'สุดซอย'ฉุดคะแนนยิ่งลักษณ์วูบ

'สุดซอย'ฉุดคะแนนยิ่งลักษณ์วูบ

รัฐบาลกระเตงนิรโทษสุดซอย อุ้ม "ทักษิณ" ฉุดคะแนนนิยม "ยิ่งลักษณ์"วูบ คนต้านรัฐบาลแต่ไม่เอารัฐประหาร

กระแสต้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฯ ฉบับ "สุดซอย-เหมาเข่ง" ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 สัปดาห์ และกำลังถูกพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มยกระดับไปสู่การขับไล่รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและตัวนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน

แม้ว่ารัฐบาลจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และร่างกฎหมายชื่ออื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปทุกร่างแล้ว และส่งสัญญาณให้วุฒิสภาลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับเจ้าปัญหา ถึงขนาดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคลงสัตยาบันร่วมกัน แต่ความเชื่อมั่นก็ไม่กระเตื้องขึ้น

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพลล์) ที่สำนักวิจัยต่างๆ เผยแพร่ออกมาในช่วงนี้ น่าจะทำให้มองเห็น "วิกฤติศรัทธา" ของรัฐบาลชัดเจนขึ้น และน่าเชื่อว่าสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองจะไม่จบง่าย

เริ่มจากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,122 คน ในหัวข้อ "คะแนนนิยมเป็นอย่างไร หลังรัฐบาลแถลงถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" พบว่าคะแนนนิยม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 34.8 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาร้อยละ 3.1 (จากเดิมร้อยละ 31.7) ขณะที่คะแนนนิยมของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่ที่ร้อยละ 26.7 ลดลงร้อยละ 13.7 (จากเดิมร้อยละ 40.4)

ด้านคะแนนนิยมของพรรคการเมือง พบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมร้อยละ 37.2 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาร้อยละ 4.8 (จากเดิมร้อยละ 32.4) ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมร้อยละ 28.2 ลดลงร้อยละ 12.8 (จากเดิมร้อยละ 41.0)

เมื่อถามว่า สถานการณ์ ณ เวลานี้ รัฐบาลควรตัดสินใจยุบสภาหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 41.1 เห็นว่าควรยุบสภา ขณะที่ร้อยละ 38.7 เห็นว่าไม่ควร ที่เหลือร้อยละ 20.2 ตอบว่าไม่แน่ใจ เมื่อถามอีกว่า เชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลจะไม่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมกลับมาอีกตลอดอายุของรัฐบาลชุดนี้ ประชาชนร้อยละ 46.2 ตอบว่าไม่เชื่อ ขณะที่ร้อยละ 27.0 บอกว่าเชื่อ ที่เหลือร้อยละ 26.8 ตอบว่าไม่แน่ใจ

ขณะที่สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห้นประชาชนจากทั่วประเทศ 1,589 คน ระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย. ในหัวข้อ "10 ทางออกเพื่อยุติความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้" พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 86.49 ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายคำนึงถึงส่วนรวม ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นสำคัญ

อันดับ 2 ร้อยละ 60.51 ทุกฝ่ายต้องมีสติ มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสิน

อันดับ 3 ร้อยละ 57.96 เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างรัดกุม ระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย

อันดับ 4 ร้อยละ 53.01 ขอให้แกนนำกลุ่มต่างๆ ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปลุกปั่น

อันดับ 5 ร้อยละ 50.73 ผู้ชุมนุมต้องแสดงเจตนารมณ์ถึงข้อเรียกร้องที่ชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลรับรู้รับฟังและนำไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด

อันดับ 6 ร้อยละ 44.96 นายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านจะต้องพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน

อันดับ 7 ร้อยละ 41.18 สื่อมวลชนจะต้องนำเสนอข่าวตรงไปตรงมา พร้อมเสนอแนะทางออกหรือวิธีแก้ไข

อันดับ 8 ร้อยละ 38.81 ปล่อยให้มีการชุมนุมต่อไป แต่ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามขอบเขตของกฎหมาย

อันดับ 9 ร้อยละ 36.67 ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

อันดับ 10 ร้อยละ 36.38 ยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับโดยเร็ว 36.38 %

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย และความหวังต่อความสงบสุขของประเทศ :กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่" จำนวนทั้งสิ้น 1,053 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 4-9 พ.ย. พบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.1 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันลดลง ในขณะที่ร้อยละ 10.4 บอกว่าเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และร้อยละ 17.5 ระบุว่าเชื่อมั่นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม กว่าสองในสามหรือร้อยละ 69.8 ไม่คิดว่ารัฐประหารจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่ร้อยละ 30.2 คิดว่าช่วยได้