พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาดามทุซโซ : พันโทวันชนะ สวัสดี

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาดามทุซโซ : พันโทวันชนะ สวัสดี

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาดามทุซโซ เตรียมปั้นหุ่น พันโทวันชนะ สวัสดี ผู้รับบท 'สมเด็จพระนเรศวรมหาราช' ในภาพยนตร์ 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช'

มีหลายวิธีที่จะบันทึกเรื่องราวของบุคคลหรือประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา หนึ่งในวิธีที่เก่าแก่ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดีคือการปั้น 'หุ่นขี้ผึ้ง' ศิลปะการปั้นให้ดูสมจริงราวกับมีชีวิตเปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยลายมืออันงดงาม

"มันคล้ายๆ กับบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ว่าการปั้นหุ่นหรือว่าคนสามารถที่จะเก็บรายละเอียดบุคลิกภาพของคนนั้นได้ด้วย เราสามารถที่จะเก็บบุคลิกภาพตัวตนของเขาผ่านดินหรือขี้ผึ้ง" มิเชล ลูรี่ นักปั้นหุ่นของมาดามทุซโซ ในเครือ เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส กรุ๊ป ผู้สร้างสรรค์และจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งซึ่งเปิดให้บริการมานานกว่า 250 ปี กล่าว

การมอบชีวิตให้กับหุ่นเกิดจากความประณีตและความใส่ใจในรายละเอียดนับตั้งแต่ขั้นตอนการวัดสัดส่วนของผู้เป็นแบบ

"เราจะเริ่มด้วยการมาพบบุคคลที่จะมาเป็นแบบให้เราและเก็บข้อมูลที่จะจำเป็นต่อการทำหุ่น สิ่งแรกที่เราจะคุยกันก่อนคือดูว่าเขาจะยืนแบบไหน ท่าทางอย่างไร สีหน้า และจะใส่ชุดอะไร หลังจากที่คุยแล้วก็ไปเปลี่ยนชุดตามตัวละครหรือตามหุ่นที่เราจะทำ แล้วบุคคลคนนั้นก็จะขึ้นไปยืนบนแท่นหมุนแล้วค่อยๆ หมุนไปเรื่อยๆ เพื่อถ่ายรูปทุกๆ มุมที่หันไป" มิเชล อธิบาย

ขั้นตอนนี้ มารี สโตน ช่างภาพอิสระผู้ร่วมงานกับมาดามทุซโซมานานกว่า 20 ปี เป็นผู้ทำหน้าที่บันทึกภาพ

"เริ่มจากถ่ายภาพเต็มตัวก่อนและรายละเอียดของชุด อวัยวะร่างกายต่างๆ เราถ่ายทุกรายละเอียด จากนั้นเขาต้องเปลี่ยนชุดออกเพื่อถ่ายอีกครั้งหนึ่งเพราะเราต้องดูลักษณะของร่างกาย เก็บรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง รายละเอียดของศีรษะ รายละเอียดมุมต่างๆ ถ่ายจากมุมข้างล่างขึ้นมา ถ่ายจากข้างบนลงมา รายละเอียดของหู จมูก ปาก ตา เส้นเลือด และรอยสัก.. ประมาณ 200 ภาพ หรือมากกว่านั้น.. " มารี บอก

"มารีจะถ่ายภาพจากมุมต่างๆ และทุกๆ มุมหมุนไปเรื่อยๆ ใกล้ ไกล และในแสงสว่างแตกต่างกันด้วย เพื่อให้คนที่ปั้นสามารถดูจากภาพแล้วเอาไปถ่ายทอดได้ดียิ่งขึ้น.. " มิเชล กล่าว

รายละเอียดของร่างกายนอกจากการบันทึกด้วยภาพถ่ายยังต้องมีการวัดอย่างละเอียดด้วย

" ..หลังจากที่ใส่ชุดแล้วถอดชุดออกก็ใส่เสื้อผ้าที่เห็นสัดส่วนเพื่อจะทำการวัด เราจะวัดตามร่างกายตามจุดตามข้อต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Caliper (ปากกาขาโค้ง) บริเวณใบหน้าเราจะวัดมากกว่า 500 ตำแหน่ง.. เราจะเอาตัวอย่างผมมาเทียบกับผมของคนที่จะมาเป็นหุ่นของเรา ผมแต่ละเส้นในตัวหุ่นจะมีการร้อยเข้าไปในศีรษะทุกๆ เส้น ศีรษะของหุ่นจะมีเส้นผมประมาณหนึ่งแสนเส้น.. ดวงตาก็เหมือนกันเราจะมีดวงตาปลอมที่จะนำมาเปรียบเทียบกับดวงตาของคนที่จะมาเป็นแบบ.. ส่วนฟันขึ้นอยู่กับว่าหุ่นเห็นฟันหรือเปล่า เพราะบางทีหุ่นไม่เห็นฟัน ถ้าสมมติเราตัดสินแล้วว่าหุ่นจะยิ้มก็จะพิมพ์ฟันไป และเก็บสีของฟันมารวมถึงสีของเหงือกด้วย.. ผิวหนังจะมีแถบแผ่นสีต่างๆ เอามาเทียบและอาจจะลองผสมสีดูเลย"

บางครั้งทีมงานต้องปั้นหุ่นของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว การทำงานในขั้นตอนวัดสัดส่วนจึงมีวิธีการที่แตกต่างต่างออกไป

"การเก็บข้อมูลจากบุคคลที่ได้เสียชีวิตไปแล้วอย่างเช่นในกรณีของคุณมิตร ชัยบัญชา เราได้ไปคุยกับแฟนคลับของเขา ซึ่งเขามีข้อมูลเยอะแยะมากมาย มีภาพ เราก็ถ่ายรูปภาพเก็บไว้ ดูวีดีโออะไรแบบนี้ บางทีก็เจอครอบครัวด้วย เราจะถ่ายภาพสมาชิกของครอบครัว บางทีเขาอาจจะมีตาสีเดียวกัน ถ้าทำแบบนั้นไม่ได้เราก็จะมีทีมที่ไปค้นคว้าพวกภาพวีดีโอเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลคนนั้น.. ข้อมูลจะไม่ได้มากเท่ากับเวลาได้มาเจอคนจริงๆ เราต้องพยายามที่จะเสาะหาข้อมูลมากขึ้น อย่างท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องไปคุยกับครอบครัว ดูรูปภาพครอบครัวเขา และเลือกรูปที่มี พยายามหารูปหน้าตรงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ และถ้าเราเลือกแล้วว่าท่านจะโพสแบบนี้ก็จะหารูปให้ใกล้เคียงที่สุด.. หรืออย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เราไปติดต่อพูดคุยกับครอบครัวของท่าน ถามเรื่องรายละเอียด เช่น ปากกาที่ท่านใช้ นาฬิกา แว่นตาที่ท่านใส่ และถ่ายรูปแว่นตาของท่าน"

ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปที่สตูดิโอเพื่อให้ทีมงานเริ่มปั้นหุ่น

"เราจะส่งรูปภาพทั้งหมดและข้อมูลต่างๆ ที่เรารวบรวมได้กลับไปที่สตูดิโอและเริ่มปั้น จะมีฝ่ายหนึ่งปั้นศีรษะ อีกฝ่ายไปปั้นตัว.. หลังจากที่หล่อแม่พิมพ์มาแล้วก็ใส่ขี้ผึ้งร้อนลงไป ผมจะร้อยเข้าไปทีละเส้น ศีรษะจะมีการปั้นให้ใหญ่กว่าขนาดจริง 2% เพราะว่าขี้ผึ้งจะหดลง 2% เวลาหล่อแม่พิมพ์ลงไปแล้ว เราจะทำความสะอาดให้มันเรียบแล้วเจาะตาออก.. ฟันด้วยเหมือนกัน.. ตั้งแต่ต้นจนจบต่อหุ่นหนึ่งคนใช้ทีมประมาณ 20 คน คนหนึ่งทำศีรษะ อีกคนหนึ่งก็ลำตัว คนหนึ่งก็ทำความสะอาดเก็บรายละเอียด แต่ละคนมีหน้าที่ต่างกัน" มิเชล เล่าให้ฟัง

การวัดสัดส่วนโดยทั่วไปจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง การปั้นใช้เวลาราว 350 ชั่วโมง การทำแม่พิมพ์ใช้เวลา 170 ชั่วโมง ดวงตาหนึ่งคู่หนึ่งใช้เวลาในการทำ 14 ชั่วโมง การทำฟันใช้เวลา 28 ชั่วโมง การร้อยเส้นผม สระ และตัดให้ได้ทรง ทั้งหมดใช้เวลา 140 ชั่วโมง การลงสีเฉพาะในส่วนของศีรษะใช้เวลา 49 ชั่วโมง รวมใช้เวลา 3-4 เดือน สำหรับการปั้นหุ่นหนึ่งคน

ล่าสุด มิเชล และ มารี เดินทางมาประเทศไทยเพื่อทำการวัดสัดส่วน พันโทวันชนะ สวัสดี ผู้รับบท 'สมเด็จพระนเรศวรมหาราช' ในภาพยนตร์ 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช'

" ..วิธีการเลือกหุ่นที่จะมาเป็นหุ่นในมาดามทุซโซคือเราจะเลือกว่าบุคคลคนนั้นมีบุคลิกหรือมีผลงานที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งกระแสของภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีมาตลอดทั้ง 5 ภาค ได้รับการตอบรับที่ดี มีเรื่องของความรักชาติที่คนไทยเราเริ่มรู้สึกเกี่ยวกับการเสียสละเพื่อชาติหรืออะไรพวกนี้ค่อนข้างชัดเจน และเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ทุกคนต้องทราบ เพราะฉะนั้นเป็นหุ่นที่เราไม่ควรพลาด" คุณ สกลภัส ปลูกจิตรสม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

"ผมรู้สึกได้เลยว่าวิธีการทำงานค่อนข้างเป็นขั้นตอน มีการติดต่อเข้ามา เริ่มเล่าขั้นตอนให้ผมฟังว่าขั้นตอนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใช้เวลาปั้นกี่เดือน ทีมงานของมาดามทุซโซเมืองไทยก็เหมือนมาขออนุญาตก่อน ผมรู้สึกว่าแปลกดีนะ เขาอุตส่าห์มาปั้นหุ่นให้เราๆ ก็ดีใจแล้ว แต่เขายังต้องมาขออนุญาตก่อน.. ทำเป็นขั้นตอนอย่างถูกต้อง และส่งวีดีโอการปั้นของคนอื่นมาให้ผมดูว่าวิธีการเป็นแบบนี้ๆ หลังจากนั้นก็เริ่มถามผมว่าอยากได้หุ่นเป็นชุดแบบไหน ผมก็ไม่รู้เหมือนกันก็ต้องโทรศัพท์ไปถามพี่ปุ๊ (คุณากร เศรษฐี) และถามหม่อม (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ว่าชุดควรเป็นแบบไหนดีครับ และนั่งคุยกันว่าเราอยากจะบันทึกภาพหุ่นปั้นหุ่นนี้เป็นชุดเกราะ เริ่มคุยแล้วว่าน่าจะเป็นชุดรบที่เป็นภาพจำของทุกคน.. " พันโท วันชนะ บอก

ประสบการณ์ในการทำงานที่ต้องพบปะกับคนดังทั่วโลก มิเชล บอกว่า

"แต่ละคนไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่เห็นและรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจคือทุกๆ ครั้งหลังจากที่เริ่มกระบวนการของการวัดสัดส่วนตั้งแต่ต้นจนจบ ใกล้จะสิ้นสุดกระบวนการมันจะมีความเชื่อมโยงเหมือนสื่อสารกันได้ใกล้ชิดขึ้น เพราะว่าเราจะต้องมีความใกล้ชิดกับคนที่จะมาเป็นหุ่น ทำให้เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เรามีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการที่จะมาทำการวัดสัดส่วนแบบนี้ เหมือนเป็นเกียรติอย่างหนึ่งในการทำงานของเรา.. ในฐานะที่เป็นคนปั้น เคยปั้นหุ่นดีเจคนหนึ่งจากอัมสเตอร์ดัมและดีเจคนนี้บินมาที่อังกฤษมานั่งข้างๆ หุ่นที่ปั้น มันน่าประทับใจที่ได้เห็นทั้งหุ่นขี้ผึ้งและคนจริงนั่งอยู่ข้างกัน"

ส่วนมารีซึ่งร่วมงานกับมาดามทุซโซมานานและมีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง บอกว่า

"ชอบแอน ทองประสม และอีกหลายๆ คนที่กรุงเทพฯ คุณแพนเค้กน่ารักมาก และคุณสมบัติ เมทะนี คุณเพชรา เชาวราษฎร์ ประทับใจความทรงจำในขั้นตอนของการวัดสัดส่วน ยกตัวอย่างคุณสมบัติ หลังจากเสร็จงาน คุณสมบัติชวนไปลอยกระทงต่อ เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้เราจำเขาและประทับใจ อย่างคุณเพชราก็ไปที่บ้านเขาๆ มองไม่เห็นแล้วประสบการณ์การวัดสัดส่วนก็จะไม่เหมือนกับท่านอื่นๆ ที่เคยทำงานมา ใช้เวลานานมากกว่าปกติและจะต้องสัมผัสตัวเขาให้มากขึ้น ต้องอธิบายเพราะเขามองไม่เห็น เป็นประสบการณ์ที่รู้สึกประทับใจมากและรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับคุณเพชรา มีการวัดสัดส่วนอีกหลายๆ ครั้งที่ประทับใจมาก มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan freeman) ก็เป็นคนน่ารักมาก เหมือนจุดๆ หนึ่งที่พอเราทำงานกับคนแล้วคนเริ่มที่จะเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารกันจริงๆ แล้วมันทำงานง่ายมาก"

มารี ยังบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาว่า

"งานยุ่งกว่าเดิมเยอะ (หัวเราะ) มีการวัดสัดส่วนมากขึ้นเยอะ เพราะมี 13 สาขาทั่วโลก และมีช่างภาพมากขึ้นด้วย เทคนิคก็มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งในการทำงานเป็นช่างภาพจริงๆ ก็เป็นศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ในการทำงานกับมาดามทุซโซเราจะต้องสามารถที่จะเก็บบุคลิกภาพของคนด้วย ดังนั้นต้องสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์กับความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์ออกมาที่ดีที่สุด"

ผลลัพธ์ที่ดีนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงหุ่นที่ดูมีชีวิตสมจริง แต่อาจสรุปได้ด้วยคำกล่าวของ พันโท วันชนะ ที่ว่า

"มันเป็นการเล่าเรื่องราวไม่ใช่คนๆ นั้นอย่างเดียว เป็นเรื่องราวของเมืองๆ นั้น ประเทศๆ นั้น โดยผ่านหุ่น ซึ่งเพียงแค่คนเข้าไปศึกษาหุ่นแล้วความเป็นมาและประวัติของหุ่นจะสามารถเล่าเรื่องราวของเมืองๆ นั้นได้.. ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการต่อยอดให้กับคนที่เข้าไปดู เป็นการให้ความรู้และเปิดมุมมองใหม่ให้มีแนวความคิดที่กว้างขึ้น"