'โคลเวอร์ เพาเวอร์' ปั้นพอร์ตธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด

'โคลเวอร์ เพาเวอร์' ปั้นพอร์ตธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด

“โคลเวอร์ เพาเวอร์” ปั้นพอร์ตธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเงินขยายกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าปีนี้แตะ 85 เมกะวัตต์ และปี 66 แตะ 180 เมกะวัตต์ มองโอกาสทำดีล M&A

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "CV" ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมการออกแบบครบวงจร ระบุว่า บริษัท มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามเมกะเทรนด์ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งจะทำให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในประเทศไทย ก็มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วน โดยตามแผน PDP2018 Revision 1 ที่มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จำนวน 56,431 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนจำนวน 18,696 เมกะวัตต์

โดย บริษัท เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่กระบวนการยื่นไฟลิ่ง โดยภายหลังจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีแผนนำเงินเพื่อใช้สำหรับการขยายกำลังการผลิต ตั้งเป้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าให้มีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 และเพิ่มเป็นกว่า 180 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 จากปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์

“มั่นใจในศักยภาพจุดแข็งของบริษัท ที่มีประสบการณ์งานออกแบบวิศวกรรมก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาหลายปี ทำให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่ำและแข่งขันได้ จะเป็นโอกาสช่องว่างทางธุรกิจในปัจจุบันเข้าไปดำเนินการขยายธุรกิจให้เติบโตในอนาคต”

นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ประกอบธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ธุรกิจหลัก ได้แก่ 

1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ (ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 16.69 เมกะวัตต์) แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล CV อ.วังชิ้น จ.แพร่ กำลังผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้า CPL อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กำลังการผลิตติดตั้ง 4.9 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าชีวมวล RTB อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ CPX อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร กำลังการผลิตติดตั้ง 2.0 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงคัดแยกและแปรรูปขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 โครงการ กำลังการผลิตประมาณ 150 ตันต่อวัน และโครงการโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าซื้อกิจการ 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในต่างประเทศ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 40.0 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้บริษัทยังเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องด้วย

“ตามแผนPDP และAEDP ยังเปิดโอกาสรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 29,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 และยังมีช่องว่างชีวมวลอีก 3,000 เมกะวัตต์ จึงเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับบริษัท และก็มองหาโอกาสจากโซลาร์เซลล์ด้วย รวมถึงยังสนใจโรงไฟฟ้าชุมชนฯ”

2.ธุรกิจด้านงานวิศวกรรม (Valued EPC) เน้นให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะและชีวภาพ และงานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน และงานโครงการที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่งานด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และก่อสร้าง (Engineering Procurement and Construction: EPC) แบบครบวงจร ให้แก่ โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทและลูกค้าทั่วไปมากกว่า 14 โครงการ

และ3.ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ให้แก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าทั่วไป พร้อมมุ่งเน้นให้บริการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินกิจการภายใต้ SBE บริษัทมีทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการปฎิบัติงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ CV มีประสบการณ์พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า รวมถึงมีพื้นฐานความเชี่ยวชาญงานวิศวกรรมออกแบบ และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (EPC) มากว่า 15 ปี และการที่กลุ่มบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเดินเครื่องจักร และการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ทำให้มีความเข้าใจในเทคนิคการออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยี การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้างและการเดินเครื่องจักร ถือเป็นจุดแข็งบริษัทในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในอนาคต