ผู้ว่าฯลงพื้นที่เก็บข้อมูล'สนามบินวังยาง'

ผู้ว่าฯลงพื้นที่เก็บข้อมูล'สนามบินวังยาง'

ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล"สนามบินวังยาง"ถูกปล่อยทิ้งเกือบ40ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูล ตรวจสอบสภาพโดยรวมของท่าอากาศยานอุตรดิตถ์หรือสนามบินวังยาง ตั้งอยู่ที่บ้านวังยาง หมู่ 2 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นสนามบินพาณิชย์เก่า ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2518 หรือ 39 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน และ กระทรวงคมนาคม มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางอากาศทั่วประเทศ เตรียมพัฒนาสนามบินภูมิภาคใหม่ 6 แห่ง ด้วยเงินงบประมาณปี 2558 กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเติบโตในภูมิภาคและต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมาถึงในปี 2558 ซึ่งสนามบันวังยาง เป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว

นายชัช กล่าวว่า สนามบินวังยางอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 อุตรดิตถ์–เขื่อนสิริกิติ์ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าสภาพทั่วไปของสนามบินวังยางยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์บนเนื้อที่ 1,085 ไร่ โดยเฉพาะความแข็งแรงของรันเวย์ลาดยาง ที่มีความยาว 1,600 เมตรกว้าง 30 เมตร ในส่วนของสิ่งก่อสร้างอื่น เช่น อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ทั้งนี้ สามารถพัฒนาปรับปรุงเป็นสนามบินพาณิชย์ได้ โดยในระยะแรกสำหรับเครื่องบิน 40-50 ที่นั่ง รองรับผู้โดยสารนักธุรกิจ ราชการ และประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีมากกว่า 4 แสนคน ปัจจุบันต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมงเพื่อใช้บริการที่สนามบินจังหวัดพิษณุโลก ด้านเศรษฐกิจ สามารถรองรับการค้าชายแดน โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีด่านการค้าชายแดนถาวรภูดู่ อำเภอบ้านโคก เชื่อมต่อ สปป.ลาว ไปยังแขวงไชยบุรี หลวงพระบาง และประเทศจีน รองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558

นายชัช กล่าวว่า เดิมเป็นสนามบินวังยางสร้างขึ้นเพื่อการขนส่งทางอากาศขึ้นกับกรมการขนส่งทางอากาศ ก่อสร้างโดยกรมการบินพาณิชย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำวิศวกรชาวอิตาลีและคณะผู้ควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ บินตรวจงานระหว่างการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมกับขนส่งวัสดุอุปกรณ์ ช่วงการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ 2510-2515 เมื่อเสร็จภารกิจแล้วมีการปรับปรุงเพิ่มเติมนำมาใช้เป็นสนามบินพาณิชย์

โดยเปิดเส้นทางการการบิน ใช้ชื่อ "ท่าอากาศยานอุตรดิตถ์" บินเส้นทางระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ และบินเส้นทางระหว่างท่าอากาศยานอุตรดิตถ์กับท่าอากาศยานแพร่ โดยวิ่งเพียงวันละ 1 เที่ยวบินไปกลับต่อวัน ขึ้นตรงกับบริษัทเดินอากาศไทย ต่อมาถูกยุบรวมกับบริษัทการบินไทยเข้ามาดำเนินการบริการด้านพาณิชย์ มีประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียงใช้บริการ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้มีผู้ใช้บริการน้อยลง ทำให้บริษัทขาดทุนเพราะไม่คุ้มกับการบิน จึงหยุดบินพร้อมกับการปิดตัวลงของท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ ในปี 2518 รวมระยะเวลาที่สนามบินแห่งนี้ถูกปิดร้างไปนานถึง 39 ปีเต็ม

"จากที่รัฐบาลและพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม มีนโยบายที่จะสร้างสนามบินขนาดเล็ก 6 แห่งในภูมิภาคที่ติดกับชายแดน รวมทั้งสนามบินวังยาง ของ จ.อุตรดิตถ์ ทำให้ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ตื่นเต้น ดีใจ เพราะที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชนเรียกร้องให้มีการปรับปรุงและเปิดบริการสนามบินวังยางมาโดยตลอดกว่า 20 ปี เพราะเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น"ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามหลังมีกระแสข่าวการปรับปรุงสนามบันวังยาง หรือ ท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ ประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ต่างตื่นตัว โดยเฉพาะชุมชนใกล้สนามบินวังยาง ภาคธุรกิจ นักลงทุน เริ่มมีการปรับพื้นที่ ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ที่พัก ร้านอาหาร ในส่วนของบริเวณสนามบินวังยาง หลังถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานาน บางส่วนกลายเป็นที่เลี้ยงโค-กระบือ ลานตากข้าวของเกษตรกร ที่ทิ้งขยะ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาหากจะมีการปรับปรังพัฒนาสนามบินวังยางให้เปิดใช้บริการได้อีกครั้ง