ปปท.ลงพื้นที่มหาสารคามตรวจทุจริตขุดลอก

ปปท.ลงพื้นที่มหาสารคามตรวจทุจริตขุดลอก

ป.ป.ท.ลงพื้นที่มหาสารคามสุ่มตรวจโครงการขุดลอกคลอง พบปมส่อใช้งบฯ ฟื้นฟูภัยพิบัติผิดประเภท อบต.เบิกงบฯ 10 ล้านขุดคลอง2กิโลเมตร

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) นำคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณขุดลอกบัวบึงในจ.มหาสารคาม ภายหลังป.ป.ท.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณไม่โปร่งใส โดป.ป.ท.สุ่มตรวจพื้นที่โครงการของอบต.ลาดพัฒนา และอบต.เลิงใต้ จ.มหาสารคาม พบข้อเท็จจริงส่อใช้งบฯผิดปกติจริง เนื่องจากสภาพพื้นที่หลายโครงการไม่ได้มีการขุดลอกดินตามปริมาณที่กำหนด หรือบางโครงการเป็นเพียงการขุดลอกผักตบชวาออกไปเท่านั้น สำหรับงบดังกล่าวมาจากโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติและสาธารณภัย วงเงิน 10,000 ล้านบาท ตรวจสอบพบมีการกระจายงบฯไปยัง 62 จังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของจ.มหาสารคาม ได้รับงบกว่า 134 ล้านบาท นำมาใช้ก่อสร้างจำนวน 18 โครงการ พฤติการณ์ที่ตรวจพบเช่นในพื้นที่อบต.ลาดพัฒนา ระยะทางเพียง 2 กิโลเมตรมีการแบ่งโครงการขุดลอกมากถึง 4 โครงการ ใช้งบกว่า 10 ล้านบาท เมื่อสอบถามถึงดินที่ขุดลอกว่านำไปไว้ที่ใดเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ ทั้งที่ตามข้อตกลงจะกำหนดปริมาณการขุดลอก ระยะทาง และความกว้างไว้ชัดเจน แต่สภาพที่พบเห็นเสมือนไม่เคยมีการขุดลอกหรืออาจขุดลอกแต่ไม่ได้ปริมาณตามสัญญา นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่มีการทำโครงการซ้ำซ้อนกับการขุดลอกของกรมทรัพยากรน้ำด้วย

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นป.ป.ท.ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการดังกล่าวมีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ไม่ใช่โครงการด่วน ไม่มีการสำรวจความเสียหายเพื่อจะได้คำนวณการใช้จ่ายที่เหมาะสมแต่เหมือนมีการทำโครงการเพื่อให้มีการเบิกจ่ายงบฯเท่านั้น หลังจากนี้ จะรวบรวมข้อเท็จจริงในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เพื่อเสนอคณะกรรมการป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการไต่สวน รวมถึงจะเสนอให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ดำเนินการตรวจสอบโครงการทั้งระบบที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 62 จังหวัดทั่วประเทศ เพราะถือเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยจะขอตรวจสอบเอกสารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในรายละเอียดโครงการทั้งหมดเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับโครงการดังกล่าวเฉพาะในพื้นที่จ.มหาสารคาม จำนวน 18 โครงการ พบว่ามีบริษัทที่เป็นคู่สัญญา 6 บริษัท ตามขั้นตอนอบต.ต้องเป็นผู้สำรวจความเสียหายเพื่อนำเสนอว่าควรแก้ไขอย่างไร พร้อมกำหนดปริมาณที่เหมาะและให้ช่างเป็นผู้รับรอง ก่อนเสนอไปยังจังหวัดเพื่อให้ส่งวิศวกรมาตรวจสอบรับรอง ก่อนส่งให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่ดำเนินการตามขั้นตอนแต่กลับได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ