นวัตกรรมในนาข้าว

นวัตกรรมในนาข้าว

มหาวิทยาลัยรังสิตปีที่30 วางเป้าหมายสู่ขุมพลังปัญญาของชาติ หยิบปัญหาชาวนามาเป็นโจทย์ให้สาขาวิชาต่างๆ แสดงปัญญ

มหาวิทยาลัยรังสิตคัดเลือกชุมชนหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นำร่องเข้าร่วมโครงการ “นวัตกรรมนาข้าว ชาวนาอัจฉริยะ” บูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมเกษตร ส่งเสริมให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ในรูปแบบสังคมสวัสดิการและการเกษตรแบบครบวงจร

ข้าวอินทรีย์บรรจุถุง 3 ประเภทคือ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวขาวขัดมัน เป็นผลผลิตข้าวที่มีความปลอดภัยสูงจากโครงการนำร่อง ส่งเข้ามาจำหน่ายผ่านศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัย ทั้งยังประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ครอบคลุมทั้งการออกแบบตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและหาช่องทางการจัดจำหน่าย

ขุมพลังปัญญาของชาติ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" วางเป้าหมายมหาวิทยาลัยที่กำลังเข้าสู่ขวบปีที่ 30 เป็น "ขุมพลังปัญญาของชาติ" การศึกษาต้องไม่แยกออกจากบริบทของสังคม โดยหยิบปัญหาของชาวนามาเป็นโจทย์ให้สาขาวิชาต่างๆ ร่วมขบคิด

รศ.ดวงพร สุวรรณกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนาข้าวอัจฉริยะเป็นการนำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างมาผสมผสานให้เป็นการเกษตรแบบแม่นยำสูง

อาทิ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการฯ ให้คำปรึกษาเรื่องการปฏิบัติการในแปลงนาโดยยังคงวิธีการเดิมของชาวนา ส่วนวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ดูแลเรื่องการจัดสร้างโรงเรือน ติดตั้งเครื่องอบลดความชื้น เครื่องสีข้าวและเครื่องบรรจุภัณฑ์ คณะบริหารธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อยกระดับฐานะของชาวนา โดยร่วมกับชมรมทำนาหนองสาหร่ายสร้างโรงสีข้าวครบวงจร โดยมหาวิทยาลัยสนับสนุนด้านการบริการวิชาการและการลงทุนเบื้องต้น รวมทั้งจัดทำแผนสวัสดิการของกลุ่มชาวนาเพื่อบริหารจัดการผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมและการผ่อนชำระ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน

"คณทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลดิน แหล่งน้ำและกิจกรรมการเกษตรต่างๆ ในชุมชน เช่น ที่หมู่1 มีโรงงานผลิตปุ๋ยเม็ดอินทรีย์ หมู่4 มีสถาบันการเงินและธนาคารความดี ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ (หมอดินประจำตำบล) หมู่6 มีตลาดกลางสำหรับขายข้าวเปลือกให้แก่เจ้าของโรงสีในหมู่บ้าน ส่วนหมู่9 มีเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก แต่ประสิทธิภาพต่ำ มีเปอร์เซ็นความแตกหักของข้าวสูงและสีข้าวแค่พอรับประทานได้ในครอบครัว" รศ.ดวงพร กล่าว

ทั้งยังพบปัญหาเช่นเดียวกับชาวนาอื่นๆ คือต้นทุนการผลิตสูง เช่น ข้าวนาหว่านพันสุพรรณบุรี 1 ต้นทุนเฉลี่ย 5,728 บาทต่อไร่ นาปักดำข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ต้นทุนเฉลี่ย 4,690 บาทต่อไร่ ขณะที่ข้าวเปลือกมีราคาต่ำเนื่องจากมีค่าความชื้นสูง จึงไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

ผลผลิตท้องนาสู่มหาวิทยาลัย

การดำเนินโครงการนวัตกรรมนาข้าวฯ โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากคณะต่างๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อน เช่น ศูนย์วิจัยฯ ได้จัดนักวิชาการคอยติดตามและบันทึกข้อมูลตั้งแต่การเตรียมแปลงนา การหว่าน ปักดำ การดูแลจัดการแปลงนา รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องต่างๆ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเน้นที่นาอินทรีย์ปลอดสารพิษ

ขณะที่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ออกแบบและสร้างอาคารโรงสี ติดตั้งเครื่องอบลดความชื้น และเครื่องสีข้าวรวมถึงเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องในการผลิตข้าวกล้อง ข้าวขัดขาวและข้าวขัดมัน โดยเครื่องอบลดความชื้นจะอบด้วยลมร้อนจากเตาเผาเชื้อเพลิงจากแกลบ ซึ่งอบข้าวได้ 4 ตันต่อวัน

เครื่องสีข้าวมีกำลังการผลิต 2.5 ตันต่อวัน พร้อมคัดขนาดได้ข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานข้าวไทย ซึ่งภายในเครื่องสีข้าวจะประกอบด้วยเครื่องทำความสะอาดและกำจัดสิ่งเจือปน เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก เครื่องขัดขาว เครื่องขัดมัน เครื่องคัดขนาดและบรรจุถุง โดยเป็นระบบอัตโนมัติ

ส่วนคณะบริหารธุรกิจดูแลด้านวิชาการเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้ผลิตวัตถุดิบมาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าสำเร็จรูป ทั้งยังมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการจัดทำงบการเงิน การคาดการณ์ต้นทุนรายได้จากผลประกอบการ และระยะเวลาในการคืนทุน

กิจกรรมข้างต้นนี้ปูทางสู่เป้าหมายสูงสุดที่ ดร.อาทิตย์ ต้องการเห็นคือ "ชาวนาอัจฉริยะ" ต้องอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไป