เร่งปรับพอร์ตอย่างมีวินัย รับภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน

เร่งปรับพอร์ตอย่างมีวินัย  รับภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน

ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “ทางออกการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์” โดยมี นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “ทางออกการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์” โดยมี นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์ นายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ และนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมวงสัมมนาสะท้อนทางออกการลงทุนในภาวะดังกล่าว เนื่องจากยังมีตัวแปร หรือปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุน โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่คงเป็นปัจจัยรบกวนบรรยากาศการลงทุน

เกียรติศักดิ์ ระบุว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งแนวโน้มมีโอกาส และมองว่าจะเกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยช่วงระยะสั้นเท่านั้น หรือภายใน 6 สัปดาห์ โดยคาดอาจทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 4-8% เท่านั้น นอกจากนี้ในช่วงอีกไม่เกิน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้น จะมีโอกาสพักฐานอยู่บ้าง และแม้หุ้นจะมีราคาแพง แต่ยังสามารถเข้าซื้อเพื่อลงทุนได้ 

"ผมมองว่า ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ แนวโน้มหุ้นไทยยังเป็นช่วงขาขึ้นไปได้ไกล และดัชนีมีโอกาสทะลุ 1650 จุด ภายใต้ภาพรวมพื้นฐานเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มกลับฟื้นตัว จากมาตรการรถคันแรกใกล้ครบกำหนด และกำลังซื้อจะกลับมาฟื้นตัว สะท้อนจากยอดขายรถพลิกกลับมาเป็นบวกแล้ว และการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดปลายปีหน้า"

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ เกียรติศักดิ์ ยังคงให้น้ำหนักปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐ เนื่องจากประเมินว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ 1 ครั้ง แต่คงไม่รุนแรงมาก และการเลือกตั้งในสหรัฐช่วงปลายปี อีกทั้งยังมีปัจจัยของเบร็กซิท ที่ยังมีผลต่อเนื่อง เพราะหากมีประเทศอื่นออกจากกลุ่มยุโรป อาจทำให้ตลาดตื่นตระหนกได้อีกครั้ง

ดังนั้น ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และยังมีความเสี่ยงในระยะสั้น ที่ตลาดมีโอกาสพักฐานบ้าง แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปต่อได้ ดังนั้นหากนักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้น ก็ยังมีโอกาส หรือทางเลือกโดยหาผลตอบแทน หรือควรเลือกหุ้นที่อิงกับปัจจัยการบริโภคที่ฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มแบงก์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ขณะที่ สมิทธ์ กลับมองว่า โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในช่วงระยะสั้น เริ่มมีไม่มากแล้ว เพราะ PE เฉลี่ยปัจจุบันสูงถึง 15 เท่าจากในอดีต แต่ PE ที่สูง ยังมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจากพื้นฐานที่ดี โอกาสตลาดหุ้นไทยยังไปต่อได้ อีกประมาณ 3-5% เท่านั้น 

ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังมีความเสี่ยงทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ ซึ่งยังต้องติดตาม ทั้งการเลือกตั้งสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น อีกทั้งต้องเกาะติดความชัดเจนการเมืองภายในประเทศ แม้ว่าการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องดูความชัดเจนหลังจากการเลือกตั้ง สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ขณะเดียวกันภาวะดอกเบี้ยต่ำ หรือติดลบในหลายประเทศ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่แบบนี้ไปอีกนาน เพราะหลายภูมิภาคของโลก กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ความต้องการซื้อสินค้าลดลง เงินอัดฉีดเข้ามาในระบบถูกนำไปซื้อสินค้าลงทุนแทนที่จะซื้อสินค้า ขณะที่เฟด ยังไม่น่าขึ้นดอกเบี้ย แต่นักลงทุนต้องจับตาดูราคาน้ำมัน เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่วนตลาดหุ้นไทยเริ่มแพง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ จะออกมาดีกว่าที่คาดก็ตาม 

ดังนั้น นักลงทุน ควรมีวินัยในการทยอยการลงทุน และทำกำไรออกมาบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา นักลงทุนไม่สามารถขายหุ้นได้ในจังหวะที่ดัชนีขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุด และการที่ PE ของตลาดอยู่ในระดับ +2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ส่วน ศรชัย ให้มุมมองว่า ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาหุ้นตลาดหลักๆ และราคาพันธบัตร ต่างปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่ยังคงขยายตัวอย่างช้าๆ และประสิทธิภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น นักลงทุน จึงควรมีการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพ ที่มีการสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ  เช่น กองทุนอสังหาฯ กองรีท กลุ่มตราสารหนี้เอกชน investment Grade ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

รวมถึงสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดยไม่ผันผวนไปตามภาวะตลาด หรือใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute Return และLong -Short  สร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ย 6-7% ต่อปี มีการควบคุมความเสี่ยงที่ดีค่าเฉลี่ย 6-8%  อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ไปผลตอบแทนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบในอดีต 

ขณะที่นายสุวรรณ วลัยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาษีอากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ย้ำว่า หลังจากนี้จะเห็นกลุ่มผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จำนวนมากปรับตัว จากกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่  ดังนั้น ทางออกของคนที่มีบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์หลายหลัง อาจเลือกโอนกระจายทรัพย์สินให้กับภรรยา สามี และทายาท เพราะจะมีการยกเว้นการเสียภาษีสำหรับคนที่มีอยู่อาศัยหลังเดียว

ส่วนคนที่มีดินว่างเปล่าจำนวนมาก อาจหันมาทำการเกษตร เพื่อปรับสภาพจากที่ดินเปล่า ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร หรืออาจนำที่ดินไปให้เกษตรกรเช่าในราคาถูก เพื่อทำการเพาะปลูกแทน แต่เชื่อว่าภาษีใหม่ไม่น่ากระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้มากนัก เพราะสามารถหารายได้มากกว่าภาษีที่จ่ายออกไป