‘ค่าแรง 400’ วัดใจ 'พท.-ภท.' เข็นเรือธง โกยเรตติ้ง

‘ค่าแรง 400’ วัดใจ 'พท.-ภท.'  เข็นเรือธง โกยเรตติ้ง

 “ค่าแรง400” รับกระแส “วันแรงงาน” 1 พ.ค.2567 สัญญาประชานิยม "นายกฯเศรษฐา" จับตาเรือธงแดงในวันที่กระทรวงจับกังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "ภูมิใจไทย"พรรคร่วมรัฐบาล

เอฟเฟกต์หลังปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดเศรษฐา 2 ยังคงทิ้งไว้ซึ่งแรงกระเพื่อมในขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่รอบนี้เรียกได้ว่า “เขย่าใหญ่” แน่นอนว่า แรงกระเพื่อมก็ย่อมมีสูงตามไปด้วย

เมื่อจุดโฟกัสใหญ่ของการปรับ ครม.อยู่ที่การเขย่าใหญ่ “พรรคแกนนำ” ไม่แปลกที่โผครม.เศรษฐารอบนี้ แรงกระเพื่อมจะไม่ลุกลามไปที่ลำดับ 2 นั่นคือ “พรรคภูมิใจไทย”

ทั้งที่เวลานี้ “ภูมิใจไทย” กำกับดูแลกระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ในเรื่อง “ค่าแรง” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรือธงที่พรรคแกนนำให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แถมก่อนหน้านี้ยังถูกจับตาว่า อาจเป็นเป้าหมายที่พรรคแกนนำจะเข้าควบคุมอำนาจ

โฟกัสไปที่นโยบาย “ค่าแรง” รับกระแส “วันแรงงาน” 1 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นหนึ่งใน“เรือธงแดง” ลำดับต้นๆ ที่เพื่อไทยใช้ประโคมโหมโรงตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2566 

เวลานั้น “พรรคเพื่อไทย” ชูนโยบายในหมวดค่าแรง ทั้งสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง รายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นต้น

‘ค่าแรง 400’ วัดใจ \'พท.-ภท.\'  เข็นเรือธง โกยเรตติ้ง

ขณะที่ “พรรคภูมิใจไทย”  อาจไม่ได้โฟกัสไปที่นโยบายค่าแรงโดยตรง แต่โฟกัสไปที่นโยบายในหมวดเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายสร้างงานดี 10 ล้านตําแหน่ง เพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างแรงจูงใจพัฒนาศักยภาพแรงงาน รวมไปถึงหมวดนโยบายลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ อาทิ นโยบายพักหนี้ เป็นต้น 

ถัดมาในวันแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 12 พ.ย.2566 “เศรษฐา ทวีสิน” ประมุขฝ่ายบริหาร ประกาศกร้าวกลางสภาฯ ในวันดังกล่าว “มีเป้าหมายที่ 400 บาทโดยเร็วที่สุด” 

‘ค่าแรง 400’ วัดใจ \'พท.-ภท.\'  เข็นเรือธง โกยเรตติ้ง

ทว่าจนถึงเวลานี้ซึ่งย่างเข้าสู่วงรอบ 7 เดือนรัฐบาล กลับคืบหน้าเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเพียง “10จังหวัด” โดยทั้ง 10 จังหวัดเป็นการขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ในแต่ละจังหวัด 

ไล่เรียงตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภท "กิจการโรงแรม" เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เม.ย.2567 นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัด 10 จังหวัด 

ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จ.กระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จ.ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา 4.จ.เชียงใหม่เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จ.ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน  

6.จ.พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก  7.จ.ภูเก็ต 8. จ.ระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ 9.จ.สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ 10.จ.สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

‘ค่าแรง 400’ วัดใจ \'พท.-ภท.\'  เข็นเรือธง โกยเรตติ้ง

ต้องจับตา “สัญญาประชานิยม” ค่าแรง 400 บาทที่นายกฯ เศรษฐาหวังผลักดันเป็นผลงานชิ้นโบแดง เรียกเรตติ้งตุนคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งรอบหน้า 

แต่ในยามนี้กระทรวงแรงงานอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลคือ “ภูมิใจไทย” มิหนำซ้ำวันก่อน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เจ้ากระทรวงจับกังยังโหมโรงเตรียม “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในวันแรงงาน 1 พ.ค. ประกาศค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท

“พิพัฒน์” ยังบอกว่า ขอให้จับตา “วันที่ 14 พ.ค. ที่จะมีการประชุมไตรภาคี และนำเสนอว่าเป็นเดือนต.ค. ส่วนวันที่ 1 พ.ค.เป็นการประกาศในภาพรวมทั้งประเทศ 400 บาท ซึ่งจะมีผล 1 ต.ค.นี้”

ต้องจับตาอีก 5 เดือนข้างหน้าซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าคิกออฟค่าแรง 400 บาททุกภาคธุรกิจให้ได้ ระหว่างทางจะมีปัจจัยแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ 

หลากหลายนโยบายรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ หนึ่งในนั้นคือนโยบายค่าแรง ซึ่งเป็นเรือธงสำคัญของพรรคแกนนำในลำดับต้นๆ แม้บรรดา “บิ๊กเนมรัฐบาล” จะพยายามประสานเสียงบอกว่า เป็นผลงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ในวิถีการเมืองแล้ว ถึงเวลาเลือกตั้งต่างฝ่ายก็จะหาเสียงแบบ พรรคใครพรรคมัน ไม่มีใครยอมใคร!!