นายกฯชี้ลาออกเรื่องส่วนตัว คัดคนแทน'ทิชา'16มี.ค.

นายกฯชี้ลาออกเรื่องส่วนตัว คัดคนแทน'ทิชา'16มี.ค.

"เลิศรัตน์"คาด 16 มีนาฯ เคาะตัวกมธ.ยกร่างรธน.คนใหม่ แทน"ทิชา"ที่ลาออกไป เปิดทาง สปช.ยื่นใบสมัคร-เล็งให้แสดงวิสัยทัศน์

 "ประยุทธ์"เชื่อ "ทิชา"ลาออกไม่กระทบการยกร่าง เตือนแม่น้ำ 4 สายอย่าสร้างความขัดแย้ง "สุจิต"ชี้รธน.ต้องสร้างประชาชนเข้มแข็ง "สุริยะใส”แนะกมธ.ปิดช่องโหว่ เร่งแจงจุดเด่นรธน. หวั่นพวกอารมณ์ค้างจากรัฐประหารบิดเบือน


ความเคลื่อนไหวการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในสัปดาห์นี้จะเป็นการพิจารณาในส่วนของบทเฉพาะกาล รวมถึงประเด็นที่กมธ.แขวนไว้ก่อนหน้านี้ และหลังจากที่การพิจารณารายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ตลอดเดือนมี.ค. จะเป็นการทบทวนและเรียงลำดับมาตราของรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่จะเสนอร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)พิจารณาต่อไป


อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไปนั่นคือ กระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อมาทำหน้าที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสปช.แทนนางทิชา ณ นคร ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้


พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวทางการเลือกตั้งกมธ.ยกร่างฯแทนที่นางทิชานั้น ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าการเลือกกมธ.ยกร่างฯ คนใหม่นั้นต้องไปดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 32 ที่ระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการแต่งตั้งบุคคลใหม่ภายใน 15 วันคือไม่เกินภายในวันที่ 16 มี.ค. นี้ ดังนั้น สมาชิก สปช.ที่ประสงค์จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ อาจเสนอชื่อเข้าสมัครอย่างน้อย 2 วัน ก่อนวันที่จะนัดประชุม เพื่อลงคะแนนคัดเลือก รวมทั้งอาจมีการแสดงวิสัยทัศน์


ส่วนกรณีที่เคยเสนอให้เอาสมาชิกสปช.ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับที่ 21 ให้มาเป็นกมธ.ยกร่างฯ นั้น เห็นว่าหากทำตามแนวทางนี้คงลำบาก เพราะไม่ได้มีการวางกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้กมธ.ยกร่างฯคนใหม่ ก็เชื่อว่าจะมาช่วยพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ดี เพราะขณะนี้ผ่านมาได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น ยังมีเวลาทำงานด้วยกันอย่างน้อยอีก 7-8 เดือน


นายกฯชี้"ทิชา"ลาออกเรื่องส่วนตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการลาออกของนางทิชาว่า ตนได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีคนทำหน้าที่อีกจำนวนมาก แต่ก็ต้องดูว่าจำเป็นที่จะต้องตั้งคนขึ้นมาแทนหรือไม่ คงต้องถามสปช.และสนช.ในเรื่องนี้ก่อน


ส่วนที่นางทิชาเองระบุว่า ที่ต้องลาออกเพราะเหมือนเป็นปลาผิดน้ำ จะถือว่าเกิดความขัดแย้งภายในหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนไม่เข้าใจว่าปลาผิดน้ำเป็นอย่างไร แต่ถ้าทำงานร่วมกันไม่ได้จริงๆ แล้วจำเป็น ตนก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะคนเราต่างคนต่างคิด


ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านางทิชา ลาออกเนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสัดส่วนการส่งผู้หญิงลงรับสมัครเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ในรายละเอียดตนไม่ทราบ แต่วันนี้สิทธิของผู้ชายผู้หญิงเท่ากันแล้ว คงต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกำหนดเช่นนั้น ซึ่งเชื่อว่ากมธ.ยกร่างคงพิจารณาในเรื่องนี้เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่เท่ากันระหว่างหญิงชาย


ติงแม่น้ำ4สายอย่าสร้างความขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวถึงกรณีเคยระบุว่าตอนนี้แม่น้ำ 4 สายจะไม่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจะต้องมีการนัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกันใหม่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีการประชุมกันอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ตนได้ให้นโยบายอย่างเดียวว่า อย่าสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ หรืออย่าสร้างความเข้าใจผิด โดยรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็ต้องดูแล ให้ทุกอย่างปรองดองเกิดความสมานฉันท์ให้ได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่


ระบุสนช.ตั้งคนใกล้ชิดไม่ผิดก.ม.
ส่วนกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายเขียนระบุไว้ แต่ตนได้กำชับไปว่า ขอให้ระมัดระวังและไปตรวจสอบด้วยว่า การตั้งมาทำงาน มีเหตุผลความจำเป็นหรือไม่ หรืออาจจะเขียนกฎหมายในรัฐธรรมนูญหรือระเบียบเพื่อระบุว่ากลไกเหล่านี้จะต้องไม่มีครอบครัว เรื่องนี้คงต้องพูดด้วยกฎหมาย ถ้าถามว่าถูกหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ


อย่างไรก็ดีเรื่องนี้คงต้องให้สนช.ดำเนินการตรวจสอบกันเอง ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่ประธานสนช.เอง ก็แต่งตั้งภรรยาเป็นผู้ช่วยเช่นกันนั้น ขอให้ไปถามนายพรเพชรดูเอง


"สุจิต"แนะสร้างความเข้มแข็งประชาชน
ด้านกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดเสวนาเรื่อง “สานพลังร่วมสร้างสมัชชาพลเมือง” โดยนายสุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า กระบวนการทำรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เราต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้มีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทั้งนี้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ นอกจากรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ยังต้องฟังความเห็นจากสปช.,สนช. ,คสช.และคณะรัฐมนตรี(ครม.)


อย่างไรก็ตาม บางข้อเสนอคิดว่า อาจไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อาจให้รัฐบาลไปดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกมธ.ยกร่างฯจะได้ทำบันทึกไปยังสปช.ว่าประเด็นต่างๆที่สปช.ต่อไป โดยสปช.สามารถมีมติเพื่อให้รัฐบาลหรือสนช.ไปดำเนินการได้เลย


ส่วนในเรื่องของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสมัชชาพลเมืองนั้น นายสุจิต ระบุว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯมีความเห็นสอดคล้องกันว่า วิสัยทัศน์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องสร้างให้พลเมืองเป็นใหญ่ เพื่อให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะปัญหารากเหง้าในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองหรือปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะสนใจแก้ปัญหาเฉพาะตัวโครงสร้าง เช่นระบบเลือกตั้ง สถาบันการเมือง หรือระบบตรวจสอบ แต่ประชาชนหรือพลเมืองยังมีความอ่อนแอ ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของผู้นำไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับชาติ สุดท้ายกฎหมายที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในกำมือของผู้นำไม่กี่คน


เสียดาย “ทิชา” ไขก๊อก
ขณะเดียวกันนายสุจิต ยังกล่าวถึงแนวทางการทำงานหลังจากที่นางทิชา ลาออกจากตำแหน่งว่า เสียดายความรู้ความสามารถ ซึ่งก็คงมีเหตุผลส่วนตัว คงไม่เป็นปัญหาในการทำงานของกมธ.ยกร่างฯหรือสปช.ส่วนจะตั้งใครมาแทนก็ขึ้นอยู่กับมติของสปช. ส่วนที่มีชื่อนายนันทวัฒน์ บรมานันทน์ สมาชิกสปช.จะมาแทนนั้น ก็เป็นความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เป็นทั้งประธานกมธ.ยกร่างฯและรองประธานสปช. คงต้องรอให้ที่ประชุมสปช.พิจารณาก่อน


เผยรธน.ร่างแรกเกือบเสร็จ
นายสุจิต ยังระบุอีกว่า กมธ.ยกร่างได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเกือบเสร็จทั้งหมดแล้วเหลือเพียง 3 - 4 ประเด็นที่รอการลงมติ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 2 มี.ค.ที่จะเริ่มพิจารณาบทเฉพาะกาล เพื่อดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการยกร่าง รวมถึงการปรับปรุงถ้อยให้กระชับ ซึ่งจะพิจารณาให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ เพื่อส่งให้สปช.ให้ความเห็นชอบต่อไป


เมื่อถามถึงกรณีที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับชื่อสมัชชาพลเมือง แต่อยากให้เป็นชื่อสภาพลเมือง นายสุจิต ระบุว่า ในกมธ.ได้มีการพูดคุยกันว่าคำว่าสภา อยากให้ใช้ในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติมากกว่า เพราะสภามีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย หากประชาชนไปใช้คำว่าสภาอาจจะทำให้เกิดความสับสนในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้นจึงอยากให้ใช้คำว่าสมัชชา โดยให้มีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารในท้องถิ่น และเสนอความเห็นเท่านั้น


“สุริยะใส”แนะวิธีปิดช่องโหว่รธน.
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯ เริ่มลงรายละเอียดเป็นรายมาตรานั้น ต้องจำแนกออกเป็น 3 กระแส โดยกระแสแรกเป็นพวกที่ไม่พร้อมและไม่ยอมปฏิรูป เพราะยังชาชินกับกติกาและรูปแบบเดิมๆ กระแสที่สองจะเป็นพวกอารมณ์ค้างจากรัฐประหาร คือทำอะไรก็จะผิดหมด และกระแสที่สามจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งพยายามผลักดันประเด็นของกลุ่มให้มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญผสมกับกลุ่มวิชาการ


ทั้งนี้เห็นว่า กมธ.ยกร่างควรเน้นการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล หลีกเลี่ยงการตอบโต้ โดยเฉพาะกลุ่มต้านรัฐประหารและกลุ่มเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดี หากดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คร่าวๆแล้ว ยอมรับว่าช่องทางและสิทธิของภาคประชาชนสูงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 40 และ 50 จากเดิมที่เคยจำกัดอยู่แค่กับฝ่ายบริหาร ก็ขยายไปสู่ส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ และกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบ รวมทั้งการมีสภาพลเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นซึ่งเคยเรียกร้องกันตอนปี 40 และ 50 ส่วนประเด็นที่เป็นช่องโหว่ กมธ.ก็ต้องเปิดใจรับฟัง
"โดยเฉพาะประเด็นนายกฯคนนอกนั้น อยากให้กมธ.ยกร่างฯทบทวนและควรระบุเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษกรณีนายกฯคนนอกมากกว่านี้ไม่ใช่เปิดกว้างจนเปิดช่องให้คนบางกลุ่มเอาไปขยายความโจมตีหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้" นายสุริยะใสระบุ


ป.ป.ช.ถกยืนยันมติฟัน250ส.ส.พรุ่งนี้
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในประเด็นที่มาสว.ว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันอังคารที่ 3 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันมติขององค์คณะไต่สวนซึ่งเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีของป.ป.ช. เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติแล้วก็จะได้ส่งสำนวนดังกล่าว พร้อมพยานหลักฐานไปยังสนช.เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป
เผย 5 ส.ส.ผิดอาญา


สำหรับอดีต ส.ส.จำนวน 5 ราย ที่องค์คณะไต่สวนมีมติว่าได้กระทำการอันมีพฤติการณ์ว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อให้มาแก้ข้อกล่าวหาต่อไปนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันอังคารที่ 3 มี.ค.นี้ จะพิจารณาเรื่องนี้เช่นกันเพื่อยืนยันมติที่ประชุมขององค์คณะไต่สวน และหากยืนยันแล้วก็ต้องส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้มาแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
สำหรับอดีต ส.ส. 5 รายประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนทน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย