สศค.ชี้โครงสร้างภาษีใหม่ไม่เน้นเพิ่มรายได้รัฐ

สศค.ชี้โครงสร้างภาษีใหม่ไม่เน้นเพิ่มรายได้รัฐ

สศค.ระบุ การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการระหว่างปี 65-69 ไม่ได้เน้นการเพิ่มรายได้รัฐเพียงอย่างเดียว แต่จะวางอยู่บนเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน รองรับดิจิทัลอีโคโนมี ส่งเสริมกรีนอีโคโนมี และต้องเป็นธรรม

นายพิสิทธิ์ พัวพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการร่างแผนปฏิรูปภาษีอากรของประเทศ โดยกำหนดแผนปฏิรูปในช่วงปี 2565-2569 มีเป้าหมายสำคัญใน 4 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน

กล่าวคือ ระบบภาษีจะต้องทำให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ มีความเข้าใจง่าย และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้รัฐบาล โดยจะต้องมีทบทวนการยกเว้นและลดหย่อนทางภาษีต่างๆในปัจจุบันและขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น

2.รองรับดิจิทัล อีโคโนมี โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภาษี ให้การยื่นภาษีและการดำเนินการขั้นตอนต่างๆทางภาษีบนระบบออนไลน์และการจัดเก็บภาษีอีบิซิเนส

3.ส่งเสริมกรีนอีโคโนมี โดยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 4.ระบบภาษีจะต้องเป็นธรรม ทั่วถึง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสนับสนุนโครงข่ายรองรับทางสังคมและสุขภาพ โดยระบบภาษีที่ดีจะต้องเป็นระบบภาษีที่เป็นธรรมและทั่วถึง รวมถึง จะต้องเป็นระบบภาษีที่สนับสนุนเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

เขายังกล่าวถึงแผนการคลังระยะปานกลาง ในช่วงปี 2565-2558 ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนไปแล้วเมื่อราวเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า อาจต้องปรับปรุงแผนหากรัฐบาลตัดสินใจออกพ.ร.ก.เงินกู้อีก 1 ฉบับ โดยเฉพาะการคาดการณ์ในเรื่องหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่อาจเปลี่ยนแปลงในทางที่สูงกว่าคาดการณ์ตามแผนการคลังระยะปานกลาง โดยที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564หรือในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ระดับหนี้สาธารณะเมื่อรวมเงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว จะอยู่ที่ราว 58%ของจีดีพี

ทั้งนี้ แผนการคลังระยะปานกลาง มีเป้าหมายสองประการ คือ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ เพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ 2.ปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะยาว

“เพื่อบรรลุเป้าหมายการคลังดังกล่าว จะต้องดำเนินการในสามประการคือ 1.Reform การจัดเก็บรายได้ของประเทศ 2.Reshape คือการปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และ 3.Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกัน”