เมื่อระบบราชการไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา

เมื่อระบบราชการไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา

"บุคลากรครูบางส่วนไม่มีจิตใจรักอาชีพครู ไม่สนใจการเป็นผู้ให้ความรู้ แค่สอนให้เสร็จ ปล่อยเด็กไปเรียนพิเศษ"

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของบ้านเราที่รอการเยียวยาแก้ไขมาเนิ่นนาน ก็คือ ปัญหาด้านการศึกษา แม้จะมีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการเปลี่ยนระบบการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ และเกณฑ์วัดความรู้ความสามารถของนักเรียนนักศึกษามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทว่าทุกอย่างดูจะย่ำอยู่กับที่
ซ้ำร้ายบางเรื่องกลับกลายเป็น "ถอยหลังเข้าคลอง"


ข้อเสนอ "ปฏิรูปการศึกษา" มีมาตลอด แต่คำถามคือเราแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อเสนอเหล่านั้นถูกทิศถูกทาง
วงเสวนา "เวทีพลเมืองปฏิรูป ครั้งที่ 11" จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ NOW26 ซึ่งเป็นเวทีสรุปประเด็นปฏิรูปด้านต่างๆ หลังตระเวนรับฟังความคิดเห็นมาถึง 10 เวทีจากทั่วประเทศ ปรากฏว่าผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาทั้งจากภาครัฐและองค์การพัฒนาเอกชนเห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยยังไม่ถูกจุดเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากระบบราชการไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างถูกต้อง


ที่สำคัญการสร้างบุคลากรออกมาเป็นครู ในฐานะผู้ให้ความรู้แก่เยาวชน กลับได้คนไม่มีความรู้ และไม่มีจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างแท้จริง ส่งผลให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก


นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่พยายามทำอยู่ในขณะนี้ เป็นเพียงการทำปฏิรูปบางส่วน เพราะในความเป็นจริงแล้วการแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องยาก และไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไข


"สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้เรียกว่ามาถูกทางแล้วหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ เพราะรูปแบบหลายอย่างที่ทำอยู่มันก็เป็นเพียงการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ เห็นมีเพียงกฎหมาย 1 ฉบับ ถ้ายังไม่ทำให้ครอบคลุมกว่านี้ การศึกษาไทยจะตกยุค ตกโลกแน่นอน"


"ผมฟังเรื่องกระจายอำนาจมา 30 ปีแล้ว แต่มันไม่ได้ขยับไปไหนเลย จึงมาคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นมาออกแบบให้เสร็จเลยไหม ส่วนกลางลดอำนาจลง ให้เพิ่มอำนาจประชาชน กระทรวงต่างๆ เล็กลง และเขียนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้กระบวนการต่างๆ เปลี่ยนแปลงภายใน 2-3 ปี ไม่อย่างนั้นเราก็จะวนอยู่กับเรื่องเดิมๆ"


นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ก่อนเดินหน้าปฏิรูป ควรอย่างยิ่งที่จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเวทีเสวนาต่างๆ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ รวมทั้งพวกนักการเมืองที่เป็นต้นตอการทุจริต รวมถึงพวกข้าราชการซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในเรื่องธรรมาภิบาลด้วย เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยรับรู้ความคิดของภาคประชาชน


"สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ เราลงทุนเรื่องการศึกษาผิดพลาด เพราะเราไปลงทุนที่ระดับมัธยมกับมหาวิทยาลัย ทั้งที่ควรลงทุนไปที่เด็กแรกเกิดจนถึงประถมศึกษาให้มากที่สุด" นักวิชาการจากจุฬาฯ ระบุ และว่าการปฏิรูปการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะผลตอบแทนจะกลับมามหาศาล ปัญหาสังคมจะลดไปเยอะ


นายสมพงษ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน หลักการคือทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนกันอย่างมีความสุข ทุกวันนี้เด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนมากเกินไป ยังไม่นับรวมการที่ต้องไปนั่งเรียนพิเศษเสริมอีก ถ้าเราไม่เปลี่ยนหลักสูตร จะกลายเป็นการอัดความรู้


"เราต้องเปลี่ยนมาเรียนครึ่งวัน แล้วทำโครงงานอีกครึ่งวันแทน ขณะเดียวกันก็เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาให้สูงขึ้นกว่าเดิม"


ส่วนข้อเสนอการสร้างครูพันธุ์ใหม่ นายสมพงษ์ ชี้ว่า สาเหตุที่ประเทศฟินแลนด์ทำสำเร็จ เพราะทำในระบบปิด เน้นที่การปฏิรูปฝึกหัดครูเท่านั้น แต่ปัญหาที่ไทยจะทำ จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้แผนเลยว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง ระยะสั้นเป็นแบบไหน ระยะกลาง ระยะยาวเป็นอย่างไร เพราะการปฏิรูปต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไป


"สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยมักมองข้ามในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คือการสอนความเป็นพลเมืองให้กับเด็กและเยาวชน ให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย และต้องสอนอย่างต่อเนื่อง แต่สังคมไทยอยู่บนความไม่แน่นอน เชื่อว่าหลังยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องค่านิยม 12 ประการก็จะหายไป" นักวิชาการจากจุฬาฯ ระบุ


ขณะที่ น.ส.พลอยทิพย์ วณิชมณีบุษย์ เยาวชนจากกลุ่ม One Young World กล่าวว่า การศึกษาไทยเปรียบเหมือนผ้าขาว แต่สิ่งที่ทำให้มีปัญหา คือ ครู สภาพแวดล้อมทางสังคม และภาครัฐ


"ทุกวันนี้คนที่อยากเป็นครูหรือทำงานด้านการศึกษากลับไม่ใช่คนเรียนเก่ง เนื่องจากอาชีพครูเงินเดือนน้อย งานเยอะ ที่สำคัญบุคลากรครูบางส่วนไม่มีจิตใจรักอาชีพครู ไม่สนใจการเป็นผู้ให้ความรู้ แค่สอนให้เสร็จ ปล่อยเด็กไปเรียนพิเศษ"


เยาวชนจากกลุ่ม One Young World กล่าวด้วยว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้ในวาระใดวาระหนึ่ง หรือแค่ปีสองปี สิ่งที่เหมาะสมคือการวางรากฐานของเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย แต่ที่ผ่านมากลับมีแต่เรื่องฉันได้งบประมาณเท่าไร ประเทศไทยนั้นชัดเจนว่างานด้านการศึกษาได้รับงบประมาณสูงมาก แต่การวัดผลกลับมีข้อจำกัด


จึงสะท้อนได้เลยว่าเด็กไทยยังไม่มีคุณภาพ!