สั่งคุมเข้มช่วงปีใหม่

สั่งคุมเข้มช่วงปีใหม่

"ประยุทธ์"สั่งฝ่ายความมั่นคงประสาน"คสช.-มหาดไทย-สตช.-กทม."คุมเข้มความปลอดภัยประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่

เตือนใครที่คิดก่อเหตุความวุ่นวายอย่าทำ "แก้วสรร"ยื่นหมื่นรายชื่อจี้รัฐฟ้อง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"เรียกชดเชยจำนำข้าวเจ๊ง ป.ป.ช.สรุปไม่มีอำนาจสอบคุณสมบัติ "ภักดี" ขณะที่กมธ.ยกร่างรธน.สรุปมีข้อเสนอแนะยกร่าง 272 เรื่อง จัดเป็น 4 กลุ่ม เตรียมพิจารณาลงรายมาตรา 12 ม.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ให้เกิดความปลอดภัย ประชาชนมีความสุข และต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นต้องดูแลให้ได้

"เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่แล้ว ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)นั้น มีการติดกล้องวงจรปิดทั่วทุกบริเวณ เพื่อป้องกันและป้องปรามผู้กระทำผิด ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงได้ประสานกับ คสช. กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. ในการดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้ดีที่สุด ใครก็ตามที่คิดจะทำ หรืออยากเห็นความวุ่นวายก็อย่าทำ โดยในด้านการข่าวขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง"

ด้านนายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่า เรื่องการดูแลความปลอดภัยช่วงปีใหม่นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้สั่งการต่อเนื่องให้เร่งรัด ดูแล จัดระเบียบ โดยมีศูนย์บริการด้านความมั่นคงที่จะทำงานร่วมกันประสานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดูแลสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานหรือเหตุที่ส่งสัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการเดินทางเข้า-ออกประเทศของบุคคลต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้ละเลย เพราะที่ผ่านมาได้มีการประสานนานาประเทศ และมีการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออกโดยตลอด

ยธ.ถกหน่วยมั่นคงล่ามือปล่อยข่าวลือทุบหุ้น

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้หารือกับหน่วยงานความมั่นคงในประเด็นการดำเนินคดีมาตรา 112 กับกลุ่มคนที่มีพฤติการณ์ปล่อยข่าวทุบตลาดหุ้น และจาบจ้วงเบื้องสูง โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรมได้หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อติดตามตัวผู้กระทำความผิดเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในไทย แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางประเทศไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเนื้อหาข้อมูลในสื่อโซเชียลมีเดีย

"แก้วสรร"ยื่นหมื่นชื่อจี้รัฐเรียกชดเชยจำนำข้าว

ที่ศูนย์บริการประชาชน (ที่ทำการชั่วคราวสำนักงาน ก.พ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) นายแก้วสรร อติโพธิ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายหลายกลุ่ม อาทิ ชมรมวิศวฯ จุฬาฯร่วมปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มจุฬาประชาคม กลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย กลุ่มจุฬาฯ รักประเทศไทย กลุ่มไทยสปริง และกลุ่มที่มีชื่อว่า “สนับสนุนนายกฯตู่..เรียกร้องค่าเสียหายจำนำข้าว..จากรัฐบาลปู (สตป.)” เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนกว่า 10,800 ราย ถึงนายกฯ ผ่าน พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกฯ

โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเรียกร้องให้นายกฯ ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่พบตัวเลขขาดทุนทางบัญชีกว่า 5.1 แสนล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายแล้วนายกฯ มีหน้าที่ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่านายกฯ จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ตั้งแต่มีการตรวจสอบพบความเสียหาย และขอให้นายกฯ ดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวด้วย

ป.ป.ช.เผยไม่มีอำนาจสอบคุณสมบัติ"ภักดี"

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติและสถานะการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ของนายภักดี โพธิศิริ เมื่อครั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจมุ่งแสวงหาผลกำไร ดังนั้น จึงต้องลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวภายใน 15 วัน แต่จากหลักฐานปรากฏว่าเกิน 15 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 11 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงไม่มีสถานะเป็นกรรมการตั้งแต่ต้น

นายสรรเสริญ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบว่า กรรมการ ป.ป.ช.คนใดขาดคุณสมบัติหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 16 ได้บัญญัติถึงกระบวนการตรวจสอบว่า หากกรรมการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ให้วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที พรรคเพื่อไทย เคยใช้เอกสารเรื่องเดียวกันนี้แถลงต่อวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. และเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2555 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ออกเสียงลงมติไม่ให้นายภักดี พ้นจากตำแหน่ง จึงเห็นว่า วุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนได้พิจารณาข้อเท็จจริงจนได้ข้อยุติแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่มีเหตุต้องพิจารณาเรื่องนี้อีก

กมธ.ยกร่างรธน.แบ่งข้อเสนอเป็น4กลุ่ม

ด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ได้นำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้จากการรับฟังการอภิปรายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาพิจารณาเพื่อวิเคราะห์และจัดกลุ่มต่อการนำข้อมูลมาเขียนเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีการรายงานการพิจารณายกร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเบื้องต้น ตามที่นางกาญจนรันต์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณา

ต่อมานายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลการประชุมว่า จากการรับฟังข้อเสนอแนะของสนช. และสปช. ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่ามีข้อเสนอรวมทั้งสิ้น 272 เรื่อง แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มข้อเสนอที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ 2.กลุ่มข้อเสนอที่เป็นกฎหมายลูก และเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3.กลุ่มที่เป็นมาตรการทางการบริหารที่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และ 4.กลุ่มที่ยังไม่มีข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจน

เริ่มพิจารณารายมาตรา12ม.ค.ปีหน้า

โดยหลังจากการพิจารณาดังกล่าวนางกาญจนรัตน์ จะนำไปพิจารณายกร่างเป็นรายมาตรา พร้อมรายละเอียด และเหตุผลที่สามารถอธิบายในเนื้อหาการยกร่างเป็นรายมาตราได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีสปช. หรือสนช. เสนอแนะความเห็น ขณะนี้คณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยสาระสำคัญ เช่น พระราชอำนาจ องคมนตรี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่มีส่วนที่แก้ไขให้เหมาะสมในประเด็นปลีกย่อยซึ่งไม่สำคัญเท่านั้น ทั้งนี้บทบัญญัติหมวดพระมหากษัตริย์จะสรุปอีกครั้ง ในที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มพิจารณาลงรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2558

ยังไม่ปิดตายข้อเสนอเลือกตรงนายกฯ

นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของสปช.ที่ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งมีข้อถกเถียงและนำเสนอข้อมูลทั้งข้อดีและจุดเสี่ยงนั้น เบื้องต้นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ปิดประตูตายในประเด็นดังกล่าว แต่การนำข้อเสนอมาเขียนเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นต้องพิจารณาสาระสำคัญ คือ ต้องตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงการสร้างความสมดุลให้กับทุกฝ่ายในสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีที่ยืน ไม่ใช่บางฝ่ายถูกกันให้ออกห่าง หรือไม่ได้รับการฟังเสียงใดๆ โดยการพิจารณาเลือกประเด็นที่มีการถกเถียงและข้อเสนอดีหรือข้อเสียในจำนวนเท่าๆ กันนั้น

"การตัดสินใจเลือกข้อเสนอใดเขียนในรัฐธรรมนูญจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ และในข้อเสนอใดที่ได้รับการพิจารณาต้องมีคำอธิบายและเหตุผลประกอบในบทบัญญัตินั้นได้ ทั้งนี้ประเด็นการใช้วิจารณญาณนั้นจะนำไปใช้กับทุกมาตราเช่นกัน"

"บวรศักดิ์"ปัดขัดแย้ง"สมบัติ"

ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวขัดแย้งกับนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ว่า ตนกับนายสมบัติ เคารพนับถือกันมาก ไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด แต่ข้อเสนอที่นายสมบัติเสนอให้เลือกนายกฯและครม.โดยตรงนั้น ตนไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด ยกตัวอย่าง ข้อเสนอที่ไม่ให้นายกฯและครม.รักษาการภายหลังที่มีการยุบสภานั้น ข้อเสนอนี้ตนก็เห็นด้วย "อันไหนดีเราก็เอามา อันที่มีความเห็นขัดแย้งกันก็ต้องช่างน้ำหนักเลือกสิ่งที่ดีที่สุด"

"วีระกานต์"เข้าเสนอแนะยกร่างรธน.วันนี้

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีนายวีระกานต์ มุกสิพงศ์ แกนนำ นายอาคม สุวรรณพ และ นายนิรันด์ แก่นยะกูล ทั้งนี้นายวีระกานต์ ได้แจ้งว่าจะมาในนามส่วนตัวเพราะนปช.ไม่มีมติใดๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม แต่ตนมองว่านายวีระกานต์ถือเป็นบุคคลคนสำคัญในนปช. ดังนั้นจึงถือว่าเป็นตัวแทนของนปช. ได้

สนช.รับทราบปปช.จำหน่ายคดี310ส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธาน ก่อนเข้าสู่วาระ นายพรเพชร ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ประธาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึง สนช. 2 ฉบับ คือ 1.รายงานการไต่สวนกรณีการถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง กรณีมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 จากกรณีใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งพบว่าการกระทำของนายกิตติรัตน์ฟังไม่ได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

และ 2.กรณีขอให้ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 310 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมืองในวาระ 3 ซึ่งป.ป.ช.เห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นมูลฐานการพิจารณานำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอีกต่อไป ดังนั้น จึงมีมติให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ