ออกโรงโต้!อสส.ไม่ร่วมโต๊ะอาหารกับ'บิ๊กSC'

ออกโรงโต้!อสส.ไม่ร่วมโต๊ะอาหารกับ'บิ๊กSC'

"โกศลวัฒน์" รองโฆษกอัยการ แถลงโต้ระบุอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่ได้ร่วมโต๊ะอาหารผู้บริหาร "เอสซีแอสเซท"

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวชี้แจงกรณี ปรากฎการเผยแพร่ภาพและข้อความในเฟซบุค สื่อโซเชียล ที่มีการอ้างอิงถึงนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ว่า ตามที่ปรากฏภาพ และข้อความ ในหน้าแฟนเพจต่างๆ บนเฟซบุ๊ค อาทิ ล้านชื่อต้านล้างผิด , ขบวนการเสรีไทยเฟซบุค ,ห่วยตูน, รวมมิตรการเมือง เป็นต้น ได้ระบุว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ย.57 อัยการสูงสุด และทีมผู้บริหาร SC ASSET ภาพ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และ นางศันสนีย์ นาคพงษ์ ร่วมรับประทานอาหาร ที่ร้านโฮคิทเช่น (Ho kichen) นั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องขอชี้แจงให้ทราบว่า คืนวันที่ 14 พ.ย. นายตระกูล อัยการสูงสุดไม่ได้ไปร่วมงานตามที่ถูกกล่าวหา

นายโกศลวัฒน์ กล่าวย้ำด้วยว่า ภาพที่ปรากฏในเฟซบุค ดังกล่าว เป็นงานเลี้ยง ที่จัดโดยกลุ่มศึกษาหลักสูตร บยส.รุ่นที่ 18 กลุ่ม “ บัลลังก์ ” ที่มีนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง ที่เข้าอบรม บยส.รุ่น 18 ร่วมในงาน เพื่อหารือเตรียมการจัดงาน บยส.รวมรุ่น 1-19 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18 พ.ย. 57 และจะมีน.อ.อนุดิษฐ์ กับนางศันสนีย์ เป็นพิธีกร ขณะที่งานดังกล่าวจะเป็นการดำเนินรายการบนเวที กรณีจึง ไม่ใช่งานที่มีนายตระกูล อัยการสูงสุด ไปหารือกับทีมผู้บริหาร SC ASSET และวิพากษ์วิจารณ์กระทบถึงการทำหน้าที่ ตามที่ถูกกล่าวหา

“ อัยการสูงสุด มิได้มีส่วนในการจัดงานดังกล่าว และท่านก็ได้ใช้เฟซบุคส่วนตัวท่านเอง แจ้งไปยังบางเพจที่ได้ลงข้อมูลเท็จดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนด้วยความห่วงใยว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน การสร้างข้อความ การอ่านข้อความหรือ การส่งต่อข้อความใดๆ อันเป็นเท็จ ซึ่งอาจมีการตัดต่อภาพและข้อความ เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ขอได้โปรดใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณด้วย เนื่องจากอาจมีมูลให้เกิดความเข้าใจผิด การแตกแยกหรือละเมิดสิทธิผู้อื่นอันเป็นความผิดตามกฎหมายได้ ” นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเตือนและว่า การกระทำที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากพิจารณาข้อกฎหมาย อาจจะเข้าข่ายกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)(2) ฐานผู้ใดกระทำความผิด ด้วยการนำเข้าข้อมูลที่ปลอมไม่ว่างจะทั้งหมดหรือบางส่วน สู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท จริงๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งสังคมในโลกออนไลน์ เวลาที่กล่าวถึงบุคคลใด หากไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้ว มักจะมีการใช้อารมณ์ส่วนตัว และใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุนแรงในการด่าทอกันให้เสียหาย ซึ่งการคอมเมนต์ต่อๆ กันแล้วส่งผลให้บุคคลนั้นเสียหายจะเป็นความผิดได้ นอกจากนี้ยังจะสร้างความแตกแยก รวมทั้งการเข้าใจผิดในสังคมด้วย

เมื่อถามว่า อัยการสูงสุด จะแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ลงข้อความบิดเบือนหรือไม่ อย่างไร นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้นายตระกูล อัยการสูงสุด ยังไม่ได้สั่งการดำเนินคดีกับฝ่ายใด โดยชั้นนี้อัยการสูงสุด ต้องการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเสียก่อนหลังจากที่มีการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อความบิดเบือนและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ใช่เพียงแค่อัยการสูงสุดที่โดนกระทำเช่นนี้ แต่ระดับผู้บริหารประเทศก็ยังถูกกระทำเช่นนี้เหมือนกัน