หนังกางป่า...ฮักเขาใหญ่

หนังกางป่า...ฮักเขาใหญ่

"หนังเล็กๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่รู้สึกว่า มากกว่าความรัก คือคุณค่าในการถ่ายทอดบทบันทึกของผืนป่ามรดกโลก"

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ เขาใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์จากพืชพรรณ 3,000 ชนิด นก 250 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 67 ชนิด


ได้รับสมญานามว่าเป็น "อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน" และได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโก้


ไม่ว่ามุมไหน ผืนป่าดงพญาเย็นแห่งนี้ ก็ถือเป็นหัวใจอีกดวงของระบบนิเวศเมืองไทย ที่คงอยู่ผ่านยุคสมัยมายาวนาน แต่ถึงอย่างนั้น ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าผืนนี้ก็ยังคงปรากฏตามพื้นที่ข่าวตลอดมา


เมื่อความรัก และการหวงแหนสิ่งใด คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย แต่ต้องใช้เวลาซึมซับให้เห็น "คุณค่า" และเห็นว่า "น่าเสียดาย" หากไม่ดูแลรักษา การสื่อสารจึงถือเป็นอีกช่องทางในการปลูกฝั่งเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นในใจผู้คน


เหมือนกับกับภาพยนตร์ฟอร์มเล็กอย่าง ฮักเขาใหญ่ ที่ประกาศก้องว่าเป็น ภาพยนตร์หัวใจสีเขียว อีกเรื่องเพื่อปลุกกระแสอนุรักษ์ให้ส่งเสียงไปถึงสังคมอีกครั้ง


ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เกิดจากกลุ่มนักอนุรักษ์ป่า กลุ่มทำสื่อ กลุ่มคนทำหนัง "อีสานช๊อตฟิล์ม" ได้พูดคุย หาแนวร่วม และแหล่งทุนเพื่อสร้าง "ภาพยนตร์เพื่อป่า" สักเรื่อง จนได้ บริษัท ฮัคครีเอชั่น จำกัด มารับเป็นผู้สร้าง สมชัย ศรีสุนาครัว เป็นเจ้าของบทประพันธ์ แปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย ปรีชา สาคร และภัทรา พิทักษานนทกุล, กำกับการแสดงโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ และ ปรีชา สาคร, อำนวยการผลิตโดย รัฐนันท์ คิรินทร์จิรเดช และ พันนภา รักสนิท, อำนวยการสร้างโดย อภิวัฒน์ จ่าตา


นักแสดงนำประกอบด้วย "คิม" รพินทร์ โฉมโสภา, "แพรว" วรรณพร เผือกกล่อม, เควิน ลี เพียร์รี่ และ "ทิพย์" เปรมา ทิพย์อักษรทิพย์ ซึ่งมี สมจิตร จงจอหอ, แก้ว พงษ์ประยูร 2 นักมวยฮีโร่โอลิมปิค "ป้าแดง" บุญศรี ยินดี และใครอีกหลายคนมาเป็นนักแสดงรับเชิญ

สร้างเพื่อสื่อ
อีกบทบาทหนึ่งของคนข่าวมากประสบการณ์ อย่าง ทิดเป้ หรือ อภิวัฒน์ จ่าตา ที่นั่งแท่นผู้อำนวยการสร้าง เล่าให้ฟังว่า เขาใหญ่เป็นกระเป๋าใบที่จะพาเข้าไปป่า เป็นกรณีศึกษาของธรรมชาติกับคนเมืองหลายต่อหลายเรื่อง


"เชื่อไหมว่าเด็กๆ บางคนไม่เคยเหยียบทรายแบบเต็มฝ่าเท้า เด็กไม่เคยเดินป่า ไม่เคยเจอลิง ไม่เคยเจอกวาง ไม่เคยเจอช้างในป่า เคยเจอแต่ในสวนสัตว์หรือว่าเคยเจอแต่ในภาพถ่าย"
เขาจึงอยากให้ บรรดาผู้ชมหลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้ว ลองออกไปสัมผัสของจริงดูบ้าง ให้กลายเป็น "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"


ไม่ต่างกับ รัฐนันท์ คิรินทร์จิรเดช ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในฐานะผู้อำนวยการผลิตหลังจากได้เห็นมุมมองของธรรมชาติผ่านการทำงาน ก็อยากหาช่องทางให้คนมาร่วมปลุกกระแสอนุรักษ์ที่มีอยู่ เพียงแต่ในเชิงสังคมอาจจะดูเงียบไปเพราะไม่ได้ถูกกระตุ้น เลยได้แลกเปลี่ยนกันว่า ถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านเรา


"ก็เลยมองว่าเรามาทำหนังดีไหม เพราะหนังมันจะมีเรื่องราวลงรายละเอียด ความรู้สึกหรือถ่ายทอดอารมณ์ได้มากกว่าการที่บอกเล่าผ่านข่าว หรือผ่านสื่อทางราชการที่เคยทำกัน มันเป็นสิ่งที่ต้องสร้างจิตสำนึกซึ่งกันและกัน ทำยังไงก็ได้ที่ให้ป่าอยู่กับคน คนอยู่กับสัตว์ สัตว์อยู่กับคนให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ห่างหายไป กลายเป็นต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ ประชาชนก็มีหน้าที่ไปดูความสวยงามไปเอาบรรยากาศ เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ต้องทำงาน มันกลายเป็นไม่สอดประสานกันเลย"


ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนเดิมจึงอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนกับ "จิ๊กซอว์" ที่ประติดประต่อระหว่าง คน-ป่า-สัตว์ เข้าด้วยกันในทุกมิติ อย่างเนื้อในภาพยนตร์ที่สื่อสารเรื่องราวของป่าผ่าน "นกเงือก" โดยตั้งคำถามย้อนกลับไปให้คนดูคิดตามไปว่า ทำไมนกเงือกถึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า ทำไมนกเงือกถึงเป็นตัวชี้วัดเรื่องของความรักว่ารักเดียวใจเดียว อีกทั้งเรื่องราวการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนความสวยงามของธรรมชาติที่น่าจะ "คงสภาพ" ความสมบูรณ์อย่างนี้เอาไว้


"ไม่รู้ว่าในอนาคต10-20ปีข้างหน้า ธรรมชาติมันจะยังคงสวยงามอย่างนี้อยู่ไหม แต่ถ้ามันถูกตัดทำลาย หนังก็จะทำหน้าที่เป็นบทบันทึกความทรงจำที่จะนำไปสู่สายตาประชาชนต่อไป"


สำหรับ พันนภา รักสนิท ผู้อำนวยการผลิต เขาให้คำตอบอย่างไม่ลังเลว่า อย่างน้อย...ก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม


นั่นเพราะปัญหาเรื่องทุนสร้างหนังในตอนแรก จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เดินมาถึงเขา หลังจากได้พูดคุยกับทางกลุ่มผู้สร้างคำตอบในใจจึงชัดเจนขึ้น


"อย่างน้อยมันก็เป็นการจุดประกาย เหมือนมีแนวทาง การมีส่วนร่วมในการช่วยรณรงค์ เป็นแรงผลักดันแรงจูงใจให้เยาวชนและอีกหลายๆ คนได้ดูหนังเรื่องนี้ เราว่ามีทั้งสาระ ทั้งแง่มุมหลากหลายในหนังเรื่องนี้"

มุ่งหวังและตั้งใจ
"อยากให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของเขาใหญ่ ค่อนข้างเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็น" เป็นความตั้งใจของ อาจารย์อุ๋ย - ปรีชา สาคร ผู้กำกับหนังสั้นมากรางวัล, ผู้ช่วยกำกับหนังลาว "คูของข่อย" ที่มาร่วมกับ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้


โดยส่วนตัวเขาได้ทำหนังสั้นประกวดอยู่โครงการหนึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ จนได้ประเด็นเกี่ยวกับนกเงือกมาทั้งในแง่ของ "ตัวชี้วัดธรรมชาติ" และ "คู่รักที่ซื่อสัตย์ต่อกัน"


"การนำเอาวิถีชีวิตของนกเงือก มาเป็นกรอบหรือเป็นตัวที่ช่วยดำเนินชีวิตของคน ในเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม เราบอกตั้งแต่ตอนแรกว่า นกเงือกเป็นเรื่องของผัวเดียวเมียเดียว หากมนุษย์ในสังคมมีผัวเดียวเมียเดียว ปัญหาการนอกใจในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น" เขาอธิบาย


ส่วนมุมมองของนักอนุรักษ์นั้น จากข้อมูลของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ระบุชัดเจนว่า นกเงือกในเขตอุทยานแห่งชาติใหญ่และบริเวณกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบได้ 4 ชนิด นกกก (นกกาฮัง) นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกแก๊ก (นกแกง) ซึ่งนกเงือกทำหน้าที่เป็นกลไกลหลักของการกระจายเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารของนก และช่วยควบคุมประชากรของสัตว์เล็ก เช่น แมลง และหนูอันอาจเป็นผู้ทำลายเมล็ดซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการรักษาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของป่า


การอนุรักษ์นกเงือกจึงก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์รักษาคุณภาพระบบนิเวศป่าไม้ เพราะนกเงือกมีอิทธิพลต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเดียวกัน จากบทบาทสำคัญในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ นกเงือกจะช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นสัตว์ผู้ล่าซึ่งเป็นการควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลแก่ระบบนิเวศวิทยาป่า


ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามถ่ายทอดออกมาให้ครบทุกมิติ ภายใต้ความสวยงามของภาพ ผูกประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนที่จะช่วยให้คนดูซาบซึ้งกับภาพที่มันจะเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ เพิ่มมุมมองแบบหนังตลาด เพื่อทำให้หนังไม่จืดชืด และมีหลากหลายอารมณ์


"พวกเราตั้งใจทำมาก" ปรีชายืนยัน

เบื้องหลังการถ่ายทำ
ความพยายามที่ต้องการสื่อสารให้สังคมเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ "ความตั้งใจ" ถือเป็นธงนำในการทำงานเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น


สำหรับ นางเอกสาวมือใหม่ แพรว - วรรณพร เผือกกล่อม นักศึกษาปี 1 เอกศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเข้าฉาก


"กลัวว่าจะทำไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้เรียนการแสดงไม่ได้มีพื้นฐานด้านการแสดงมาก่อน ส่วนใหญ่คือเคยเรียนพวกนาฏศิลป์ สำหรับหนังเรื่องแรกมีเวลาเตรียมตัวไม่นาน พอได้ลองทำจริงๆก็รู้สึกว่าค่อนข้างยาก ต้องใช้ทั้งอารมณ์และความรู้สึก มันต้องมีจินตนาการสูง"


พอๆ กับ คิม - รพินทร์ โฉมโสภา นักศึกษาปี 3 สาขาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ออกตัวก่อนว่า ยังต้องเรียนรู้อีกมาก


" ซีนที่หนักใจคือต้องจ้องตานางเอก ฉากหวานๆ ทำเหมือนกับว่าเราจะรักกัน ตอนแรกคิดว่าเป็นฉากที่ยาก คือฉากร้องไห้" เขาให้ความเห็น


แต่ถึงอย่างนั้น จุดมุ่งหมายของหนังที่ทั้งคู่ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของการอนุรักษ์ กรณีมีคนกลุ่มหนึ่งจะทำให้เขาใหญ่ถอดออกจากการเป็นมรดกโลก จึงเกิดการต่อสู้เพื่อทำให้เขาใหญ่ไม่ถูกถอดออก "ดร.โมนา" นางเอกของเรื่องจึงเริ่มออกตามหานกเงือก เพราะว่านกเงือกยิ่งพบมาก ยิ่งแสดงออกว่าเขาใหญ่อุดมสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือชื่อ "กล้า" พระเอกของเรื่องจนนำไปสู่ความประทับใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการสะท้อนถึงธรรมชาติที่สวยงาม อันเป็นคุณค่าสำคัญที่มีต่อการสร้างสำนึกอนุรักษ์นั่นเอง


"การอนุรักษ์เขาใหญ่เป็นเรื่องดี เป็นการส่งเสริมคนอื่นหรือว่าคนรุ่นใหม่เขาใหญ่เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และอีกอย่างที่เคยเรียนมาว่า เขาใหญ่ หรือป่าไม้แหล่งใหญ่ๆ มันก็เหมือนเป็นปอดของโลก ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยเพิ่มออกซิเจน ซึ่งพวกเราสมควรจะช่วยกันรักษาเอาไว้ มันไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องของใคร มันเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ" รพินทร์กล่าว


ส่วน แพรว หวังว่า รายละเอียดภายในภาพยนตร์นั้นจะช่วยสะท้อนนความเป็นธรรมชาติผ่านแง่มุมต่างๆ รวมทั้งสอดแทรกวิธีการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย


"หนังเรื่องนี้มันให้อะไรหลายๆอย่าง เช่นเรื่องนกเงือก มันเป็นนกที่มีผัวเดียวเมียเดียวถ้าตัวผู้ตายตัวเมียกับลูกก็จะไม่ออกมาหากินก็จะตายตาม อันนี้จะสื่อได้ว่าคนในสังคมไทย ถ้ารักเดียวใจเดียวก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้นก็จะไม่วุ่นวาย เราจะสื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าเราทำอะไรได้บ้างค่ะ" เธอบอก


ความหวังของคนทำหนัง ถึงรายได้จะเป็นตัวบ่งชี้ความนิยม และบ่อยครั้งกลายเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในโลกปัจจุบัน แต่นั่นคงไม่เท่าจุดมุ่งหมายอันถือเป็นหัวใจหลักของภาพยนตร์ก็คือ "สาระ" อันเปรียบเสมือนเป็น "คุณค่า" ที่อยู่เบื้องหลังแผ่นฟิล์มแต่ละเฟรมที่เคลื่อนไหวอยู่ในโรงภาพยนตร์นั่นเอง


"จะดีหรือไม่ดี ผมว่าให้หนังเป็นตัวบอกความดีงามของมันดีกว่า" ผู้กำกับอย่างปรีชาให้ข้อสังเกตทิ้งท้าย