เอ็คโก้คาดกำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน

เอ็คโก้คาดกำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน

เอ็คโก้ คาดกำไรสุทธิปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน เหตุค่า APโรงไฟฟ้าระยองลดลง แต่รับรู้กำไรโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม 4 แห่งเต็มปี

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯคาดการณ์ว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ 6913 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้บริษัทฯจะถูกปรับลดค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment : AP)ของโรงไฟฟ้าไอพีพีในจังหวัดระยอง แต่บริษัทฯ จะได้กำไรในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 4 แห่ง มาชดเชยเต็มปี ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บึงสัมพันธ์โซลาร์โปรเจ็ก ที่มีสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์“ลพบุรี โซลาร์ ส่วนขยาย” จังหวัดลพบุรี(NED) ที่มีสัญญาขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมเทพพนาในจังหวัดชัยภูมิ มีสัญญาขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6.9 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์โกในจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม ที่มีสัญญาขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

"ในปีนี้กำไรน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ต้องดูว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้ง 4 โรงที่จะได้รับค่าแอดเดอร์เต็มปีจะสามารถทำกำไรเพื่อชดเชยกับโรงไฟฟ้า IPP เก่าที่ระยองที่ถูกปรับลดค่า AP ลงได้หรือไม่" นายสหัส กล่าว

โดยในปีนี้บริษัท ตั้งงบลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างจำนวน 4 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ , โรงไฟฟ้าพลังงานลม “โบโค ร็อค วินด์ฟาร์ม” ที่ประเทศออสเตรเลีย, โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช และ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ XPCL รวมถึงจะใช้งบลงทุนในการศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่ง จะเริ่มดำเนินการขายไฟได้ในปี 2559 และ 2560 และใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเคซอนในประเทศฟิลิปปินส์ส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้ งบลงทุนดังกล่าวไม่รวมอยู่ในงบที่ใช้สำหรับควบรวมกิจการของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดคุยกับบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ 3-4 บริษัท ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถ่านหินและแก๊ส โดยบริษัทฯ ต้องการเข้าควบรวมกิจการกับบริษัทที่ดำเนินการผลิตและขายไฟฟ้าได้แล้วในปัจจุบัน เพื่อสามารถรับรู้รายได้และกำไรได้ทันที ในขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ทวายในประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่องกฎระเบียบกับทางรัฐบาลพม่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในส่วนของการยื่นกู้จากสถาบันการเงิน แต่โดยรวมแล้วโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศพม่ายังคงมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

"เราตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา งบดังกล่าวไม่รวมงบในการ M&A ซึ่งมีการพูดคุยอยู่ 3-4 ดีลทั้งในและต่างประเทศ โดยเราต้องการเข้าซื้อกิจการที่มีการผลิตและขายไฟอยู่แล้วเพราะจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที" นายสหัส กล่าว