ธปท.ชี้โควิดทุบเศรษฐกิจ 'ยาวนาน-รุนแรง' คาดฟื้นไตรมาส 1 ปี 66

ธปท.ชี้โควิดทุบเศรษฐกิจ 'ยาวนาน-รุนแรง' คาดฟื้นไตรมาส 1 ปี 66

แบงก์ชาติประเมินสถานการณ์ระบาดในประเทศหลายระลอก กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยาวถึง 1 ปีครึ่ง ลุ้นไตรมาส 1 ปี 66 ฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด-ประเมินแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” ว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยาวนานและรุนแรง จากการใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายระลอก ขณะที่การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธปท.จึงคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งนับจากนี้ หรือไตรมาส 1 ปี 2566 กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ดังนั้น การออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้ และอยู่รอดถึงวันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยสถานการณ์เช่นนี้เป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2563 ธปท.ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้ในหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่ให้สถาบันการเงินพักและชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินต้น-ลดดอกเบี้ย การประการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผู้นัดชำระหนี้ให้เป็นธรรม การให้สินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน

รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่ออกไปล่าสุดเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหา ซึ่ง ธปท.จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อวางแนวทางสำหรับมาตรการเพิ่มเติมต่อไปตามสมควร

“วิกฤตในครั้งนี้ย่อมจะทิ้งรอยแผลเป็นให้กับธุรกิจไทย และศัยภาพการท่องเที่ยวของไทยไปอย่างยาวนาน คำว่า ‘วัคซีน’ ในที่นี้ หากจะไม่ได้จำกัดแต่การสร้างภูมิให้แก่บุคคลเพื่อรับมือกับโรคร้ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่วัคซีนยังหมายถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจในโลกหลังโควิด-19 และเตรียมพร้อมกับความผันผวนที่คาดไม่ถึงในอนาคตอีกด้วย”

การสร้างภูมิแก่ธุรกิจในโลกใหม่ข้างต้นจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน ที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 3 ประกาศ ได้แก่ 1. ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานชีวอนามัยขั้นสูง สนใจความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังต้องการความสะดวกสบายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม 2. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะต้องสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และสร้างประสบการณ์ดิจิทัลการลูกค้าให้ได้รับความสะดวกในการจอง การจัดการเดินทาง และการชำระเงิน รวมถึงการจัดเตรียมบริการที่ปรับให้สอดคล้องกับความชอบของแต่ละบุคคล (Personalization)

และ 3. ความยั่งยืนของอุตสาหรกรมการท่องเที่ยวไทยที่ต้องหันมาทบทวนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การผสมผสานการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง และการสร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว