Central Embassy อาคารแห่งความโค้งมนรอบด้าน

Central Embassy อาคารแห่งความโค้งมนรอบด้าน

สนทนาเรื่อง 'งานสถาปัตยกรรม' และ 'การออกแบบตกแต่งภายใน' ของโครงการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี กับ 'ชาติ จิราธิวัฒน์'

อาคาร สิ่งก่อสร้าง หรือตึกสูง คือสิ่งหนึ่งที่นิยามเส้นขอบฟ้าของเมือง ว่าเมืองนั้นมีบุคลิกเช่นไร เมื่อเวลาซื้อบ้าน แต่ละคนมีรสนิยมและความชอบต่างกัน รูปร่างหน้าตาของบ้านและการตกแต่งภายในคือ 'ตัวแทน' ที่บ่งบอกความเป็นเจ้าของบ้าน ยิ่งบ้านที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ยิ่งบอกได้ลึกลงไปได้อีกว่า 'ใคร' คือเจ้าของบ้าน โดยเฉพาะคนมีชื่อเสียง

เช่นเดียวกับ 'ตึกแฝดเปโตรนาส' อาคารหอคอยโดดเด่นคู่นี้ ย่อมทำให้นึกถึงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

อาคารสำนักงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ภายนอกตกแต่งแบบศิลปะอาร์ต เดคโค ตามความนิยมในสมัยปีค.ศ.1929 ยอดตึกเพิ่มโดมยอดแหลมของเสาอากาศ คล้ายมหาวิหารโบสถ์คริสต์ 'เอ็มไพร์สเตต' คือสัญลักษณ์ที่ทำให้คุณรู้ว่าที่นั่นคือมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาคารดังกล่าวต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเหล่าอาคารที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Iconic Building ของโลก

"ผมเดินทางไปหลายเมือง ในเอเชียเอง โตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ แต่ละเมืองต่างก็มีตึกไอคอนของเขา แต่กรุงเทพฯ ยังไม่มี ในลักษณะที่เป็นอาคารที่มีอยู่หนึ่งเดียวในโลกและอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกแง่หนึ่งก็ต้องมีความเป็นไทยอยู่ด้วย เพราะเราก็เป็นคนไทย เราภาคภูมิใจในแง่ของวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์ของไทย ต้องมีกลิ่นอายความเป็นไทย เราต้องการทำอาคารที่เป็นไอโคนิค(iconic)" ชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ โครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี (Central Embassy)

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2549 สถานทูตอังกฤษเปิดประมูลที่ดินบริเวณจุดตัดของถนนเพลินจิตและถนนวิทยุ เนื้อที่เกือบ 9 ไร่

"มีบริษัทประมาณ 32-33 รายเข้าประมูล เพราะที่ดินผืนนี้ถือว่าเป็นที่ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ เซ็นทรัลกรุ๊ปเป็นบริษัทที่ประมูลชนะ เราได้ที่ดินตรงนี้มาเราก็รู้อยู่แล้วว่าจะสร้างศูนย์การค้า เพราะเซ็นทรัลกรุ๊ปคือเรื่องของการทำรีเทล เรามองว่าอยากทำเป็นลักชัวรี่ รีเทล เพราะเราเห็นเทรนด์ของลักชัวรี่กำลังมา นี่คือเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว และจะเติบโตอยู่เรื่อยๆ" คุณชาติ ทายาทรุ่นที่สามแห่งตระกูล 'จิราธิวัฒน์' กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

"เรามองว่าในตลาด ณ ตอนนั้น ก็มีศูนย์การค้าที่มีลักชัวรี่แบรนด์อยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อรองรับลักชัวรี่แบรนด์ซะทีเดียวในแง่ดีไซน์และวัสดุที่ใช้ เราก็เลยเน้นการดีไซน์ ต้องเป็นศูนย์การค้าให้ลักชัวรี่ ไม่ใช่เฉพาะช็อปที่ลักชัวรี่ ต้องลักชัวรี่ในแง่บริการ ดีไซน์ของที่จอดรถ เลานจน์ดูแลลูกค้า กองเซียจเดสก์(concierge desk)ที่สามารถจองโรงแรม จองร้านอาหารที่อยู่ชั้นบนได้ เป็นลักชัวรี่เอ็กซ์พีเรียนซ์"

"อีกอันคือเราต้องการทำ คืออาคารที่เป็นไอโคนิค" ทายาทรุ่นที่สามแห่งตระกูล 'จิราธิวัฒน์' ย้ำ

ตัวตึกของโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีความสูงรวม 37 ชั้น หน้ากว้างยาวกว่า 200 เมตร ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนศูนย์การค้า จำนวน 8 ชั้น และส่วนทาวเวอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมปาร์คไฮแอท ทั้งสองส่วนออกแบบให้เชื่อมต่อกันเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์อินฟินิตี (Infinity) ความหมายคือ 'ไม่มีที่สิ้นสุด'

ความท้าทายของตัวตึกคือความโค้งมนรอบด้าน กล่าวได้ว่าโครงการนี้เป็นตึกแรกในประเทศไทยและในโลกที่มีตัวตึกเป็น 3D Curve คือ โค้งสามมิติ ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านบน ทำให้การก่อสร้างเต็มไปด้วยความซับซ้อน

"อาคารทั่วไปมักเป็นกล่อง โรงแรมก็เป็นอีกกล่อง แต่ตัวอาคารโรงแรมปาร์คไฮแอทจะโค้งมนลงมาเป็นตัวหลังคาให้กับศูนย์การค้า มองแล้วทั้งตัวอาคารจะเป็นหนึ่ง ไม่ใช่ในลักษณะกล่องที่เหมือนนำมาต่อกัน แต่ตัวอาคารโรงแรมและอาคารศูนย์การค้าจะดูเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน"

ไม่เฉพาะการเชื่อมโยงภายนอก แต่ทั้งโรงแรมและศูนย์การค้ายังมีการเชื่อมโยงภายในกันด้วย เพื่อให้ลูกค้าเข้าออกแต่ละอาคารได้สะดวก ดังนั้นบางจุดของศูนย์การค้าเมื่อมองขึ้นไปก็จะเป็นตัวโรงแรม

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ตึกโครงการนี้แตกต่างจากตึกอื่นๆ คือ ประกายระยิบระยับภายนอกตัวอาคารในเวลากลางวัน

"ตอนที่เราดูดีไซน์ เราได้แรงบันดาลใจจากหลังคาพระอุโบสถที่เป็นกระเบื้องแล้วมีเม็ดแก้วผสมอยู่ พอแสงแดดลง หลังคาก็จะระยิบระยับ ซึ่งสวยงามมาก เรานำมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุอลูมิเนียม ชิงเกิลส์ (Aluminium Shingles) จำนวนสามแสนชิ้นรอบอาคาร ด้วยดีไซน์ที่หักมุมของตัววัสดุ ช่วยรับแสงสะท้อนของแสงแดด ทำให้ตัวอาคารระยิบระยับเช่นเดียวกัน"

เกล็ดอะลูมิเนียม จำนวน 300,000 เกล็ดบนตึกโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ติดตั้่งด้วยการนำเทคนิคการเข้าสลักของกระเบื้องว่าวมาปรับใช้ เนื่องจากรูปทรงตัวตึกโค้งมนทั้งหมด จึงไม่สามารถติดตั้งเกล็ดแบบตรงๆ ธรรมดาได้ ต้องใช้เทคโนโลยีคำนวณองศาการติดตั้งเกล็ดแต่ละเกล็ดล่วงหน้า แต่ละเกล็ดมีองศาที่ต่างกันทั้งสิ้น เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องตัวตึก ภาพที่เห็นจะเป็นเลื่อมเงาในเฉดสีเทาเงินที่ต่างกันไป เสมือนเป็นพื้นผิวของผ้าไหมไทยที่เลื่องชื่อ

"พื้นที่ภายในดูกว้างและสบายตา จากสุดมุมหนึ่งของอาคาร สามารถมองทะลุไปยังอาคารอีกด้านได้เลย ให้ความรู้สึก(feeling)โปร่งมาก มองไปชั้นบนก็เห็น เป็นฟิลลิ่งที่ใหม่มากและไม่เหมือนที่อื่นในโลก แต่ก็ไม่ได้ใหญ่เกินไปจนหลงว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เราเรียกว่าเป็นฮิวแมน สเกล(human scale)" คุณชาติอธิบายพื้นที่ชั้น G ของอาคารที่เปรียบเสมือนห้องรับแขก

ถ้าสังเกตจะพบว่าภายในอาคารแห่งนี้มีต้นเสาให้เห็นเพียง 4 ต้นใหญ่เท่านั้น

"ในอาคารมีเสาเพียง 4 ต้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีและการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ทั้งหมด ทำด้วยวัสดุที่ไม่เคยมีใครใช้เป็นเสามาก่อน เรียกว่า โคเรียน (Corian) เป็นวัสดุที่มีความเรียบเนียนไร้รอยต่อ นี่คือปรัชญาของงานดีไซน์อีกอย่างหนึ่ง คือ ซีมเลส (seamless) มีความต่อเนื่องกัน ในความเป็นซีมเลส เราก็ดูว่าวัสดุอะไรสามารถทำให้ไม่มีรอยต่อได้ ก็คือโคเรียน เป็นหินสังเคราะห์ ปกติใช้เป็นเคาน์เตอร์ท็อปชุดครัวระดับไฮเอนด์ ซึ่งราคาแพงมาก แต่เรานำมาทำเป็นแนวตั้งและตัน เสาทุกต้นเป็นโคเรียน" คุณชาติกล่าว

พื้นอาคารประกอบด้วย เทอราซโซ หินขัดชนิดพิเศษนำเข้าจากอังกฤษ มีขนาดใหญ่ 80 ตารางเมตร ทำให้เส้นรอยต่อระหว่างแผ่นมีขนาดที่เล็กมาก ให้ความรู้สึกกลมกลืนเป็นแผ่นผืนเดียวกันทั้งพื้น

แนวคิดเกี่ยวกับ 'การโค้งมน' ยังเห็นในงาน กระจก ที่ใช้ตกแต่งอีกด้วย

"กระจกที่เราใช้ เป็นกระจกซูเปอร์เคลียร์ ให้ความกระจ่างใส ไม่เปลี่ยนสี พอมาถึงจุดโค้ง ถ้าจะทำให้ประหยัดหน่อย ก็นำกระจกแผ่นตรงมาต่อกัน ซึ่งจะไม่โค้งมน การใช้กระจกโค้งราคาแพงกว่าสาม-สี่เท่าของกระจกแผ่นตรง แต่เราไม่ยอมคอมโพรไมซ์ (compromise) เมื่อดีไซน์โค้งมนแล้ว"

ภายในตัวอาคารตกแต่งด้วย สีขาว คล้ายผืนผ้าใบของศิลปิน เล่นลวดลายผ่านการใช้เส้นสายโค้งเว้่าของมุมและพื้นผิวที่ไม่รู้จบ

ระดับความสูงของเพดานได้รับการออกแบบให้รองรับแสงและเงา เพื่อให้เกิดความสวยงามตลอดอาคาร ผ้าเพดานโค้งขึ้นไปเป็น 'ราวกันตก' ระบบไฟแอลอีดีเพื่อการประหยัดพลังงานและเปลี่ยนสีได้เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ไปตามเวลาของวัน การจัดวางตำแหน่งบันไดเลื่อนให้เหลื่อมตำแหน่งกันในแต่ละชั้น เพื่อที่เมื่อมองขึ้นไปตรงๆ จะสวยงามเหมือนก้านพัดที่กางออก

การก่อสร้างรวมทั้งการออกแบบตกแต่งภายในเป็นฝีมือบริษัทคนไทยทั้งสิ้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณชาติกล่าวด้วยความภูมิใจ แม้จุดที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ อาจไม่มีใครสังเกต

"เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของคนที่มาเดินอาจไม่เคยสังเกต ไม่เคยรู้เลย ไม่สนใจ แต่เราสนใจ เพราะยังมีอีกสิบเปอร์เซ็นต์ของคนรู้จริงเรื่องดีไซน์และรายละเอียด ตรงนี้ที่ผมมองว่าจะเป็นจุดต่างระหว่างศูนย์การค้าธรรมดากับศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส"

บริเวณพื้นที่ด้านนอกของตัวอาคาร โดดเด่นสะดุดตาด้วย ประติมากรรม 'ม้า' วัสดุบรอนซ์สีเข้ม ขนาดมหึมา ยืนเด่นตรงหัวมุมถนนเพลินจิตตัดกับถนนวิทยุ

"เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลวางคอนเซปต์เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นศูนย์การค้าระดับโลก ผมก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้พื้นที่นี้เป็นแลนด์มาร์คแห่งงานศิลปะ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าใกล้โลกแห่งจินตนาการและความสร้างสรรค์โดยไม่ต้องไปถึงพิพิธภัณฑ์ ต้องการให้งานศิลปะเข้าถึงได้และอยู่ในชีวิตประจำวันคนมากขึ้น " ปริญญ์ จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการมองหางานศิลปะระดับโลกมาประดับวงการศิลปะเมืองไทย

ศิลปินระดับโลกคนแรกๆ ที่ปริญญ์นึกถึงคือ เฟอร์นานโด โบเตโร (Fernando Botero) สุดยอดศิลปินชาวโคลัมเบียน ผลงานมีเอกลักษณ์จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นงานศิลปะแนว โบเตริสโม (Boterismo) คืองานศิลปะที่แสดงภาพคนและสัตว์ที่ดูเจ้าเนื้อ ขนาดใหญ่เกินจริง (exaggerated figure) สื่ออารมณ์ขันของศิลปิน ผสมผสานความเข้มแข็งและอ่อนโยน ความจริงและจินตนาการ สร้างรอยยิ้มให้ทุกคนที่ได้ชม

ชิ้นงานโดดเด่นของเฟอร์นานโด โบเตโร คือ ประติมากรรมม้าบรอนซ์ขนาดใหญ่ ทั่วโลกมีแสดงอยู่ไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่ละตัวมีบุคลิกต่างกันไป

"ผมเลือกม้าตัวนี้มาเปิดตัวในงานศิลปะชิ้นแรกของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพราะนอกจากเป็นผลงานมาสเตอร์พีซที่ประเมินค่ามิได้ของศิลปินระดับโลก ยังเป็นงานศิลปะที่มีความหมายเชิงบวก" ปริญญ์ กล่าว

เหตุผลก็คือ ศูนย์การค้าแห่งนี้เปิดตัวในปีพ.ศ.2557 ตรงกับปีนักษัตรมะเมีย (ม้า) โบราณม้าเป็นพาหนะคู่ใจสำหรับพ่อค้า ขี่ม้าไปขาย นำสู่จุดหมายและความเจริญรุ่งเรือง ม้าตัวนี้ซึ่งทำจากวัสดุบรอนซ์สื่อถึงความแข็งแรง แต่มีบุคลิกอ่อนโยน เป็นผู้ต้อนรับที่ดี

"เราตั้งชื่อม้าตัวนี้ว่า เฟรดดี ฮอร์ส (Freddie Horse) มีสองตัวในโลก เป็นงานประติมากรรมบรอนซ์ขนาดใหญ่ถึง 335 x 300 x 190 เซนติเมตร เป็นขนาดที่วงการศิลปะเรียกว่า Monumental ใช้ระยะเวลาสร้างสรรค์กว่าสี่ปี มีน้ำหนักสองพันกิโลกรัม" ปริญญ์ กล่าว

นี่คือส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้าง 'ลักชัวรี่ รีเทล' ที่ลักชัวรี่ทั้งแบรนด์สินค้า ตัวอาคาร และพื้นที่โดยรอบ

ภาพ : ภักดี สุขเพิ่ม