'ชัชชาติ'เร่งขยายไหล่ทางให้สัญจรได้เหมือนเดิม

'ชัชชาติ'เร่งขยายไหล่ทางให้สัญจรได้เหมือนเดิม

"ชัชชาติ"ระบุแผ่นดินไหวเสียหายร่วม100 ล้านบาท เร่งขยายไหล่ทางให้สัญจรได้เหมือนเดิม ส่วน"จาตุรนต์"เผยโรงเรียนเสียหาย 73 ร.ร.รวมมูลค่า 150 ล.

ความคืบหน้าการเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการ รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานประชุมหน่วยงาน เพื่อติดตามผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยข้อมูลในขณะนี้ บ้านเรือนเสียหาย 18,488 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง 12 หลัง วัด เสียหาย 63 แห่ง สถานที่ราชการหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 23 คน ซึ่งนายจารุพงศ์ กล่าวว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 พ.ค. โดย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวภาคเหนือ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้สั่งการให้ให้แก้ไขปัญหาภายใน 15 วัน โดยมีงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน 500 ล้านบาท โดยเป็นงบสำรองที่สามารถเบิกจ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุมัติ กกต. สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ระดมช่างโยธา วิศวกร นักวิชาการ ร่วมกับ 7 อำเภอที่ประสบเหตุเร่งซ่อมแซมบ้านเรือน สำรวจเพื่อจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ปัจจุบันมีการจัดหาที่พักอาศัยให้ผู้ประสบภัยแล้ว

"ชัชชาติ"ระบุเสียหายร่วม100 ล้าน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการ รมว.คมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุถนนสายอำเภอเมืองตาก - อำเภอแม่สอด ที่จ.ตาก ว่า ขณะนี้กำลังเร่งให้เจ้าหน้าที่แขวงการทาง ซ่อมแซมถนนสาย 188 ระหว่างจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ขยายไหล่ทางและทำทางเบี่ยงให้รถวิ่งไปมาสะดวก ส่วนที่พังให้รื้อและให้ทำสู่สภาพปกติ ส่วนจุดที่มีดินถล่ม คงใช้ระยะเวลา 4 วัน สำหรับความเสียหายในส่วนของกระทรวงคมนาคม มีมูลค่าอยู่ที่ 50-100 ล้านบาท จริงๆ ไม่ได้เสียหายมาก อย่างที่คิด ส่วนโครงสร้างตัวอื่น เช่น สะพาน ท่าอากาศยาน มีรอยร้าว

เผย73 ร.ร.เสียหายมูลค่ากว่า150ล้านบาท

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รก.รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย ว่า โรงเรียนที่เสียหายอย่างหนักจำนวน 5 โรงเรียน อยู่ในอำเภอพาน อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ทั้ง 5 โรงเรียนมีอาคารเรียนเสียหาย 8 หลัง รวมประมาณ 60 ห้องเรียน ครอบคลุมนักเรียน 1,800-2,000 คน ดังนี้โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อาคารเรียนเสียหาย 3 หลัง,โรงเรียนพานพิทยาคม เสียหาย 1 หลัง, โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา เสียหาย 1 หลัง, โรงเรียนดอยช้าง เสียหาย 1 หลัง และโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ เสียหาย 1 หลัง

นอกจากนี้ ยังมีอาคารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 2 ได้รับความเสียหาย 1 หลัง รวมแล้วมีสถานศึกษาในสังกัดได้รับความเสียหาย รวม73 แห่ง รวมมูลค่า 152.5 ล้านบาท เป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษา 49 โรง มูลค่า 40.5 ล้านบาท ระดับมัธยมศึกษา 14 โรง มูลค่า 82 ล้านบาท ระดับอาชีวศึกษา 10 โรง มูลค่า 20 ล้านบาทและระดับอุดมศึกษา 1 โรง มูลค่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดได้เตรียมงบประมาณสำหรับซ่อมแซมแล้ว แต่ในส่วนโรงเรียนที่เสียหายอย่างหนักอาจต้องมีการรื้อถอนอาคารเรียนเพื่อสร้างใหม่ จำเป็นต้องของบกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่ม เพราะต้องใช้งบประมาณีมาก อย่างเช่น อาคารเรียนของโรงเรียนพานพิทยาคม ความเสียคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาทและยังต้องเตรียมงบประมาณสำหรับรื้อถอนด้วย แต่คาดว่าการของบประมาณน่าจะใช้เวลาไม่นาน

"ทุกโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายให้ใช้หลักว่าอาคารใดที่ไม่แน่ใจในความปลอดภัยให้ทำการปิดกั้นห้ามไม่ให้คนเข้าไปนอกจากช่าง ทุกอาคารที่สงสัยในความปลอดภัย จะต้องได้รับการประเมินและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญก่อนถึงจะสามารถเปิดใช้การต่อไปได้แต่หากผู้ปกครองไม่แน่ใจความปลอดภัยในอาคารใดเพิ่มเติมก็สามารถร้องขอให้ตรวจสอบได้ เพราะความเสียหายจากแผ่นดินไหวอาจไม่พบเห็นได้ทันทีบางอาคารไหวมาสองวันแล้วเพิ่มปรากฎรอยร้าว เพราะฉะนั้น เพื่อความไม่ประมาทให้ถือหลักความปลอดภัยเป็นอันดับแรก อันดับสองต้องหาทางให้เปิดเรียนได้ภายในกำหนด 16 พฤษภาคม 2557 นี้ ซึ่งโรงเรียนที่อาคารเรียนได้รับความเสียหายเตรียมจะใช้อาคารประกอบเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว รวมทั้งสร้างอาคารเรียนน็อคดาวน์ขึ้นมาใช้เรียนเพิ่มเติม"นายจาตุรนต์ กล่าว

จับตา3รอยเลื่อนเสี่ยงแผ่นดินไหว

ส่วน ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว "แผ่นดินไหว..รับมืออย่างไร?" โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นว่า ทางจุฬาฯ ได้ส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวกว่า 100 คน ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจุดแรกจะเป็นโรงพยาบาล และโรงเรียน ก่อนจะลงไปช่วยชาวบ้านต่อไป ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้และครั้งต่อไป ทางจุฬาฯ จึงได้ศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนรับมือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฎิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงรอยเลื่อนในประเทศไทยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่นอกสายตาของนักธรณีวิทยา เพราะคิดว่ารอยเลื่อนนี้ไม่มีพลัง แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมารอยเลื่อนพะเยาเคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอดีต คำนวณได้ประมาณ 5-5.6 ริกเตอร์ เป็นรอบเลื่อนบนหินแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนตามลำน้ำแม่ลาว ทำให้นักวิชาการไม่ได้เฝ้าสังเกตมากนัก ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นักธรณีวิทยา นักวิชาการต้องเฝ้าระวัง จับตาดูรอยเลื่อน ที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่แนวเดียวกับรอยเลื่อนพะเยาที่จะมีการปรับตัวของดินใต้แผ่นดินโลก ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน เนื่องจากรอยเลื่อนนี้ถึงรอบของการไหวหรือคาบอุบัติซ้ำ และรอยเลื่อนนอกสายตาอื่นๆ เช่น รอยเลื่อนถลาง จ.ภูเก็ต และการเกิดสึนามิ เพราะสีนามิเกิดจากแผ่นดินไหว และสึนามีมักจะเกิดซ้ำในพื้นที่ที่เคยเกิด แต่ในขณะนี้พื้นที่ที่เคยเกิดสีนามีก็ยังมีสภาพเดิมๆ ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับเรื่องของการเกิดสีนามิซ้ำ

"ขณะนี้ จุฬาฯจะจับตาดู เฝ้าระวังรอยเลื่อนนอกสายตา 3 แห่งได้แก่ รอบเลื่อนเจดีย์3 องค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนองค์รักษ์ ซึ่งรอยเลื่อนองค์รักษ์ เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้พื่นที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่มีการบรรจุรอยเลื่อนองค์รักษ์ในแผนที่กรมทรัพยากร จึงอยากให้มีการบรรจุรอยเลื่อนองค์รักษ์ลงไป เพราะถึงแม้จะเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็ก แต่อาจมีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ เช่นเดียวกันรอยเลื่อนพะเยา"ศ.ดร.ปัญญากล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องของแผ่นดินไหวนั้น ควรมีแผนระยะสั้น กลาง และยาว โดยแผนระยะสั้น คือการเตรียมตัวจะเอาชีวิตรอด หนีตายได้อย่างไร แผนระยะกลาง ต้องทำความรู้จักกับแผ่นดินไหวมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่เอาความรู้ไปบรรจุในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และแผนระยะยาว ควรมีแผนที่รอยเลื่อนเพื่อให้ประชาชน ได้รู้ว่าบ้าน ที่ดินของเราเป็นพื้นที่รอยเลื่อนหรือไม่ รัฐต้องให้ข้อมูลเหล่านี้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยวิชาการที่มีในปัจจุบันมีเพียงแผนที่รอยเลื่อนในประเทศไทย ที่บอกว่า พื้นที่ที่เกิดรอยเลื่อน ภาคใต้ตั้งแต่ภูเก็ตขึ้นมามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว และภาคเหนือ ส่วนภาคอีสานไม่มีโอกาสเกิด แต่ในความจริงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นบริเวณไหนอย่างไร

กรมศิลป์พบโบราณสถานชำรุดเพิ่ม

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าความเสียหายของโบราณสถานเก่าแก่จากเหตุแผ่นดินไหวที่จ.เชียงรายว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ว่า พบโบราณสถานเสียหายเพิ่มขึ้นจาก 11 แห่งเป็น 17 แห่ง ส่วนใหญ่ยอดหัก เอียงตามแรงหวี่ยงของแผ่นดินไหว รวมไปถึง โครงสร้างแตกร้าวเท่านั้น แต่ยังไม่พบว่ามีแห่งใดพังทลายลงมาทั้งหมดอาจเนื่องมาจากภูมิปัญญาของคนในอดีตก่อสร้างเจดีย์ต่างๆรองรับแผ่นดินไหว

สำหรับโบราณสถานที่เสียหายทั้ง 17 แห่ง ได้แก่ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ได้แก่ วัดบรมธาตุนครชุม จ.กำแพงเพชร สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ที่ได้รับความเสียหาย มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.วัดพระธาตุเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 2.วัดศรีปิงเมือง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 3.วัดศรีพิงเมือง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 4.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา 5.พระธาตุเนิ้ง วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ส่วนสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้รับความเสียหาย รวม 11 แห่ง ได้แก่ 1.วัดกิตติ จังหวัดเชียงใหม่ 2.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ 3.วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ 4.วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ 5.วัดพระยืน จังหวัดลำพูน 6.วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน 7.วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน 8.เจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย 9.วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย 10.เจดีย์วัดชุมแสง อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย 11.คริตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย อ.เมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่ง ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ทางกรมศิลปากรจะเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสภาพความเสียหายของโบราณสถานทั้งหมด 16 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย นำวิศวกรไปตรวจสอบเพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้น จากนั้นนำมาวางแผนทำเป็นแผนผังรายละเอียดทั้งหมด ประเมินงบประมาณในการบูรณะเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป