ปัดประชานิยมแจกเงินชาวนา ลุยออกมาตรการช่วยสวนยาง

ปัดประชานิยมแจกเงินชาวนา ลุยออกมาตรการช่วยสวนยาง

"สมหมาย"ยันมาตรการแจกเงินชาวนา 4 หมื่นล้าน ไม่ใช่"ประยุทธ์นิยม" ต้องการช่วยเหลือเหตุราคาข้าวตกต่ำมาก

ย้ำทำครั้งเดียวจบ บอร์ดธ.ก.ส.ถกวาระพิเศษ 15 ต.ค. โอนเงินเข้าบัญชีชาวนา คาดช่วยเหลือได้ 2.9 ล้านครัวเรือน ย้ำนาเช่ามีสิทธิรับเงิน “อัมมาร” เตือนรัฐบาลรับมือชาวสวนยาง-มันสำปะหลังร้องอุดหนุน ขณะที่ “ปรีดิยาธร” ย้ำไม่ได้ทอดทิ้งชาวสวนยาง ขอเวลา 1 เดือนออกมาตรการช่วย ประธานสภาเกษตรกรสุพรรณบุรีชี้การจ้างงานขุดลอกคลองไม่ได้ผล เชื่อชาวนาเมินงดทำนาช่วงแล้ง

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ได้อนุมัติเงินช่วยชาวนาวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำกัดรายละไม่เกิน 15 ไร่ หรือรายละไม่เกิน 15,000 บาท เพราะรัฐบาลเห็นว่าราคาข้าวปีนี้ตกต่ำ เรื่องนี้นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการจ่ายเงินให้ชาวนาจะเริ่มได้ตั้งแต่กลางเดือนต.ค.นี้ ยืนยันไม่เป็นมาตรการประชานิยมและไม่ได้เป็น "ประยุทธ์นิยม" เพราะเป็นมาตรการที่มีเหตุผลในการดำเนินการ 2 ประการ

1.ปัจจุบันยังมีชาวนาที่ยากจนจำนวนมาก กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ขณะเดียวกันราคาข้าวตอนนี้ตกต่ำหรือต่ำกว่าระดับที่ชาวนาจะอยู่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต 2. ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะส่งออกไม่ได้ถือเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลงอมืองอเท้า จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ดังนั้นกลุ่มชาวนา กลุ่มผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นกลุ่มที่เหมาะที่จะเข้าไปกระตุ้น เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย มาตรการนี้ไม่ได้เป็นมาตรการถาวร แต่เป็นมาตรการที่ทำครั้งเดียว

เล็งหามาตรการช่วยชาวสวนยาง

ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลยอมรับว่า คงไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกกลุ่ม โดยจะเน้นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษ กลุ่มที่รัฐบาลกำลังติดตามดูอยู่ คือชาวสวนยาง ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แน่นอน เพราะได้หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

“ขอเวลา 1 เดือน เราเชื่อว่าราคายางตลาดโลกกำลังเพิ่มขึ้น ตอนนี้ถ้าดูตลาดล่วงหน้าเริ่มขยับขึ้นแล้ว อีกไม่นานราคาในประเทศคงจะเห็นผล ได้ข่าวว่าปริมาณการผลิตยางของโลก และของไทยลดลง แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้นราคาควรเพิ่มขึ้น แต่คงต้องใช้เวลา ตอนนี้เราก็กำลังดูมาตรการเสริม น่าจะทำให้ดีขึ้นได้จะพยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าราคาขึ้นไม่ถึงจุดที่พอใจคงต้องมีการช่วยเหลือ ยืนยันไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว”ม.ร.วปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ย้ำว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ออกมานั้น ไม่ใช่โครงการประชานิยม เพราะไม่ได้ทำขึ้นเพื่อหาเสียง แต่ทำขึ้นเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

บอร์ดธกส.ถกจ่ายเงินชาวนา15ต.ค.

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่าวันที่ 15 ต.ค.นี้ คณะกรรมการธ.ก.ส. ที่มีนายสมหมาย รมว.คลัง เป็นประธาน จะประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา โดยเงินส่วนนี้จะมาจากสภาพส่วนเกินจากเกณฑ์ที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาท หักส่วนที่ต้องสำรองเผื่อผู้ฝากเงิน 1.1 แสนล้านบาท เหลือส่วนเกินอยู่ 5 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่จ่ายให้ชาวนา 4 หมื่นล้านบาท ใช้งบประมาณปี 2559 ระหว่างนี้ให้ธ.ก.ส.สำรองไปก่อน พร้อมให้สำนักงบประมาณ ตั้งงบชดเชย

ผู้เช่านามีสิทธิรับเงินพันบาทต่อไร่

"ผู้ที่จะได้รับเงินไร่ละ 1 พันบาท ต้องเป็นผู้ที่ปลูกข้าวจริง ส่วนเกษตรกรที่เช่าที่นาทำกิน ก็มีสิทธิได้เงินส่วนนี้ " นายลักษณ์ กล่าว

สำหรับขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับชาวนา ธ.ก.ส.จะหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพราะเป็นหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนชาวนาอยู่แล้ว ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนปีการผลิต 2557/58 ไว้แล้ว 88% เพื่อช่วยเหลือในการลดอัตราดอกเบี้ย 3% จะใช้ฐานข้อมูลนี้ต่อ ปัจจุบันมีชาวนาที่ได้รับใบรับรองจากกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว 4 แสนราย จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.นี้ คาดจะจ่ายครบภายใน 1เดือน ส่วนงบที่รัฐบาลอนุมัติไว้ 4 หมื่นล้านบาท คาดจะช่วยชาวนาได้ 2.8-2.9 ล้านครัวเรือน

“อัมมาร”เตือนรัฐรับมือชาวสวนยาง

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่นั้น อยากฝากเตือนรัฐบาลว่าเรื่องนี้ต้องระวังจะมีเกษตรกรอื่นๆ มาเข้าคิวขอให้ช่วยเหลือลักษณะเดียวกับชาวนา “ขอเตือนรัฐบาลว่าระวังจะมีเกษตรกรอื่นๆ เข้าคิวกันมาขอเงินบ้าง เขาจะบอกว่าทำไมชาวนาได้ แล้วชาวสวนยางหรือชาวมันสำปะหลังถึงไม่ได้ อยากให้รัฐบาลเตรียมการเอาไว้” นายอัมมาร กล่าว

โดยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรส่วนนี้ ดีกว่าโครงการรับจำนำข้าว เพราะโครงการดังกล่าวสิ้นเปลืองงบประมาณมาก อีกทั้งยังมีการโกงกินอย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลรับปากว่ามาตรการนี้ จะทำครั้งเดียว แต่ที่ห่วงคือเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาจะกล้าเลิกมาตรการนี้หรือไม่

"ปีติพงศ์"ลงสุพรรณ เช็คความเห็นงดทำนาปรัง

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ต.ค. นี้จะลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมากที่สุด เพื่อขอความเห็นกรณีที่กระทรวงเกษตรฯ จะประกาศให้งดทำนาปรัง เพื่อนำมาประกอบแผนการดำเนินการ การประกาศครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรอาจดื้อฝืนทำนาปรังต่อ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงเกษตรฯต้องทำความเข้าใจ ว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่ใช้น้ำน้อยกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือแจกพันธุ์พืช พร้อมหาตลาด ส่วนการจ้างงาน เข้าใจว่าปัจจุบันชาวนาไม่สนใจจะลงแรงขุดลอกคูคลองเอง ส่วนใหญ่จะจ้างบริการเครื่องจักรกล แต่ยังมีแรงงานบางส่วนที่ยังต้องการเงินส่วนนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรจะตัดสินใจได้เอง

เชื่อประกาศงดทำนาช่วงแล้งไม่ได้ผล

ด้านนายบุญยัง ซ่องสกุล อนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่ากรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะออกประกาศให้งดทำนาปรังช่วงแล้งปี2558 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอนั้น ในส่วนของจังหวัดพิจิตร ขณะนี้เตรียมพร้อมไว้แล้ว รับรู้ถึงสถานการณ์น้ำตั้งแต่กลางปี จึงแจ้งเตือนไปยังชาวนาทั้งที่ลุ่มและที่ดอน ให้ปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย

โดยมีเกษตรกรที่เริ่มดำเนินการแล้วประมาณ 2-3 หมื่นไร่ ยังมีเกษตรกรบางรายที่เสี่ยงทำนาปรัง ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ ดังนั้นเกษตรกรต้องรับความเสี่ยงเอง

นายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงมาตรการงดทำนาปรังและจ้างงานแทนว่า เชื่อจะมีเกษตรกรดื้อที่จะทำนาต่อไป เพราะคืออาชีพ ชาวนาจะรู้ได้เองโดยธรรมชาติว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ส่วนการจ้างงาน ถือว่าเป็นผลพลอยได้ของเกษตรกร แต่ปัจจุบันการขุดลอกคลองต่างๆส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร

ระบุแผนจ้างงานขุดลอกคลองทำได้ยาก

นายสมศักดิ์ เลิศอนันต์ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ประกาศงดทำนาปรังครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับชาวนาแน่นอน โดยจะมีชาวนาที่เชื่อประกาศและไม่เชื่อ คงดื้อที่จะทำนาต่อ บทเรียนจากอดีตที่รัฐบาลเคยประกาศลักษณะนี้มาแล้ว แต่ชาวนาบางส่วนดื้อทำแล้วได้ผล ทำให้กลุ่มชาวนาที่งด ผิดหวัง รายได้ลด ดังนั้นหากจะประกาศงดทำนาจริงต้องมีกฎหมายควบคุมให้งดทั้งหมด จึงจะประสบผลสำเร็จ

“การประกาศครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกเดือน ม.ค.ของทุกปี ส่วนงานราชการจะประกาศลักษณะนี้เตือนไม่ให้ทำนาปรัง ชาวบ้านชินกันหมดแล้ว เชื่อไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนการจ้างงานขุดลอกคลอง เป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกล การขุดคูคลองในยุคนี้ไม่สามารถจะทำได้ ทุกอย่างต้องใช้เครื่องจักร ต่างจากในอดีตที่รัฐบาลใช้ระบบเงินผัน ประสบผลสำเร็จเพราะช่วงนั้นคูคลองยังไม่ได้รับการพัฒนา” นายสมศักดิ์ กล่าว