'เก๋งเล็ก'ร่วงหนักฉุดตลาดรวม ค่ายรถอัดแคมเปญดันยอด

'เก๋งเล็ก'ร่วงหนักฉุดตลาดรวม ค่ายรถอัดแคมเปญดันยอด

ตลาดรถเก๋งเล็กไม่ฟื้น หดตัวมากที่สุด 50% ฉุดตลาดรวม 7 เดือนร่วงหนัก ค่ายรถอัดแคมเปญกระตุ้นยอด

เน้นเงื่อนไขเป็นเจ้าของง่าย ดาวน์ต่ำ ผ่อนนาน ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุอาจต้องประเมินตลาดใหม่อีกรอบ

ตลาดรถยนต์ในช่วง ม.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากตัวเลขการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 39% ซึ่งเป็นสัดส่วนการถดถอยที่ดีกว่าก่อนหน้านั้นที่ตัวเลขสูงกว่า 40% แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยยอดขายสะสมทั้งหมดที่ทำได้ 510,438 คัน ในช่วง 7 เดือน เท่ากับว่าเวลาที่เหลือ 5 เดือนจะต้องทำยอดขายให้ได้อีกประมาณ 490,000 คัน หรือเดือนละ 98,000 คัน จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 1 ล้านคันในปีนี้ ขณะที่เดือนล่าสุด ก.ค.ตลาดมียอดขายรวมแค่ 69,527 คัน เท่านั้น

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ยอดขายเดือน ก.ค.ที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว เป็นผลมาจาก ผลกระทบในช่วงต้นปีจากเหตุการณ์ทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศที่ส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีผลถึงตลาดรถยนต์

อย่างไรก็ตามยอดสะสม 7 เดือนที่ลดลง 39% ซึ่งถือว่าดีกว่าช่วงก่อนหน้านี้ เห็นว่าเป็นการปรับเข้าสู่สมดุลของตลาดรถยนต์หลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับการชะลอตัวของภาคการบริโภค และการลงทุน ในช่วงต้นปี

ส่วนเดือนล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป คือ ส.ค.ซึ่งยังไม่มีการสรุปยอดออกมา เชื่อว่าตลาดจะยังอยู่ในภาวะทรงตัว จากการที่เสถียรภาพทางการเมืองที่มีแนวโน้มดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สร้างความมั่นใจกับลูกค้าให้ดีขึ้นตามลำดับ รวมไปถึงการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ เปิดตัวรถใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกทางหนึ่ง

มีลุ้นปรับเป้าหมายเดือนนี้

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้กลุ่มเตรียมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนนี้ว่าจะปรับเป้าหมายรอบใหม่หรือไม่

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กลุ่มได้ปรับเป้าหมายไปแล้ว 1 ครั้ง โดยลดเป้าผลิตจาก 2.4 ล้านคัน เหลือ 2.2 ล้านคัน โดยเป็นการลดในส่วนของยอดขายในประเทศจาก 1.2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน ขณะที่ส่งออกยังคงเป้าเดิมคือ 1.2 ล้านคัน สูงกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 1.1 ล้านคัน เนื่องจากยังมีทิศทางการเติบโต โดยช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวประมาณ 4%

ตลาดใหญ่ "เก๋งเล็ก" ร่วงหนัก

แหล่งข่าวในวงการยานยนต์ ระบุว่า แม้ว่าตั้งแต่เข้าช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาการเมืองคลี่คลาย มีรัฐบาลใหม่ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และยังส่งผลถึงวันนี้ ก็คือ หนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่น้อยลง

โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังจากที่กำลังซื้อถูกดึงไปใช้กับโครงการรถคันแรก ทำให้ลูกค้ายังไม่กลับมาซื้อรถใหม่

ขณะที่ผู้ที่ซื้อรถจากโครงการก็กำลังมีปัญหากับเรื่องของการผ่อนชำระ และบางส่วนผ่อนชำระไม่ไหว ล่าสุดนายซานเจย์ มิชรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่ามีประมาณ 15% ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ และการที่กำลังซื้อถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า การที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระได้ ทำให้ตลาดรถมือสองได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากปริมาณเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้โครงสร้างราคาปรับตัวลดลง และย้อนกลับมาฉุดกำลังซื้อในตลาดรถใหม่อีกครั้ง ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนรถคันใหม่ เนื่องจากรถคันเดิมที่ราคาตก จึงยกเลิกการขายและทนใช้คันเดิมต่อไป

ทั้งนี้จากข้อมูลการขายรถช่วง ม.ค.-ก.ค.เห็นได้ชัดเจนว่า รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรถที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรถคันแรก และมีบทบาทในตลาดอย่างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการขาย 73% ของตลาดรวมรถยนต์นั่ง มียอดขายที่ลดลงอย่างรุนแรง ทำให้มีผลต่อการฉุดตลาดโดยรวมอย่างมาก

โดยช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา รถยนต์นั่งขนาดเล็กมียอดขาย 142,775 คัน ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งรถยนต์นั่งคอมแพคท์ ขนาดใหญ่ และกลุ่มลักซัวรี่ ที่ลดลง 41% และ 38% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดรวมรถยนต์นั่ง ลดลง 48%

นอกจากนี้รถปิกอัพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อตลาดรถยนต์จากการมีสัดส่วนการขาย 42% และเป็นกลุ่มรถที่ได้สิทธิโครงการรถคันแรกเช่นกัน ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว รวมถึงผลจากการที่สินค้าเกษตรหลายตัวราคาตกต่ำ ทำให้ยอดขายลดลง 35% แต่ก็ยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็ก เนื่องจากรถบางกลุ่มเป็นรถที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการประกอบอาชีพ แตกต่างจากรถยนต์นั่ง ที่ใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวัน

อัดแคมกระตุ้นยอดต่อเนื่อง

ยอดขายที่ซบเซา ส่งผลให้ค่ายรถต้องจัดแคมเปญส่งเสริมการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าจะมีต่อเนื่องจนถึงปลายปีเพื่อฟื้นยอดขายให้ได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะเน้นข้อเสนอให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น และมีแคมเปญย่อยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงการมีการลุ้นรางวัลมูลค่าสูง เช่น ช่วงงานบิ๊กมอเตอร์เซลส์ ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า จัดแคมเปญชิงรถ 9 วัน 9 คัน เป็นต้น

โตโยต้ายังมีแคมเปญแจกรางวัลนอกงาน และจะมีไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อกระตุ้นการขาย วีออส และไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ซื้อรถเท่านั้น แต่ต้องการดึงดูดคนเข้าโชว์รูมให้ได้มากที่สุด โดยเปิดสำหรับผู้ที่ทดลองขับ มีสิทธิ์ชิงรางวัลใหญ่ ตั๋วเครื่องบินไป-กลับญี่ปุ่น 60 รางวัล รวมรางวัลอื่นมูลค่า 3,727,200 บาท

ส่วนแคมเปญการขาย ก็มี โปรแกรมสบายดี ดาวน์ 170,048 บาท ผ่อน 60 เดือน ดอกเบี้ย 3.60% ผ่อนเริ่มต้น 3,800 บาท งวดที่ 1-59 และ 234,780 บาท งวดที่ 60 และยังมีส่วนลดเงินดาวน์ 16,900 บาท ที่ดาวน์ 10% สำหรับรุ่นย่อยบางรุ่น รวมถึงแถมประกันภัยชั้น 1 บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 1 ปี

หรือโตโยต้า อินโนวา ที่มีโปรแกรมสบายดีเช่นกัน เน้นผ่อนต่ำงวดที่ 1-59 ราคา 7,770 บาท งวดที่ 60 อยู่ที่ 300,650 บาท เงินดาวน์ 233,820 สำหรับ 2.0E เกียร์ธรรมดา และแถมประกันภัย กับบริการช่วยเหลือฉุกเฉินเช่นกัน

นิสสัน ก็มีการจัดแคมเปญกับรถยนต์หลายรุ่นเช่นกัน เช่น อีโค คาร์ อัลเมรา ที่แถมประกันภัยชั้น 1 และมีข้อเสนอให้ลูกค้าเลือก เช่น ดอกเบี้ย 0.79% เงินดาวน์ 30% ระยะเวลาผ่อนชำระ 36 เดือน หรือ ดาวน์เริ่มต้น 19,999 บาท ดอกเบี้ย 3.49% ผ่อนชำระ 48 เดือน หรือ โปรแกรม นิสสัน อีซี่เพย์ ผ่อนเริ่มต้น 4,099 บาท งวดที่ 1-48 ดาวน์ 25% เป็นต้น

ขณะที่ปิกอัพนาวารา เอ็นพี 300 ซึ่งเป็นรถใหม่ที่เพิ่งตัวล่าสุด ก็มีแคมเปญส่งเสริมการขายเช่นกัน เช่น สิทธิซื้อประกันภัยชั้น 1 ในราคา 8,999 บาท และข้อเสนอ ดอกเบี้ย 2.19% ดาวน์ 25% ผ่อนชำระ 48 เดือน หรือ นิสสัน อีซีเพย์ ผ่อนเริ่มต้น 4,848 บาท งวดที่ 1-48 เงินดาวน์ 25% หรือดาวน์ 5% ผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน แถมประกันภัยชั้น 1

มิตซูบิชิ ช่วยลูกค้าผ่อน

ด้านมิตซูมิชิ มีแคมเปญ "มิตซูบิชิผ่อนให้" ให้ลูกค้าได้ชิงรางวัลเป็นคูปองผ่อนรถรายเดือน รวม 40 รางวัล มูลค่า 4,800,000 บาท และเงื่อนไขการซื้อ ดอกเบี้ย 0% แถมประกันภัยชั้น 1

ขณะที่มาสด้า จัดแคมเปญสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก มาสด้า 2 และปิกอัพ บีที-50 ด้วยเงื่อนไขผ่อนเริ่มต้น 5,555 บาท หรือเลือกรับดอกเบี้ย 0,55% นาน 5 ปี และแถมประกันภัยชั้น 1

รถบรรทุกเล็กอย่างตงฟง ที่เน้นเจาะตลาดลูกค้ากลุ่ม เอสเอ็มอี จัดแคมเปญ ดอกเบี้ย 0% นาน 48 เดือน และฟรีประกันภัยชั้นหนึ่งพร้อม พรบ. หรือเลือกดาวน์เริ่มต้นที่ 15% พร้อมดอกเบี้ยพิเศษ หรือ เลือกรับของแถมรวมมูลค่าสูงสุดถึง 50,000

ค่ายปิกอัพ ทาทา ที่เจาะตลาดลูกค้าที่ซื้อรถไปประกอบอาชีพเป็นหลัก มีแคมเปญข้อเสนอพิเศษมูลค่าสูงสุด 150,000 สำหรับซีนอน ซีเอ็นจี พลัส ทุกรุ่น และแคมเปญเก่าไป ใหม่มา ได้รับการเพิ่มเงินประเมินรถเก่าเพิ่ม 50,000 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อรถใหม่

ขณะที่ฮอนด้า มีแคมเปญเช่น ซิตี้ ซีเอ็นจี ซึ่งเป็นรถที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด ที่จัดกับลูกค้าเก่าที่ใช้รถฮอนด้าอยู่แล้ว กับแคมเปญ ฮอนด้า โลยัลตี้ ที่ให้เลือกดาวน์ 59,999 บาท ผ่อนนาน 84 เดือน หรือ เลือกดอกเบี้ย 2.09% ดาวน์ 25% ผ่อน 48 เดือน