ดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่มีเงิน แต่มีทักษะ

ดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่มีเงิน แต่มีทักษะ

ดิจิทัลวอลเล็ตวันนี้ดูเหมือนจะหมายถึง เงินแจกหมื่นบาทให้ใช้ซื้อข้าวของ ซื้อบริการต่างๆ ซึ่งก็ยังมีการถกเถียงว่าดี ไม่ดีกันยังไม่จบสิ้น แต่ในวงการอื่นๆ มีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกว้างขวางกว่าการใช้แจกเงินมากมายนัก

ที่ใกล้ตัวที่สุดน่าจะเป็น Boarding Pass ที่ใช้ขึ้นเครื่องบินที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลวอลเล็ตกันมากมายในวันนี้

แต่ที่ถือเป็นนวัตกรรมเรื่องหนึ่งได้ คือการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อแสดงความรู้ความสามารถของคนแต่ละคน เป็นกระเป๋าที่ไม่ได้เก็บเงินไว้ แต่เก็บใบรับรองความรู้และทักษะที่คนคนนั้นมีอยู่ โดยเก็บไปตลอดชีวิตการงาน ไม่เก็บเงิน แต่เก็บอะไรสักอย่างที่ไปใช้ทำเงินได้

เมืองทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ ชื่อว่า Oss เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านอาหาร เภสัชกรรม และอิเล็กทรอนิกส์ สนใจว่าจะทำให้ผู้คนของเขายังคงรักษาความสามารถในการได้งานทำอย่างต่อเนื่อง ในทุกช่วงอายุได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือจัดให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้คนในเมืองนี้ ซึ่งไปคล้ายกับแนวคิดเรื่อง Learning City ของ UNESCO

เมืองนี้เลยไปสมัครเป็นสมาชิกเครือข่าย Lifelong City ของยูเนสโก แต่แทนที่จะทำตามเหมือนเมืองอื่นๆ ที่เคยได้รับรางวัลจากยูเนสโก เมืองนี้คิดไปไกลขึ้นอีกขึ้นหนึ่ง คือต้องการทำให้ทุกคนมีหลักฐานยืนยันความสามารถและทักษะที่ตนเองมีอยู่ พร้อมที่จะใช้ในการหาการงานทำ หรือแม้แต่ใช้ในการยืนยันความสามารถของตนเองในการเป็นผู้ประกอบการ

ใครมาเป็นลูกค้าจะได้เชื่อเครดิตว่าทำมาค้าขายด้วยได้แน่นอน ถ้าทำหลักฐานนี้เป็นกระดาษแสดงว่ามีปริญญา หรือมีการอบรมอะไรมาบ้าง เคยทำงานหน้าที่ใดมาบ้าง ผลงานที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง เคยทำงานอะไรบ้างให้ชุมชน ให้สังคมบ้าง คงเป็นแฟ้มขนาดใหญ่ ที่ต้องเติมเต็มกันตลอดชีวิตการงาน

แค่ใครอยากจะยืนยันกับคนที่ออกใบปริญญา ใบรับรองการงานนั้น ก็ต้องติดต่อกับหลายหน่วยงาน ต้องดำเนินการหลายขั้นตอน หรือถ้าละเลยไม่พิสูจน์ว่าจริงไม่จริง ก็กลายเป็นโอกาสสำหรับคนไม่ดี ที่จะปลอมแปลงใบรับรองเหล่านี้ขึ้นมาได้ เจอปลอมสักครั้งสองครั้ง ความเชื่อถือก็หายไปหมด

เอกสารที่ใช้สมัครงานก็จะมีขั้นตอนยืนยันความเป็นจริงมากมายยิ่งขึ้น ยิ่งเพิ่มขั้นตอนก็ยิ่งทำให้ยุ่งยากและเสียเวลามากขึ้นกับทุกฝ่าย แฟ้มสะสมทักษะในรูปแบบเดิมจึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับวันนี้

เมื่อสหภาพยุโรปเริ่มมีแนวคิดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่ง พร้อมๆ กับที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกใบรับรองวิริยะฐานะในรูปแบบดิจิทัล เมือง Oss เลยริ่เริ่ม Skill Digital Wallet ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ โดยใช้เทคโนโลยีจาก Next Generation Digital Identity for Learning (NGDIL) Consortium ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาทั้งจากภาครัฐและเอกชน

มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบันทึกผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผู้คนมีอยู่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวกทั้งเจ้าของข้อมูลและนายจ้าง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง

โดยสิทธิในการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลยังคงเป็นของเจ้าของข้อมูลเต็มที่ การใช้งานก็เหมือนกับการใช้แอปวอลเล็ตในสมาร์ตโฟนที่มีกันอยู่ทั่วไป แต่เบื้องหลังเป็นเทคโนโลยี Block Chain และ Decentralized Identifiers ที่ใช้ได้ดีในระดับเมือง แต่อาจมีข้อจำกัดในการขยายไปใช้ในประเทศใหญ่ๆ ในอนาคต

กระเป๋าดิจิทัลใบนี้ เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของว่าเป็นใคร อายุเท่าใด ที่อยู่อยู่ที่ไหน พร้อมทั้งข้อมูลสุขภาพที่จำเป็น ในส่วนความรู้และทักษะก็เก็บไว้ว่า ได้เล่าเรียนอะไรมาบ้าง ฝึกอบรมอะไรมาบ้าง ทำงานในหน้าที่การงานอะไรบ้าง ทำงานสังคม งานชุมชน

หรือแม้แต่เคยเล่นกีฬา เคยร้องเพลง เล่นดนตรี มามากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกเรื่องจะต้องมีคนยืนยันความรู้ความสามารถนี้ และเป็นผู้ออกใบรับรองที่นำมาบันทึกไว้ใน Skill Digital Wallet ของแต่ละคน ไม่ได้บันทึกเอาเองตามชอบใจ

ถึงไม่ได้มีเงินอยู่ในกระเป๋าก็จริง แต่กระเป๋าใบนี้ช่วยทำเงินให้เจ้าของได้แน่ๆ โดยไม่ต้องรอให้ใครไปเอาเงินจากที่ไหนก็ไม่รู้ มาแจกให้.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร  

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี