อาหรับอ่วม'น้ำมันดิ่ง'รัฐอัดงบพยุงเศรษฐกิจ

อาหรับอ่วม'น้ำมันดิ่ง'รัฐอัดงบพยุงเศรษฐกิจ

อาหรับอ่วม "น้ำมันดิ่ง" รัฐอัดงบพยุงเศรษฐกิจ สูญรายได้ 3 แสนล้านดอลล์ -ชี้เข้าสู่ยุคศก.โตน้อยลง

"ไอเอ็มเอฟ" คาดน้ำมันดิ่งทำ "ตะวันออกกลาง-เอเชียกลาง" สูญรายได้ 300,000 ล้านดอลล์ปีนี้ นักวิเคราะห์ชี้ประเทศอ่าวเปอร์เซียเข้ายุคเศรษฐกิจโตน้อยลงแต่ไม่ถึงซบเซา เหตุรัฐนำทุนสำรองทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน


รอยเตอร์เผยสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 17 คน ที่มองว่าราคาน้ำมันที่ดิ่งลงในตลาดโลกจะฉุดรั้งให้ประเทศส่วนใหญ่ในอ่าวเปอร์เซีย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงปีนี้ แต่การใช้จ่ายอย่างหนักภาครัฐและกิจกรรมภาคเอกชนจะป้องกันเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวมากนัก
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า รายได้การส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียปีนี้จะลดเหลือ 213,000 ล้านดอลลาร์ แทนที่จะได้ 290,000 ล้านดอลลาร์ในการคาดหมายครั้งก่อนเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ประมาณ 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขณะที่น้ำมันเบรนต์ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 57 ดอลลาร์


ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าการขาดทุนผลจากส่งออกน้ำมันได้ในราคาต่ำลง จะทำให้ประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง สูญเสียรายได้ไป 300,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันจะได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงกาตาร์ อิรัก ลิเบีย และซาอุดีอาระเบีย


ไอเอ็มเอฟคาดว่าประเทศส่งน้ำมันเกือบทุกประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง จะขาดดุลงบประมาณปีนี้ พร้อมปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลง 1% เหลือ 3.4% ปีนี้


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าประเทศในอ่าวเปอร์เซียจะสามารถนำทุนสำรองที่สะสมมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อนำเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ อันจะหนุนนำเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย นอกจากนั้น การใช้จ่ายที่แข็งแกร่งของผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ก็คาดว่าจะชดเชยรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลงเช่นกัน

ซาอุฯโตได้ 3.2%
นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบีย จะเติบโตได้ 3.2% ปีนี้ จาก 3.95% เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 3.2%
นายไซมอน วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอชเอสบีซีประจำอ่าวเปอร์เซีย กล่าวว่า ประเทศแถบนี้เผชิญรายได้จากน้ำมันที่ลดลง แต่หนี้สินของแต่ละประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมากจะช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ได้


"ผู้ผลิตพลังงานในตะวันออกกลางดูเหมือนไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนักจากรายได้น้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่เคยทรุดตัวลงเมื่อปี 2551" นายวิลเลียมส์ระบุ


สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่โต 4.3% เมื่อปีที่แล้ว คาดว่าจะชะลอลงเหลือ 3.8% ปีนี้ เพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย อย่างดูไบที่พึ่งพาอุตสาหกรรมมากมายรวมถึงท่องเที่ยวและการค้าสินค้ามากกว่าน้ำมัน


ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของกาตาร์ คาดจะโต 6.5% ปีนี้และปีหน้า เพราะรัฐบาลทุ่มงบใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งกาตาร์ยังมีรายได้ส่วนใหญ่จากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาไม่ทรุดตัวเหมือนน้ำมันดิบ ล่าสุดการ์ตาจัดทำงบประมาณปัจจุบันบนพื้นฐานคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แหล่งข่าวเผยว่ากาตาร์ไม่ได้ทำการซื้อขายแบบทันทีเหมือนซาอุดีอาระเบียประเทศอื่นทำ แต่กาตาร์ทำสัญญาระยะยาว และหากราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับประมาณนี้ก็สามารถรับมือกับการขาดดุลไปได้อีก 3-4 ปี


ส่วนโอมานกับบาห์เรนนั้น คาดว่าจะประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไปได้ช่วง 2 ปีหน้า คาดว่าจีดีพีโอมานปีนี้จะอยู่ที่ 3.5% ปีหน้า 3.2% สำหรับบาห์เรนคาดว่าจะโต 3.2% ปีนี้ และ3% ปีหน้า


ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีของอิหร่าน กล่าวว่าอิหร่านจะรับมือกับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจผลจากราคาดิ่งลงได้ เพราะคาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐเพียง 1 ใน 3 ของปีหน้า จะมาจากรายได้น้ำมัน

ผู้บริโภคยังจับจ่าย
ในท่ามกลางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลง การจับจ่ายของคนในตะวันออกกลางยังคึกคัก ร้านจารีร์ ร้านค้าปลีกชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย รายงานยอดขายไตรมาส 4 ปีที่แล้วพุ่งขึ้น 20% การสำรวจผู้จัดการจัดซื้อช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้วในซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่า ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องน้ำมัน เติบโตในระดับเดียวกับช่วงเดือนมิ.ย.


นายไอยาด มาลัส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมาจิด อัล ฟัตเตมโฮลดิง เจ้าของห้างสรรพสินค้าชั้นนำและธุรกิจสันทนาการของอ่าวเปอร์เซีย กล่าวว่า ภาคธุรกิจในภูมิภาคไม่แน่ใจนักเกี่ยวกับราคาน้ำมัน แต่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้แข็งแกร่ง
"เริ่มมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มากขึ้น และภาครัฐก็ใช้จ่ายต่อเนื่อง คาดว่ายอดขายปลีกจะไม่ลดลงปีนี้ไม่ว่าจะในซาอุดีอาระเบียหรือที่อื่นๆ" นายมาลัสกล่าว


ทั้งนี้ นายเจสัน ทูเวย์แห่งบริษัทแคปิตอลอีโคโนมิก ประเมินว่า หากน้ำมันดิบเบรนต์เฉลี่ยที่บาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ปีนี้ ประเทศในอ่าวเปอร์เซียจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรวมกัน 60,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หากน้ำมันเฉลี่ยที่ 110 ดอลลาร์ก็จะได้ดุล 300,000 ล้านดอลลาร์ แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำมันของอ่าวเปอร์เซีย ลดผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของราคาน้ำมันต่อสภาพเศรษฐกิจ เพราะรายได้จากการส่งออกน้ำมันไม่ได้ไหลเข้าสู่ภาคเอกชนโดยตรง แต่ไหลไปยังภาครัฐ ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจว่าจะนำรายได้ส่วนนี้มาใช้จ่ายอย่างไร มากน้อยเท่าไร
ทั้งนี้ หมายความว่าปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไม่ใช่ราคาน้ำมัน แต่เป็นนโยบายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คำประกาศหลายประเทศสะท้อนการใช้จ่ายอาจลดลงปีนี้ แต่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่มีแผนเพิ่มใช้จ่ายประจำปีนี้ 0.6% ดูไบเพิ่มใช้จ่าย 9% และโอมานมีแผนเพิ่มใช้จ่ายภาครัฐ 4.5%


คูเวตลดอุดหนุนดีเซล
ขณะที่บางประเทศใช้ประเด็นราคาน้ำมันที่ดิ่งลง เป็นข้ออ้างขึ้นภาษีหรือลดเงินอุดหนุน แต่ไม่ถึงขั้นออกมาตรการรัดเข็มขัด อย่างคูเวตที่ลดเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลลง แต่ไม่ลดเงินอุดหนุนเบนซิน ส่วนอาบูดาบีขึ้นค่าสาธารณูปโภค


บริษัทแคปิตอลอีโคโนมิกคำนวณว่า ทุนสำรองมหาศาลของประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้ประเทศเหล่านี้รับมือการขาดดุลได้หลายปี อย่างทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและสินทรัพย์ในกองทุนบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มสภาอ่าวเปอร์เซีย มีมูลค่ากว่า 160% ของจีดีพี ขณะที่วาณิชธนกิจ วีทีบีประเมินว่า ระดับราคาน้ำมันที่ 60 ดลอลาร์ จะยังสามารถทำให้ประเทศยักษ์ใหญ่ในอ่าวเปอร์เซียอุดหนุนการใช้จ่ายภาครัฐในระดับปัจจุบันไปได้ 2-5 ปี หรือรับมือการขาดดุลงบประมาณไปได้ 4-14 ปี