ย้ำหนังสือสัญญาสภาต้องเห็นชอบก่อนรัฐบาลลงนามกับตปท.

ย้ำหนังสือสัญญาสภาต้องเห็นชอบก่อนรัฐบาลลงนามกับตปท.

กมธ.ยกร่างรธน. ระบุรธน.ใหม่เขียนชัด 4 ประเภทหนังสือสัญญาจะลงนามกับตปท. ต้องส่งกรอบเจรจาให้กมธ.การต่างประเทศเห็นชอบก่อนเข้ารัฐสภา

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาและผ่านการพิจารณทบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน ซึ่งนำความจากมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาพิจารณาและได้ปรับสาระสำคัญให้มีความชัดเจนตามข้อสรุปจากที่ปะชุมของคณะทำงานในประเด็นดังกล่าว ที่มีนายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานและได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, กฤษฎีกา, กระทรวงพาณิชย์ โดยมีประเด็นที่เขียนขึ้นใหม่ คือ ประเภทของหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี, 2.หนังสือสัญญาเกี่ยวกับเขตศุลกากรร่วม, 3.การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และ 4.หนังสือสัญญาที่ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนหนังสือสัญญาอื่นๆ ที่เข้าข่ายจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามที่กำหนดประเภทไว้แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้ทำ 2 ขั้นตอน คือ 1.หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ข้อมูลและรับฟังความเห็นของประชาชนและชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาแล้ว ต้องเสนอกรอบเจรจาที่เป็นเนื้อหาสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการเจรจาให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายใน 30 วัน

และ 2.หลังจากที่ครม. ได้นำกรอบเจรจาที่เห็นชอบจากกมธ.การต่างประเทศของรัฐสภาไปเจรจาแล้วก่อนท่จะลงนามหรือดำเนินการต้องเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ระยะเวลาที่รัฐสภาจะต้องให้ความเห็นชอบนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดประเด็นเรื่องกรอบเวลา 60 วันออก เพราะถือว่าเป็นข้อจำกัดการพิจารณา อีกทั้งในหนังสือสัญญาบางเรื่องเมื่อผ่านกระบวนการของกมธ.การต่างประเทศรัฐสภาแล้วจะทำได้เร็ว