สกัดท่อน้ำเลี้ยงไอเอส

สกัดท่อน้ำเลี้ยงไอเอส

สหรัฐ ประกาศทำสงคราม ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือไอเอส อย่างขึงขังได้ไม่นาน

หลังพี่เบิ้มอย่างสหรัฐ ประกาศทำสงคราม ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือไอเอส อย่างขึงขังได้ไม่นาน บรรดาชาติพันธมิตรสหรัฐ อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ก็ทะยอยออกมาตรการเล่นงานกลุ่มไอเอสด้วยเหมือนกัน และหนึ่งในมาตรการที่งัดออกมาใช้เล่นงานคือ การตัดท่อน้ำเลี้ยง

บรรดาผู้เชี่่ยวชาญด้านสถานการณ์การเมืองโลก บอกว่า รัฐบาลตะวันตก พยายามอย่างหนัก ที่จะเพื่อตัดช่องทางการเงินของกลุ่มไอเอส เนื่องจากมีพฤติกรรมเป็นมาเฟียในพื้นที่ยึดครอง แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

นักวิเคราะห์จากไอเอชเอส เจนส์ บริษัทให้คำปรึกษา นายอีแวน เจนดรัค บอกว่า เงินทุนของกลุ่มไอเอส ที่ได้มาจากการทำตัวเป็นมาเฟีย อย่างเช่น การเรียกค่าไถ่ การลักลอบค้าน้ำมันและวัตถุโบราณ ทำให้การสกัดกั้นการเงิน

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐคนหนึ่งที่บอกว่า เงินจำนวนมากขนาดนั้น มาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ หรือปล้น ไม่ต่างอะไรจากแก๊งมาเฟีย ที่รีดไถเงินจากธุรกิจห้างร้าน ทั้งยังเรียกเก็บส่วยจากผู้ใช้รถใช้ถนนในเมืองที่ยึดครอง ยังไม่นับเงินที่ได้จากการเรียกค่าไถ่ จากรัฐบาลยุโรปบางประเทศ หลังจับผู้สื่อข่าวไปเป็นตัวประกัน

แม้ไอเอส จะมีเงินมากมายมหาศาล แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็มองว่า เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ของไอเอสในธนาคารที่เมืองโมซุล เป็นแค่เรื่องเกินจริงและคลาดเคลื่อน

ลูเอ อัล-คัทธีบ จากสถาบันบรูกกิงส์ ในกรุงโดฮา ของกาตาร์ บอกว่า รายได้จากการขายน้ำมันของกลุ่มไอเอส มีมากถึงวันละ 2 ล้านดอลลาร์ จากบ่อน้ำมันที่ครอบครองถึง 11 แห่ง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านการกลั่นส่งขายไปยังประเทศข้างเคียง มีราคาเพียง 25-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แถมยังประสบความสำเร็จสูง เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อค้าคนกลางในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐ ให้คำมั่นที่จะทลายแหล่งเงินทุนของไอเอส แต่ไม่ระบุว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด

เดวิด โคเฮน ปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐ รับผิดชอบด้านการก่อการร้าย และข่าวกรองทางการเงิน เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐ กำลังสกัดกั้นแหล่งเงินทุนภายนอก ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้รายชื่อเพิ่มอีก 2 รายชื่อ ที่น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนกลุ่มไอเอส

แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย อย่าง กาตาร์ และ คูเวต จะมีส่วนด้วยหรือไม่ เพราะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่มไอเอส แต่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศออกมาปฏิเสธเรื่องนี้

ฮาเวิร์ด ชาตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแรนด์ คอร์เปอเรชัน กลุ่มคลังสมองไม่หวังผลกำไร รับผิดชอบงานวิจัย และวิเคราะห์ให้กองทัพสหรัฐ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากไอเอส ไม่ได้พึ่งพาการบริจาคเป็นหลัก การสกัดกั้นทางเงินจึงไม่ได้ผลนัก แต่ถ้าหากตุรกี กับจอร์แดนตรวจตราชายแดนอย่างเข้มงวด และสามารถสาวไปถึงพ่อค้าคนกลาง ที่ค้าขายกับกลุ่มไอเอส ก็จะช่วยลดรายได้จากการขายน้ำมันเถื่อนได้

ทั้งยังเสริมว่า ไอเอส ไม่ใช่กลุ่มที่จะเอาชนะไม่ได้ จะเห็นได้จากปี 2552 ที่ไอเอส เสื่อมอำนาจลงหลังเงินทุนเริ่มร่อยหรอ ทั้งยังเสียพื้นที่ในครอบครองให้กับมุสลิมนิกายสุหนี่ และผู้นำคนสำคัญก็ถูกกองทัพอิรักและสหรัฐกำจัดไปเป็นจำนวนมาก