รัฐถก'ฮาซัน ตอยิบ'ยอมลงนามพูดคุยสันติภาพ

รัฐถก'ฮาซัน ตอยิบ'ยอมลงนามพูดคุยสันติภาพ

สมช.นำคณะใหญ่ประเดิมถกแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ดึง"ฮาซัน ตอยิบ" ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ

การพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้นำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียนั้น ฝ่ายผู้นำขบวนการก่อความไม่สงบที่มาร่วมพูดคุย นำโดย นายฮาซัน ตอยิบ ซึ่งอ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต

แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยว่า การพบปะกันดังกล่าวเกิดขึ้นที่โรงเรียนตำรวจแห่งหนึ่งของมาเลเซีย

"ฮาซัน"คนรือเสาะ-ลงนามพร้อมพูดคุย

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะของเลขาธิการ สมช. กล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเรียบร้อย และได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ โดย นายฮาซัน ตอยิบ ได้ลงนามด้วยตัวเอง

"นายฮาซัน เป็นคนสุภาพมาก พูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เขาบอกว่าบ้านเกิดอยู่ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเคยเรียนหนังสือในโรงเรียนไทย นายฮาซันบอกกับคณะพูดคุยว่า คงจะต้องมีการพูดคุยกันแบบนี้อีกหลายครั้ง เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่"

เจ้าตัวยันเป็นบีอาร์เอ็น-ผบ.ทบ.ไฟเขียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจสอบประวัติของนายฮาซัน พบว่าเป็นแกนนำองค์กรพูโล ไม่ใช่บีอาร์เอ็น พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า ก็มีข่าวหลายกระแส แต่จากการพบปะกัน นายฮาซันยืนยันว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต

"กระบวนการพูดคุยทั้งหมด ได้รายงานให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับทราบทุกขั้นตอน ซึ่งท่านก็เห็นด้วย และได้ให้นโยบายว่าควรเดินหน้าพูดคุยกับคนที่ไม่มีหมายจับ เพราะในกลุ่มที่มีหมายจับหรือมีการกระทำผิดกฎหมายอาญา จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย"

เตือนใต้ป่วนต่อจากกลุ่มต้าน-ภัยแทรกซ้อน

รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าจุดยืนของรัฐบาลเรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

"แน่นอนว่าในห้วงเวลานับจากนี้ จะต้องมีการก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้างจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือพวกภัยแทรกซ้อนต่างๆ ที่เสียผลประโยชน์ (กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด) ซึ่งกลุ่มเหล่านี้น่าจะร่วมผสมโรงก่อเหตุรุนแรง ก็ต้องฝากให้สังคมไทยมีความเข้าใจและอดทนกับการดำเนินกระบวนการสันติภาพต่อไป" พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ

เปิดตัวฝ่ายไทยเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพ

สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่ได้เข้าร่วมพูดคุยกับนายฮาซัน ตอยิบ และพวก ได้แก่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้เคยมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์

นอกจากนั้นยังมี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ผู้แทน ผบ.ทบ. ผู้แทนเสนาธิการทหารบก ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ว่าราชการจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

"นาจิบ"ชิงแถลงช่วยไทยพูดคุยดับไฟใต้

ในการแถลงร่วมกันของ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ปรากฏว่า นายนาจิบ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแถลง พูดถึงการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยที่กลุ่มบีอาร์เอ็น ลงนามร่วมกับฝ่ายความมั่นคงของไทย ในช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.พ.
นายนาจิบ กล่าวตอนหนึ่งว่า การหาความเห็นร่วมกันเพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพ การลงนามร่วมกันดังกล่าวจะนำไปสู่การยุติความรุนแรงและสันติภาพที่แท้จริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

การพูดคุยสันติภาพ (Peace Dialogue) เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นความหวังของผู้คนจำนวนมาก และเป็นความหวังของอาเซียนด้วยหลังจากนี้ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำต่อเนื่อง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ กระบวนการจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการโดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยและมาเลเซียจะทำงานร่วมกัน พร้อมดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

"มาเลเซียมีความยินดีที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุยสันติภาพและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ" นายนาจิบ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนาจิบใช้เวลาอีกเพียงเล็กน้อย พูดถึงความร่วมมือกับไทยในด้านอื่นๆ ตามที่ได้มีการหารือแบบทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของไทย เช่น ความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าชายแดน เป็นต้น ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้พูดถึงบทบาทของมาเลเซียในเรื่องการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจนนัก เพียงแต่แถลงตามเอกสารที่จัดเตรียมมา ซึ่งส่วนใหญ่ระบุถึงความตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย 4 ฉบับ

"ทวี"บอกข้อตกลงล็อคห้ามแยกดินแดน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เอกสารที่ลงนามร่วมกัน เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า การพูดคุยและแนวทางที่จะทำให้เกิดสันติภาพ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เท่ากับว่าเป็นการปิดทางความพยายามแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
ส่วนการเริ่มกระบวนการพูดคุยใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า อาจใช้สถานที่ในประเทศมาเลเซีย ในฐานะที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการพูดคุย