กลุ่มอาหารไอพีโอ1.4หมื่นล.

กลุ่มอาหารไอพีโอ1.4หมื่นล.

สำรวจไอพีโอ 8 เดือนแรกปีนี้พบกลุ่มอาหารระดมทุนสูงสุด รวม 1.44 หมื่นล้าน เดินหน้าขยายกำลังผลิต-ใช้หนี้

สำรวจการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ พบกลุ่มอาหารมีมูลค่าการระดมทุนมากที่สุด 14,490.7 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนของบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) มูลค่าระดมทุน 3,900 ล้านบาท วัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อชำระหนี้สถาบันการเงิน 1,500 ล้านบาท, ชำระคืนเงินกู้ยืมกรรมการ 1,000 ล้านบาท, ขยายโรงงานเฟส 2 บางส่วน จำนวน 800 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน 600 ล้านบาท รวมทั้ง บริษัท เซ็ปเป้ (SAPPE) มูลค่าระดมทุน 1,012.5 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิต คืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) มูลค่าระดมทุน 9,578 ล้านบาท

รองมาคือกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โดยบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง (PCSGH) มูลค่าระดมทุน 3,345 ล้านบาท และกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งมีการระดมทุนรวม 1399.5 ล้านบาท ประกอบด้วยการระดมทุนบริษัท เอไอ เอนเนอร์จี (AIE) ระดมทุน 807.5 ล้านบาท และบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) มูลค่าระดมทุน 592 ล้านบาท

นางสาวสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต กล่าวว่า กลุ่มอาหารเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจเข้าลงทุน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน มีการใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการระดมทุนสูงเพื่อใช้เงินระดมทุนในการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศคลี่คลายสู่ทิศทางที่ดีขึ้น กระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจในกลุ่มอาหารก็จะได้รับอานิสงส์ที่ดีไปด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นหรือผู้บริโภคมีอารมณ์จับจ่ายใช้สอยก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย ในทางกลับกัน แม้สถานการณ์การเมืองจะวุ่นวาย หรือเศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มธุรกิจดังกล่าวก็ยังสามารถเติบโตได้อยู่

เธอกล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มอาหารประมาณ 2-3 บริษัท คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558

"ก่อนหน้านี้ มีบริษัทที่จะนำขายหุ้นไอพีโอ ในธุรกิจอาหารประมาณ 2-3 บริษัท เคยจะผลักดันให้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในครึ่งหลังปีนี้ แต่เชื่อว่าอาจจะไม่ทันหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ดีลไอพีโอต้องเลื่อนออกไป แต่ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ในต้นปีหน้า บริษัทยังจับกลุ่มบริษัทที่มีจุดเด่นในเรื่องของปัจจัย 4 อย่าง ยารักษาโรค อุปโภค-บริโภค เสื้อผ้า ซึ่งเชื่อว่าในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า เทรนด์ในเรื่องของปัจจัย 4 จะมีความต้องการและมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก"

ทั้งนี้ สำรวจพบว่าในช่วง 4 เดือนหลังปี 2557 มีบริษัทที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จำนวนมาก ประกอบด้วย บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป (TAKUNI) จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ วันที่ 19 ส.ค.2557 เสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 100 ล้านหุ้น เปิดจองซื้อในวันที่ 6-8 ส.ค. 2557 ราคาหุ้นไอพีโอ 1.60 บาท เงินที่ได้จากการระดมทุน จำนวน 160 ล้านบาท จะใช้ลงทุนในสถานีบริการก๊าซ คิดเป็น 40% ขณะที่อีก 60% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ (RWI) จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ วันที่ 18 ก.ย.2557 บริษัทเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 150 ล้านบาท เปิดจองซื้อในวันที่ 10-12 ก.ย. ราคาหุ้นไอพีโอ 1.60 บาท และบริษัท ซีซีเอ็น-เทค จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 60 ล้านบาท และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในไตรมาส 3/2557