เอสเอ็มอีแบงก์ชงคลังระดมทุนครบแสนล.

เอสเอ็มอีแบงก์ชงคลังระดมทุนครบแสนล.

"พิชัย ชุณหวชิร"เตรียมเสนอคลังอนุมัติแผนระดมทุนเอสเอ็มอีแบงก์ภายในปีนี้ให้เต็มจำนวนแสนล้านบาท หวังขยายยอดสินเชื่อให้ได้ 1.5 แสนล้าน ใน 5 ปี

นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า มีแผนที่จะระดมเงินทุนให้ได้เต็มจำนวน 1 แสนล้านบาทภายในปีนี้ เพื่อเป็นฐานในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งได้ตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี สินเชื่อคงค้างจะต้องมีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท และมีความสามารถในการทำกำไรประมาณ 1% ของเงินทุน 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เงินทุนจำนวน 1 แสนล้านบาท จะมาจาก 4 ส่วนหลัก คือ 1.เงินฝากระยะสั้น 2.ตราสารระยะยาว 3.เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น และ 4.หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

เขากล่าวว่า ปัจจุบันเงินทุนที่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือปล่อยสินเชื่อนั้น จะเป็นเงินทุนระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากจากบรรดารัฐวิสาหกิจ ในส่วนนี้จะมีอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร จึงมีแผนลดสัดส่วนเงินทุนส่วนนี้ และธนาคารต้องหาเงินทุนระยะยาวที่สอดคล้องกับระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยมีแผนจะระดมทุนผ่านการออกตราสารในตลาดเงินวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตราสารนี้จะมีอายุ 3-7 ปี

"กำลังดูแหล่งเงิน เราจะหาแหล่งทุนที่มีอายุยาวประมาณ 3-7 ปี เพื่อนำมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยคงที่ และนำเงินทุนระยะสั้นมาปล่อยดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยฐานะเราสามารถกู้ได้ เพราะเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐถือหุ้นเกือบ 100% กฎหมายก็คุ้มครองอยู่แล้ว ถ้าคลังช่วยถือว่าค้ำประกันกลายๆ" เขากล่าว

ส่วนเงินทุนส่วนที่เหลือ จะมาจากการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ใส่เงินเพิ่มทุนให้แล้ว 555 ล้านบาท ในขั้นตอนต่อไป จะเสนอขอเพิ่มทุนอีก 2 พันล้านบาท ส่วนเงินทุนจำนวนที่เหลือ มีแผนจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิวงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาทบวกลบ

"ขณะนี้ ฝ่ายวางแผนกำลังทำแผนการระดมเงินทุน เพื่อเตรียมเสนอเข้าโครงสร้างการบริหาร และเสนอผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดว่า กระบวนการระดมเงินทุนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน แต่จะเป็นไปในลักษณะทยอยดำเนินการ" เขากล่าว

ด้านความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย นายพิชัย กล่าวว่า ในระยะเวลา 4 เดือน นับตั้งแต่แผนฟื้นฟูกิจการเริ่มต้น ขณะนี้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียได้แล้ว 2.6-2.7 พันล้านบาท โดยมีเป้าจะแก้ไขให้เสร็จ 10,000 ล้านบาทภายในปีนี้ จากหนี้เสียทั้งหมด 30,000 ล้านบาท การแก้ไขหนี้เสียดังกล่าว เป็นส่วนของรายใหญ่เกือบทั้งหมด ส่วนรายย่อยกำลังเริ่มดำเนินการ หากมีหนี้เสียที่ไม่สามารถแก้ไขได้มีแผนจะตัดขายออกไป

เขากล่าวด้วยว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถกลับมาทำกำไรได้มากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อจึงมีความจำเป็น โดยเรามีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยให้ได้ 80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% และมีเป้าวงเงินสินเชื่อต่อรายที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทสำหรับรายย่อย และไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับรายใหญ่ ซึ่งในส่วนรายใหญ่นี้ จะมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป

"ใน 4 เดือน เราปล่อยกู้รายย่อยไปจำนวนมาก หรือกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ และเก็บหนี้คืน โดยผลของการเติบโตสินเชื่อปล่อยใหม่จะต้องมากกว่าเก็บหนี้คืน 5% คิดว่า สินเชื่อยอดสินเชื่อคงค้างปีหน้าจะอยู่ 1.02-1.03 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ส่วนระยะยาว 5 ปี ตั้งเป้าโต 50% ผมอยากเห็นยอดสินเชื่อคงค้างโต 150,000 ล้านบาท" เขากล่าว

นอกจากนี้ เรายังมีแผนจะลงทุนด้านไอที เพื่อให้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและรัดกุม ขณะเดียวกัน จะพัฒนาบุคลากรที่ดูแลด้านสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาให้เหมาะกับสาขาสินเชื่อที่จะปล่อย และ ปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานให้รัดกุม เพื่อป้องกันการปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ และอีกหนึ่งในวิธีการลดความเสี่ยงสินเชื่อ คือ จะไม่รีไฟแนนซ์สินเชื่อจากแบงก์อื่น และจะไม่รีไฟแนนซ์สินเชื่อให้ลูกค้าตัวเอง ด้วยแนวทางดังกล่าว เชื่อว่า จะช่วยป้องกันการแทรกแซงการปล่อยสินเชื่อจากฝ่ายการเมืองได้

ทั้งนี้ พนักงานที่เกี่ยวกับสินเชื่อ ได้จัดอบรมพนักงานให้เหมาะสมกับกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเป้าหมาย เพราะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป หลังภูมิภาคนี้เติบโต ซึ่งมีการมาลงทุนในอาเซียน การค้าขายชายแดนก็เกิดขึ้น พวกนี้ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งขณะนี้อัตรากำลังคน 1,732 คน นโยบายคือ อัตราการโต 0%

"คนภายนอกมองการเมืองแทรก ถามว่า มีวิธีทำให้ไม่ใกล้ชิดได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของ ดูแลโดยนักการเมือง ผมคิดว่า ที่ไหนก็เหมือนกัน แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน ใครมาก็ทำตามนี้ ถ้าไม่เขียน ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ อยู่ที่ตัวเองมากกว่า แต่ถ้าเราไม่แก้ไขระเบียบ ก็จะเกิดการเลือกปฏิบัติได้" เขากล่าว