เกาะรถไฟ...ไปมองโกล

เกาะรถไฟ...ไปมองโกล

การนั่งรถไฟทรานส์มองโกเลียจากปักกิ่งไปมองโกเลีย เป็นอีกสิ่งในชีวิตที่ขอแนะนำคนชอบเที่ยว

ถ้าจะนั่งเครื่องไปลงที่สนามบินเจงกีสข่าน เพื่อเข้าเมืองอูลาน บาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ก็ง่ายนิดเดียว แต่ถ้าต้องการเดินทางเพื่อที่จะได้เห็นมองโกเลียที่แท้จริง ต้องนั่งรถไฟสายทรานส์มองโกเลีย...

บอกได้คำเดียว "ไม่ผิดหวัง"

ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย เชื่อมต่อระหว่างมอสโกของรัสเซีย มองโกเลีย และจีน เป็นเส้นทางที่หลายคนใฝ่ฝันอยากเดินทางแบบนี้สักครั้งในชีวิต และก็เป็นโอกาสเมื่อธนาคารกสิกรไทย จัดทริป THE PREMIER : Experience in Mongolia ให้ลูกค้า เพื่อให้พวกเขามีโอกาสเดินทาง ซึ่งแตกต่างจากที่เคยทำ

แตกต่างแค่ไหน...อย่างไร...มีเรื่องวัดใจไหม...

อึ่ม ! ไปกันเลย...รถไฟสายทรานส์มองโกเลีย รออยู่ที่สถานีรถไฟปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

1.

มีคนมากมายจอแจ เป็นสิ่งที่พบเห็นในสถานีรถไฟปักกิ่ง บัตรโดยสารได้ถูกจัดการซื้อไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงสองเท้าก้าวต่อไป

เราจะใช้ชีวิตอยู่ในตู้รถไฟโบกี้ K 23 หนึ่งวันเต็มๆ ภายในโบกี้สะอาดสะอ้าน ดีกว่ารถไฟไทยหลายเท่า มีห้องพักสองคนเตียงล่างและเตียงบน ห้องน้ำในตัว แต่ยากจะอาบน้ำได้ ดูสะดวกสบาย เหมาะกับการชมวิว ไม่ว่าจะนั่งนอนเตียงล่างหรือเตียงบน ทิวทัศน์ข้างทางที่ไปนั้น อยู่กับเราตลอดทั้งวัน

รถไฟสายทรานส์มองโกเลียที่เราเดินทางครั้งนี้ เป็นสายรองของเส้นทางทรานส์ไซบีเรีย โดยจะแยกจากสายหลักที่เมืองอูลานอูเด เพื่อเข้าสู่มองโกเลีย เพื่อแวะที่เมืองอูลานบาตอร์ โดยจอดสถานีหลักๆ ประมาณ 10-15 นาที ค่าตั๋วจากปักกิ่งเดินทางมามองโกเลียประมาณ 4,500 บาท ต้องจองตั๋วล่วงหน้าสักหนึ่งเดือน

ว่ากันว่า เส้นทางรถไฟสายหลักไซบีเรียสร้างเมื่อปีค.ศ.1891 สร้างเสร็จในปีค.ศ. 1905 เป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียสมัยนั้น อยากให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อพัฒนาประเทศ และให้คนทั้งโลกได้รู้จักดินแดนหมีขาว

เส้นทางหลักๆ มี 4 เส้น คือ สายทรานส์ไซบีเรีย จากมอสโกไปยังเมืองวลาดีวอสตอค ผ่านทางใต้ของไซบีเรีย ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน, สายทรานส์แมนจูเรีย จากตาร์สกายาทรานส์แมนจูเรียไปปักกิ่ง ,สายทรานส์มองโกเลีย จากปักกิ่งไปอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย โดยบรรจบกับสายสายทรานส์ไซบีเรียที่เมืองอูลานอูเด และเส้นทางสุดท้าย สายทรานส์ไซบีเรียไปทางตะวันตกของทะเลสาบไบคาลที่สวยงามและผ่านดินแดนต้องห้ามของรัสเซีย

พวกเราเดินทางบนเส้นทางทรานส์มองโกเลีย มุ่งหน้าไปทางใต้ของเมืองอูลานบาตอร์

การอยู่บนรถไฟ 29 ชั่วโมง หลายคนถามว่า จะทำกิจกรรมอะไรกัน...รูมเมทร่วมห้องของฉัน พบพาหนังสือเล่มใหญ่มาสองเล่ม พร้อมขนมขบเคี้ยวอีกมากมาย ส่วนอีกห้องมีไพ่สำรับหนึ่ง ล้อมวงเล่นกันในยามว่าง พวกเราเป็นคนไทยกลุ่มเดียว นอกนั้นเป็นชาวตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมออกมาถ่ายภาพ ชมทิวทัศน์เป็นระยะ เป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า

ถ้าอยากรู้จักมองโกเลีย และเข้าใจนักรบเจงกีสข่านที่ขยายดินแดนออกไปกว้างไกลทั่วโลก ทำไมเขาสามารถทำได้ ถ้าเดินทางบนเส้นทางนี้ ก็จะได้เห็นทะเลทรายโกบี ทุ่งหญ้าสเตปป์ และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ก็จะเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์มากขึ้น และน่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสนั่งรถไฟไปถึงรัสเซีย

ตอนที่รถไฟวิ่งอยู่ในเขตแดนของจีน ตู้เสบียงอาหารก็เป็นสไตล์จีน รสชาติไม่ค่อยอร่อย หลักๆ คือ ผัดผัก อาจจะเปลี่ยนชนิดผักให้ดูเหมือนมีอาหารหลากหลายชนิด แต่จริงๆ แล้วเป็นอาหารเหมือนเดิม และช่วงโค้งสุดท้ายระหว่างชายแดนจีน-มองโกเลีย ก่อนรถไฟจะออกไปวิ่งในเขตมองโกเลีย ช่วงตี 1 แม้จะง่วงเพียงใด เมื่อรถไฟจอดสถานี ทุกคนต้องลงจากรถไฟ เพื่อตรวจวีซ่าออกนอกเขตจีน ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

แต่ที่น่าแปลกและเป็นการเดินทางไม่เหมือนใครคือ เมื่อเข้าเขตมองโกเลีย เจ้าหน้าที่มองโกลจะขึ้นมาตรวจเอกสารผ่านแดนบนรถไฟ ใช้เวลาไม่นาน โดยพวกเขาจะเข้ามาปลุกผู้โดยสารถึงห้องพัก เพื่อตรวจเอกสาร และเมื่ออยู่ในเขตมองโกเลีย ตู้เสบียงอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นตู้ไม้ เพื่อบริการอาหารมองโกล คราวนี้จะหาผัดผักรับประทานได้ยากมาก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแพะ สำหรับคนไม่ชอบกิน ก็จะได้กลิ่นสาบๆ

ว่าไปแล้ว การเดินทางด้วยรถไฟข้ามประเทศเป็นการเดินทางที่แปลกใหม่ อย่างน้อยๆ ก็ได้เห็นทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ ฝูงสัตว์ และรู้ซึ้งถึงความอดทนของคนมองโกลที่สามารถรบชนะนานาประเทศในอดีตกาล เนื่องจากเคยชินกับความหนาวติดลบ และการใช้ชีวิตในทุ่งหญ้า ซึ่งมองโกเลียมีฤดูหนาวถึง 8 เดือน

2.

หลังจากนั่งรถไฟมาเนิ่นนาน เมื่อมาถึงสถานีอูลาน บาตอร์ ได้มาเจอบรรยากาศแบบเมืองๆ ก็ให้ความรู้สึกอีกแบบ คราวนี้รถมุ่งหน้าพาพวกเขาไปสัมผัสธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเทอเรลจ์ ออกนอกเมืองเห็นภูเขาสูง กระโจม และฝูงสัตว์ในทุ่งหญ้าเป็นระยะ เป็นสิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดในทริปนี้ก็ว่าได้

คนจีนกับคนมองโกลมีความละม้ายคล้ายกันมาก ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะแยกแยะไม่ออก

คนมองโกลส่วนใหญ่ยากจน เนื่องจากมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า และประเทศนี้มีทะเลทรายและทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ ทำให้เพาะปลูกได้ยาก แม้รัฐจะพยายามพัฒนาการเกษตร แต่ก็ยังขยายพื้นที่ได้ไม่มากนัก ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มามองโกเลีย ถ้าคิดจะรับประทานอาหารถูกปากถูกใจ คงต้องลืมไปเลย อาหารส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสัตว์ ผักค่อนข้างหารับประทานได้ยาก

เส้นทางไปสู่อุทยานแห่งชาติ เป็นเส้นทางที่มีสีสัน เหมือนเช่นที่ไกด์มักจะพูดถึงเสน่ห์ของที่นี่ว่า ถ้าได้เห็นเส้นขอบฟ้าตัดกับทุ่งหญ้าสีเขียว ก็จะรู้ว่า ที่นี่งดงามเพียงใด

ใช่เลย...งดงามมาก เป็นธรรมชาติที่หาดูได้ยาก เขียวของทุ่งหญ้าดูสดชื่นเกินกว่าจะบรรยาย

ทุ่งหญ้าที่ไร้ต้นไม้ใหญ่ เรียกกันว่า ทุ่งหญ้าสเตปป์ จะพบเห็นได้มากในมองโกเลีย บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าแห้งๆ บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าป่าผสม ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสถานที่ที่คนมองโกลคุ้นเคย ในอดีตเวลาออกรบ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด พวกเขาก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ เพราะความคุ้นเคยที่อยู่กับทุ่งหญ้ามาทั้งชีวิต

ทุ่งหญ้ากับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นของคู่กัน ที่เราจะได้พบเห็นทุกที่ในประเทศที่มีสัตว์เลี้ยงกว่า 50 ล้านตัว

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดถึงคือ กระโจมแบบมองโกล หรือเรียกว่า เกอร์ ที่พักดั้งเดิมของชาวมองโกล เนื่องจากเป็นชนเผ่าเร่ร่อน พวกเขาจึงต้องสร้างที่พักที่เคลื่อนย้ายง่ายเหมาะกับสภาพอากาศ เกอร์ทำจากผ้าใบเคลือบไขมันสัตว์ ในฤดูหนาวพวกเขาจะตั้งเกอร์หลบลมหลังเขา ฤดูฝนย้ายขึ้นที่สูง และฤดูร้อนตั้งอยู่ใกล้ริมธาร

ในอุทยานแห่งชาติที่หนาวเย็น พวกเราพักในเกอร์ทรงกลมๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่พวกเขาใช้มาหลายทศวรรษ ต้านลมแรงได้ดี แค่มีเสาสองต้นตรงกลางเพื่อรับน้ำหนัก ด้านบนเป็นโครงไม้โปร่งๆ ไม่มีหน้าต่าง เพราะมองโกลลมแรง อากาศหนาวมาก ภายในกระโจมมีเตาหินไว้ผิงไฟ โดยช่วงกลางคืนจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจุดเตาผิงไฟให้ และไม่นึกว่า กระโจมแบบนี้จะนอนได้อุ่นและสบาย ภายในกว้างสามารถตั้งเตียงได้สามเตียง

เนื่องจากเกอร์มีหน้าตาเหมือนกัน แม้จะมีเลขหน้ากระโจม แต่ก็มีบางคนเดินเข้ากระโจมผิด โชคดีที่ต่างเป็นมิตรสหายคุ้นเคยกันแล้ว และค่ำๆ อากาศเป็นใจ นักท่องเที่ยวจะเอาเก้าอี้มานั่งล้อมวงหน้าเกอร์ จิบชาร้อนๆ และดื่มเบียร์ ท่ามกลางความเงียบ มีเสียงหัวเราะและบทสนทนาเป็นระยะ

อากาศหนาวเย็นเช่นนี้ หลังอาหารเย็นจึงเป็นช่วงที่หลายคนคุยกันสนุกสนาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าจากไกด์ชาวจีน ช่วงที่อยู่มองโกล เราก็จะได้ยินเรื่องเจงกีสข่านอยู่เรื่อยๆ เป็นความภูมิใจของคนมองโกล กับเรื่องราวนักรบที่ใช้เวลาอยู่บนหลังม้ากว่า 14 ปี

นอกจากเป็นนักรบ ยังเป็นนักรัก และมีจิตวิทยาในการสู้รบไม่เหมือนใคร เขาจะเกณฑ์ไพร่พลจากประเทศอื่นเข้าร่วมกองทัพ ถ้าเป็นช่างฝีมือ มีความรู้ความสามารถก็จะถูกส่งกลับมองโกเลีย

แม้จะแค่หนึ่งคืนในอุทยานแห่งชาติ ก็เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในทุ่งหญ้า เพราะระหว่างทาง ยังได้มีโอกาสแวะชมถ้ำสามยิวและหินเต่า ซึ่งมีเรื่องเล่าอีกว่า ถ้ำใต้หินเต่า ในยุคที่มองโกลเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกปกครองโดยรัสเซีย รัฐบาลมองโกลไม่อยากให้มีศาสนา ยุคนั้นลามะในพุทธศาสนาต้องเดินทางมาหลบภัยในถ้ำแห่งนี้

3.

ว่ากันว่า ชาวมองโกลส่วนใหญ่นับถือพุทธ นิกายลามะ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทิเบต ยังมีร่องรอยของพุทธศาสนาในมองโกเลีย ที่มีโอกาสได้เห็นคือ วัดกานดาน พระอารามพุทธมหายานทิเบต ซึ่งเป็นวัดใหญ่ที่สุดของประเทศ สร้างในปี ค.ศ.1835 แต่ในยุคหนึ่งถูกปิด เนื่องจากสตาลินสั่งให้ทำลายวัดทั่วประเทศ รวมถึงกำจัดลามะ แม้ที่นี่จะถูกทำลาย แต่ก็สร้างใหม่โดยใช้ต้นแบบเดิม ซึ่งภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร สูงถึง 20 เมตร รอบๆ มีกงล้อมนตราให้หมุนภาวนา

อีกสถานที่ที่ฉันชอบ เพราะได้ยืนบนที่สูงชมทิวทัศน์ คือ อนุสรณ์สถานแห่งการต่อสู้ไซซาน เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองอูลานบาตอร์ทั้งเมือง ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารมองโกเลียที่ร่วมรบกับทหารรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง และที่พลาดไม่ได้คือ จัตุรัสซุคบาตอร์กลางเมือง สร้างขึ้นสมัยโซเวียตรัสเซียเรืองอำนาจ เป็นสถานที่ใหญ่โตมีอนุสาวรีย์วีรบุรุษซุคบาตอร์ ลานหินกว้างใหญ่เหมือนจัตุรัสในรัสเซีย ที่นี่เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่ง เวลามีการจัดงานสำคัญ มักเลือกจัตุรัสแห่งนี้

เมื่อหลายคนถามว่า คนมองโกลมาเที่ยวจัตุรัส...กันทำไม ไม่เห็นมีอะไรให้ดู มีคอนเสิร์ตเสียงดังๆ ร้านค้าไม่กี่ร้าน แต่พวกเขาก็มาเที่ยวเยอะมาก จนมีคนบอกว่า พวกเขาออกมาดูซึ่งกันและกัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว บางทีทางเลือกของความสุขก็อาจง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง

เหมือนเช่นที่กล่าว การเดินทางมามองโกล ถ้าจะชอปปิง เที่ยวกิน ดิ้น ดื่ม และหาของแปลกๆ ฝากญาติสนิทมิตรสหาย หาที่นี่ไม่ได้ แต่ถ้าต้องการความแปลกใหม่ในการท่องเที่ยว เห็นเด็กมองโกลอายุไม่กี่ขวบขี่ม้า เห็นผู้หญิงมองโกลวัยสาวหรือวัยกลางคนยิ่งธนู เห็นเส้นขอบฟ้าสีสดๆ ตัดทุ่งหญ้า มีอยู่ในมองโกเลีย

หากเข้าใจประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมแบบมองโกล ก็จะเข้าใจว่า ทำไมคนมองโกลภาคภูมิใจในเจงกีสข่าน นักรบผู้เลื่องลือในประวัติศาสตร์โลก

...........................

การเดินทาง

ถ้าจะไปมองโกเลีย ขอแนะนำสายการบินแอร์ ไชน่า มาลงที่ปักกิ่ง บินต่อไปอูลานบาตอร์ มองโกเลียใช้เเวลา 3 ชั่วโมง

ถ้าจะเดินทางโดยรถไฟทรานส์มองโกเลีย จะออกเดินทางทุกวันอังคาร พุธและเสาร์เพียงวันละเที่ยว ซึ่งเป็นสายรองของเส้นทางทรานส์ไซบีเรีย โดยใช้เวลาเดินทางต่อเนื่อง 29 ชั่วโมง ผ่าน 9 สถานีหลัก รวมระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร ภายในรถไฟสะดวกสบาย สะอาด มีห้องนอนเตียงบนและล่างแบบ 2 คนและ 4 คน มีตู้เสบียงอาหาร ต้องจองล่วงหน้า ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้ที่ www.asiantraveladventures.com และ www.mongoliatoday.com

-ฤดูกาลที่เหมาะกับการท่องเที่ยวคือ เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เนื่องจากไม่หนาวเกินไป

-สถานทูตมองโกเลีย ประจำประเทศไทย อยู่ซอยอาราธนา สุขุมวิท 21 เปิดทำการช่วงเวลา 10.00-12.00 น. เบอร์ติดต่อ 0 2640 8017