จับตาขบวนการ 'ประชารัฐ' เคลื่อนคู่ขนาน 'ประชานิยม คสช.'

จับตาขบวนการ 'ประชารัฐ' เคลื่อนคู่ขนาน 'ประชานิยม คสช.'

(รายงาน) จับตาขบวนการ "ประชารัฐ" เคลื่อนคู่ขนาน "ประชานิยม คสช."

บ่ายโมง วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดปฏิบัติการ “มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ” ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่มฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมเมืองทองธานี

พูดจาภาษานักการตลาด ก็ต้องบอกว่า “คิกออฟ! ประยุทธ์นิยม กระตุ้นรากหญ้า”

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ รวมวงเงิน 136,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ด้วยการให้เงินกองทุนหมู่บ้านกู้จากรัฐบาล แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร วงเงิน 60,000 ล้านบาท 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน วงเงิน 36,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) รับผิดชอบ โดยใช้จ่ายผ่านตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท 3.มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น ภายในระยะเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558


วิธีคิดและวิธีทำงานแบบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะแม่ทัพเศรษฐกิจ จะต้องมีปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้น รายการคิกออฟประยุทธ์นิยม จึงบังเกิดขึ้น


ถัดจากนั้นไปอีก 3 วัน “สมคิด” จะเดินทางไปกระทรวงมหาดไทย เพื่อประชุมวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่ออธิบายขยายความเรื่องเงินผันยุค คสช.หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน “ตำบลละ 5 ล้าน”


วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายนนี้ เปิดปฏิบัติการ “แนวคิดสานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” โดยภาคประชาสังคมและเอกชน เป็นเจ้าภาพ อาคารอิมแพ็คฟอรั่มฮอลล์ 9 เมืองทองธานี

นี่คือ 3 อีเวนท์ต่อเนื่อง สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาตรการดังกล่าว มันจะเป็นจุดเปลี่ยนของเกมอำนาจในอนาคต


ปฏิบัติการ “แนวคิดสานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” นั้น เกิดมาจากระดมสมองของภาคประชาสังคม กับภาคธุรกิจที่เห็นพ้องต้องกันว่า จะทำอย่างไร ให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ มีความแตกต่างจากประชานิยมทั่วๆไป


แกนหลักของเรื่องนี้คนหนึ่งคือ นพ.พลเดช ปิ่นประเทีป อดีตสมาชิสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เรียกตนเข้าไปประชุมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เรียกว่า “สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก”


นพ.พลเดช จึงได้เสนอให้ดึงกำลังของประชารัฐเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมา เม็ดเงินที่รัฐบาลลงทุนไป กลายเป็นเพียงเม็ดเงินที่ใช้เพื่อการบริโภค หมุนเวียนหนี้สิน ไม่ค่อยได้มีการนำไปสานต่อในการลงทุน จึงไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยแต่อย่างใด


ดังนั้นในฐานะตัวแทนของภาคประชาสังคม จึงได้เสนอแนวคิดเปลี่ยนเม็ดเงินที่รัฐลงทุนไปให้เป็นการลงทุนทางสังคม เพื่อให้เกิดการสะสมฐานของทุน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม โดยฐานทุนเหล่านี้จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจฐานรากในระยะยาว


หมอพลเดช มีแผนจะใช้เครื่องมือ 3 อย่าง ประกอบด้วย 1.การกำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำเมนูตัวอย่างของโครงการกิจกรรม 2.คือการจัดเวทีสาธารณะตามอำเภอ ซึ่งจะมีขึ้นทุก 3 เดือน โดยผู้เข้าร่วมมีทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ นักธุรกิจท้องถิ่นและนักวิชาการ ไปพูดคุยกัน ว่าเงินแต่ละบาทที่ดำเนินตามโครงการนั้น ใช้ทำอะไรบ้าง มีการดำเนินการอย่างไร และได้ผลหรือล้มเหลว เมื่อทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันและนำข้อสรุปมาปรับปรุงการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น


3.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับ ก็คือ คณะกรรมการนโยบายระดับชาติ ซึ่งอาจจะมีรองนายกฯ สมคิดนั่งเป็นประธาน คณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวง อธิบดีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดโดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน


หมอพลเดช ย้ำว่า “แนวคิดดังกล่าวที่นำเสนอมา ไม่ใช่ประชานิยมอย่างที่ผ่านมาแน่นอน หรือถ้าหากจะเรียกว่าเป็นประชานิยม แนวคิดนี้ก็คงเป็นประชานิยมในมิติใหม่ที่ดีกว่า”


เหตุใดผู้คร่ำหวอดในภาคประชาสังคมมายาวนาน จึงมั่นใจว่า นี่คือประชานิยมในมิติที่ดีกว่า
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2544 พรรคไทยรักไทย ประสบชัยชนะอย่างท่วมท้นจากสนามเลือกตั้ง ด้วยนโยบายประชานิยม และเดือนพฤษภาคมมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ”ให้ สุวิทย์คุณกิตติ เป็นประธานและหมอพรหมินทร์ในฐานะเลขาธิการนายกฯ เป็นเลขานุการ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมอาทิ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, เอนกนาคะบุตร,นพ.พลเดชปิ่นประทีป ฯลฯ เข้าร่วม


ต่อมา “หมอพลเดช” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ “สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” (สทบ.) อีกตำแหน่งหนึ่ง


นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอ “ยุทธศาสตร์ประชารัฐ” เพื่อสร้างคุณภาพกองทุนหมู่บ้าน โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานประชารัฐในระดับจังหวัดขึ้นมาเป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อเสริมการทำงานของมหาดไทยผู้ขับเคลื่อนหลักในพื้นที่


สมัยโน้น แคมเปญ “รวมพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน” ดังครึกโครมอยู่ปีเดียว ก็โรยรา เนื่องจากฝ่ายการเมือง สนใจผลสัมฤทธิ์ของกองทุนหมู่บ้านมากกว่าการสร้างคุณภาพของกองทุน จึงทุ่มเงินสู่หมู่บ้านแบบหวังผลคะแนนเสียงอย่างเดียว


มาวันนี้ “หมอพลเดช” กลับมาตามล่าหาฝัน “ประชารัฐ” อีกครั้ง ในบริบททางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้สานุศิษย์ของ นพ.ประเวศ วะสี วาดหวังว่า คณะนายทหารจะเห็นดีเห็นงามกับการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ด้วยยุทธศาสตร์ประชารัฐ


แนวคิดประชารัฐ เปลี่ยนเม็ดเงินที่รัฐลงทุนไปให้เป็นการลงทุนทางสังคมนั้น ภาคประชาสังคมจึงเชื่อว่า จะทำให้ประชานิยมยุคนี้ มีมิติที่ดีกว่าในอดีต

...................................................................
(ล้อมกรอบ)


“สัมมาชีพ” จุดเชื่อม “สมคิด-ประเวศ”

หลายคนอาจกังว่า “หมอพลเดช” และศิษย์เอกของ “หมอประเวศ” มีความสัมพันธ์กับรองนายกฯ สมคิด อย่างไร? จึงมีการเปิดทำเนียบเสนอแผน “ประชารัฐ” ขับเคลื่อนคู่ขนานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างรวดเร็ว
อันที่จริง นพ.ประเวศ วะสี กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ริเริ่มการจัดตั้ง “มูลนิธิสัมมาชีพ” มาตั้งปี 2552 โดยยึดหลักคิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า


“ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ”


มูลนิธิสัมมาชีพ ได้เรียนเชิญบุคคลจำนวนมากจากหลากหลายวิชาชีพ เพื่อร่วมเป็นที่ปรึกษา กรรมการ และร่วมบริหารมูลนิธิ


ปัจจุบัน คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ ประกอบด้วย นพ.ประเวศ วะสี ประธาน, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองประธาน,สำราญ ภูอนันตานนท์ รองประธาน, นพ.มงคล ณ สงขลา รองประธาน,บุญยเกียรติ โชควัฒนา กรรมการ ฯลฯ


คณะกรรมการมูลนิธิฯ นำโดยสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธาน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองประธาน, ประชา หุตานุวัตร รองประธาน ฯลฯ


ดร.วณี ปิ่นประทีป คู่ชีวิตของหมอพลเดช และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ก็เป็นคณะกรรมการมูลนิธิฯ ด้วยเช่นกัน


ส่วนประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ คือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
“สนธิรัตน์” เป็นแกนหลักของมูลนิธิสัมมาชีพ ที่ได้แสวงความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจฐานราก เช่นร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)


มูลนิธิสัมมาชีพ หวังจะทำให้เกิดกลไกหนุนเสริมศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมา ทำหน้าที่ประสาน และเชื่อมโยงชุมชน ภาคีพัฒนาและภาคธุรกิจ ให้มาทำงานร่วมกัน สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ขึ้นมา


จริงๆแล้ว มูลนิธิสัมมาชีพ ก็คือจุดนัดพบของภาคประชาสังคม กับภาคธุรกิจ ในอันที่จะสร้างฝันร่วมกัน เพื่อสร้าง “เศรษฐกิจติดแผ่นดิน” ตามแนวคิดหมอประเวศ