สนุกกับของเล่นวิทย์

สนุกกับของเล่นวิทย์

จะดีแค่ไหน เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์มารวมอยู่กับของเล่น ที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทั้งยังเป็นสิ่งที่เด็กๆ ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการประชุมปฏิบัติการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้กับวิทยากรแกนนำท้องถิ่น ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ

โดยในการประชุมฯ กลุ่มที่ 2 รายวิชา ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ และสนุกกับโครงงานวิทยาศาสตร์ ได้มีการทำกิจกรรมออกแบบและประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ จากกิจกรรมในหนังสือแบบเรียน ซึ่งเป็นการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ ของเล่นอย่างง่ายหรือปรับปรุงของเล่นตามแบบที่กำหนดให้ เพื่อให้ได้ของเล่นที่มีประสิทธิผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

กิจกรรมประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทั้งความสนุกสนาน ควบคู่ไปกับหลักการ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมประดิษฐ์โคมไฟขนาดเล็ก โดยต่อไดโอดเปล่งแสง(LED) และสร้างโคมไฟจากไดโอดเปล่งแสง กิจกรรมตุ๊กตาดุ๊กดิ๊ก ตุ๊กตากระดาษเคลื่อนไหวได้ผ่านมอเตอร์ขนาดเล็ก รอกและสายพาน กิจกรรมเครื่องร่อน คิด วิเคราะห์ ออกแบบเครื่องร่อน ให้มีการทรงตัวที่ดี และมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นต้น

ดร.เดชา ศุภพิทยาภรณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยากร กล่าวว่า “ ของเล่นเป็นอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ขณะที่เล่นสามารถอาศัยความสนุกสนาน สอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ นักเรียนได้เรียนได้อธิบายการทำงานของของเล่น ทำให้เข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง การให้โอกาสแก่นักเรียนในการประดิษฐ์ของเล่นใหม่ ๆ ก็เป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การเล่นของเล่นหรือการประดิษฐ์ของเล่น ยังช่วยให้เกิดทักษะในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งนักเรียนจะประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ในระหว่างการลงมือประดิษฐ์ของเล่น และนี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับครู ในการสอนวิทยาศาสตร์ทั้งเนื้อหาและกระบวนการต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันก็เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินด้วย ”

การอบรมปฏิบัติการครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสสำหรับครูผู้สอน ได้มองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าในการสอนวิชา ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ เราจะเริ่มต้นให้นักเรียนเล่นและตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์หรือคิดภาพที่สามารถหาคำตอบโดยการทดลองนั้นได้อย่างไร นอกจากนี้ครูผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสทำของเล่นตามรายละเอียดที่มีอยู่ในหนังสือ รวมทั้งการปรับปรุง ดัดแปลง ประยุกต์ใช้นอกจากหนังสือเรียนได้ รวมทั้งมีโอกาสได้อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง

อย่างไรก็ตามด้วยเวลาที่จำกัดและพื้นฐานความรู้ของครูที่มาอบรมนั้นต่างกัน เช่นบางคนอาจไม่ถนัดวิชาฟิสิกส์ ทำให้ไม่มีโอกาสลงลึกไปในเนื้อหาความรู้วิทยาศาสตร์ ที่นำไปใช้การอธิบายการทำงานของของเล่นชิ้นต่างๆเพียงพอ แต่ก็คิดว่าครูจะสามารถไปค้นคว้าเพิ่มเติม และจัดการเรียนการสอนด้วยการตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์ก่อน ก็จะช่วยให้ครูและนักเรียนหาคำตอบกันเองได้

นางละเอียด เรืองภิญโญพันธ์ ครูสอนวิชาเคมี โรงเรียนแวงพิทยาคม จ.สกลนคร ให้ความเห็นว่า “ การอบรมครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับบทเรียน มีแนวทางที่จะประยุกต์ใช้วัสดุที่เรามีในท้องถิ่นได้ด้วย ในคู่มือกิจกรรมก็ไม่ได้บังคับว่าต้องใช้วัสดุตามหนังสือ แต่เน้นให้เด็กได้คิด ได้ใช้การออกแบบเอง ทำให้เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ในหนังสือระบุอุปกรณ์คือท่อพีวีซี แต่ที่โรงเรียนมีไม้ไผ่เราก็อาจจะใช้ไม้ไผ่แทน นอกจากนี้ก็จะมีแนวทางให้เราสังเกตว่าจะโยงเนื้อหาไปได้อย่างไรบ้างให้น่าสนใจ เช่น พูดถึงเรื่องจักจั่น อาจจะโยงไปหาเรื่องของการเสียดสี แล้วก็จะโยงไปเรื่องการแตกแรง เป็นต้น ”

การที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจตคติที่ดี ถ้าเขารักซะอย่างเขาจะทุ่มเท แต่ถ้าจิตใจเขาไม่ชอบ ยัดเยียดยังไงเขาก็ไม่รับ ฉะนั้นวิชาของเล่นนี้จะเหมาะกับการปูพื้นฐานสำหรับเด็กนักเรียนชั้น ม. 1 ทำให้เขาหันมาสนใจก่อน ให้อยากเรียนอยากทำ จากนั้นเราค่อยขยับไปเรื่องที่เป็นโครงงานหรือเรื่องที่ยากขึ้นไป ที่เขาสนใจมากกว่านั้น

นางอ่อนพักร์ หนูเงิน ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียน ราชประชานุเคราะห์ 2 จ.กระบี่ กล่าวว่า “ ในเรื่องของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ แม้แต่ตัวเราเองยังรู้สึกสนุก ฉะนั้นเรารู้เลยว่าสิ่งนี้ถ้านำไปใช้กับเด็กนักเรียนแล้วเด็กต้องชอบแน่นอน สังเกตว่าจะเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ ก่อน เราก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่ยากนะ แล้วจึงค่อย ๆ ยากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเริ่มต้นจากการให้เด็กคิดเองในการประดิษฐ์ของเล่น วางแผนเองทั้งหมด การเตรียมอุปกรณ์ให้ครบ ถ้าให้ทำเลยก็ไม่ได้ เพราะการวางแผนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกอย่างคือตัวครูเองควรวางแผนและเตรียมการสอนให้เสร็จก่อน ”

หนังสือเรียน และคู่มือครู รายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เลือกใช้ได้ตั้งแต่ชั้น ม.1 - ม.3 ตามความพร้อมของสถานศึกษานั้น ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์กับของเล่น เครื่องกลอย่างง่าย การวิเคราะห์ ออกแบบ สร้างของเล่นอย่างง่ายตามแบบที่กำหนดให้ ดัดแปลงหรือ ประดิษฐ์ของเล่นที่ใช้เครื่องกลอย่างง่ายหรือหลักการทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย อธิบายการทำงานของของเล่น ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ผู้สนใจ ดาวน์โหลดแผนการสอนและสื่อเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ สามารถสอบถามหรือติดต่อมาทางสาขาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สสวท. โทรศัพท์ 0 2712 3757 หรือ สสวท. Call Center 0 2335 5222 ต่อ 1210 – 1216 เว็บไซต์สาขาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น http://secondsci.ipst.ac.th/ และที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/secondsci

--------------------------------------------

รัชนันท์ เพชรจำนงค์ ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. / รายงาน