ดังนั้นหากมีการใช้ระบบนี้ก็จะส่งผลให้ ส.ส.ต้องมีการแข่งขันกันเองภายในพรรค

“ผมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ แต่เจตนารมณ์ที่ให้มี ส.ส.ในระบบดังกล่าวคือ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสม แต่ไม่ถนัดงานในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานพรรค แต่วันนี้กลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว รวมทั้งตัดความสำคัญของพรรคการเมือง”

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การให้มี ส.ส.ในระบบดังกล่าวก็คล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขต เพียงแต่มีระบบที่ใหญ่กว่าเท่านั้น ประเด็นดังกล่าวจึงถือว่าเป็นแนวคิดที่ผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมที่เคยร่างไว้ และเห็นว่า ในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนที่กรรมาธิการให้เหตุผลว่า ระบบดังกล่าวเป็นการสกัดกลุ่มทุนที่จะเข้ามาในรูปแบบของ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มองว่า เป็นการจินตนาการโดยมีอคติกับพรรคการเมือง เห็นได้จากที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ดังนั้นในประเด็นดังกล่าวถ้ามีปัญหาตามมาผู้เขียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี เห็นว่า ถ้าปล่อยให้ข้อเสนอดังกล่าวผ่านไปจะเกิดผลเสีย คือ 1.ประชาชนเกิดความสับสนในการลงคะแนน และอาจส่งผลให้มีบัตรเสียเป็นจำนวนมาก เพราะกรณีเช่นนี้ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน 2.ส่งผลให้ผู้สมัครในพรรคมีการแข่งขันกันเอง และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรค และ 3.มีปัญหาต่อการนับคะแนน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเวลานาน

อีกทั้งยังทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งเมื่อนำไปบวกกับมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ มีการแบ่งขั้วต่อรองจนพรรคไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็จะไม่มีสภาวะการเป็นผู้นำ



ปชป.เชื่อทำให้ "พรรคอ่อนแอ"


ด้านความเห็นจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค ระบุว่า ส่วนตัวเห็นว่า ในประเด็นเรื่อง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อนั้น อยากให้พรรคได้มีโอกาสในการกำหนดตัวบุคคล เหมือนเช่นเดิม ไม่ควรใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย

ทั้งนี้ เห็นว่า ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามระบบเก่านั้น พรรคการเมืองต้องเรียงลำดับความสำคัญของบุคคลอยู่แล้ว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับหนึ่งคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ดังนั้นกรรมาธิการต้องเชื่อในระบบพรรคในการคัดเลือกบุคคลโดยเรียงลำดับตามความเหมาะสม

ส่วนเหตุผลที่ว่า การเลือก ส.ส.ในระบบนี้เป็นการสกัดกลุ่มทุนที่อาจจะเข้ามาในรูปแบบของ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น หรือมีส่วนในการกำหนดตัวบุคคลนั้น ยอมรับว่า เรื่องนี้อาจจะมีบ้าง แต่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ แต่หากเป็นเช่นนั้นเห็นว่า ประชาชนก็จะไม่เลือก จึงเห็นว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือ กลับไปใช้ระบบเดิม และให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาตัดสินเอง ถ้านายทุนมีการครอบงำพรรคการเมืองประชาชนก็จะไม่เลือก

ทั้งนี้เห็นว่า หากเป็นไปตามที่กรรมาธิการยกร่างฯ มีการพิจารณา จะเกิดจุดอ่อน คือ 1.จะทำให้พรรคอ่อนแอ 2.ในการลงคะแนนอาจส่งผลให้มีบัตรเสียเป็นจำนวนมาก และ 3.เกิดความโกลาหลในการเลือกตั้ง มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กันไปมาและมีจำนวนมาก

ดังนั้นจึงอยากเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ถ้าอยากเห็นพรรคการเมืองขับเคลื่อนไปในระบบการเมือง ก็ต้องให้สิทธิพรรคการเมืองในการคัดเลือกบุคคล ส่วนพรรคใดที่อยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของนายทุน ก็เชื่อว่า ประชาชนก็จะไม่เลือก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็ง



ให้อำนาจปชช.จัดลำดับรายชื่อส.ส.


ขณะที่ความเห็นจากฝ่ายผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การออกมาแสดงความเห็นคัดค้านในประเด็นนี้ เป็นเพียงความเห็นของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งขอเรียนว่า การให้มี ส.ส.ระบบดังกล่าวจะเป็นการคืนอำนาจของประชาชน คือเมื่อพรรคการเมืองมีการจัดทำรายชื่อเรียบร้อยแล้วก็จะต้องมาถามความเห็นจากประชาชน

นอกจากนี้ยังถือเป็นการให้สิทธิประชาชนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะการเลือก ส.ส.ในระบบเขต แต่ครั้งนี้สามารถจัดลำดับได้เอง ซึ่งรายชื่อแต่ละรายชื่อที่พรรคเสนอมาจะมีผลต่อการนับคะแนนทุกคน เท่ากับว่าเป็นการให้อำนาจประชาชนในการจัดลำดับรายชื่อ ไม่ใช่อำนาจจากผู้บริหารพรรค

ประเด็นนี้ต้องมีการถามความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงตรงนี้ ดังนั้นจึงขอความกรุณาสื่อมวลชนให้ช่วยไปถามความเห็นโดยตรงจากประชาชนด้วย

สำหรับการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 20-26 เมษายน ซึ่งในส่วน สปช. โดยเฉพาะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่ออกมาแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการยกร่างฯ ในหลายประเด็นนั้น เราไม่รู้สึกกังวล เพราะเป็นที่คาดหมายไว้อยู่แล้ว ซึ่งได้เตรียมข้อมูลในการชี้แจงเพื่อให้เห็นภาพรวม

“หากมองในรายประเด็น หรือรายมาตรา ก็อาจจะเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่หากมองในภาพรวมเราก็จะเห็นความเชื่อมโยงกัน ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างฯ เองก็ไม่ได้ทะนงตัวว่า คำตอบของเราจะเป็นคำตอบสุดท้าย ซึ่งเราก็ยินดีที่จะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน”

อย่างไรก็ดี หลักการหลังจากนี้เราคงต้องรอรับฟังความเห็นจากทางสปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ในส่วนของกรรมาธิการชั้นนี้เป็นเพียงการปรับแก้ถ้อยคำ ซึ่งเราจะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ที่สุดจะทบทวนอะไรคงต้องเป็นช่วง 60 วันสุดท้ายคือ ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-3 กรกฎาคมนี้