'นิรโทษ-คดีพระวิหาร'2ปมร้อน เขย่ารัฐบาล

'นิรโทษ-คดีพระวิหาร'2ปมร้อน เขย่ารัฐบาล

"นิรโทษ-คดีพระวิหาร" 2 ปมร้อน "เรียกแขก"เขย่ารัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"

น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งกับก้าวย่างของ "ม็อบอุรุพงษ์" ภายใต้ "เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" หรือ คปท. ที่นำโดย อุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และ นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความที่เคยมีบทบาทร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ และผู้ประสานงานกลุ่มกรีน

แรก ๆ ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม คปท.ที่แยกอุรุพงษ์ ดูไม่มากนัก แค่คนหลักร้อย แต่ระยะหลังคนเริ่มทยอยให้ความสนใจและเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น จากเดิมวันละ 400-500 คน เป็นวันละ 800-1,000 คน (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และหน่วยงานด้านความมั่นคง) จนสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลได้พอสมควร

ก่อนหน้านี้ คปท. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2556 ระบุว่า "การบริหารงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อให้เกิดปัญหาภาวะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตของคนไทยตกต่ำลงในช่วง 2 ปี แต่รัฐบาลมุ่งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสงบ กลับประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาสกัดกั้นประชาชนและนักศึกษาจำนวนมาก

คปท.ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใดๆ จะมีการดำเนินกิจกรรมอย่างอิสระ และไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ แต่ไม่ได้ปฏิเสธที่กลุ่มอื่นจะมาร่วมมือด้วย ยืนยันว่า คปท.มีสิทธิเสรีภาพชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองการใช้สิทธิของประชาชน และไม่ทำการใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชน ขอเชิญชวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาทุกสถาบัน และประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่แยกอุรุพงษ์ด้วย"

นั่นคือจุดยืนและท่าทีของแกนนำม็อบอุรุพงษ์ ภายใต้ เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

"คปท."มีจุดกำเนิดเกิดขึ้นมา ภายหลังจากแกนนำ "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" หรือ กปท.ได้ยินยอมกลับไปชุมนุมที่สวนลุมพินีตามเดิม เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังบุกล้อมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่จากมติของแกนนำ กปท.ดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ "มวลชน" บางส่วน ที่เห็นว่ายอมกันง่ายจนเกินไปทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ตกลงกันแล้วว่า จะไม่ยอมย้ายออกไปจากทำเนียบฯ

"มวลชน"ดังกล่าวจึงตัดสินใจแยกตัวออกจาก กปท. และมาปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ ซึ่งเป็นขอบชายแดนของพื้นที่การควบคุม

แม้ฝ่ายตำรวจจะพยายามส่งคนไปเจรจากับแกนนำม็อบที่แยกอุรุพงษ์ครั้งแล้วครั้ง เพื่อให้ย้ายสถานที่ไปชุมนุมที่อื่น โดยอ้างเรื่องปัญหาจราจรและความเดือดร้อนของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง แต่ "แกนนำคปท." ก็ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า "ไม่ย้ายไปไหนแน่"

สำหรับ "เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" มีโครงสร้างหลักจากองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง พรรคสานแสงทอง กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาภาคใต้ เครือข่ายกลุ่มกรีน และแนวร่วมประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้นคปท.ยังมีแนวร่วมที่เป็นเครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้สถานีโทรทัศน์บลูสกายเป็นกระบอกเสียง และมีกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่มาร่วมชุมนุมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และหลังเลิกเรียน ขณะที่ "กองทัพธรรม" ก็เป็นหน่วยสนับสนุนในเรื่องของอาหารการกินได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ อุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่อาสาขึ้นมาเป็นแกนนำคปท. ก็มีความแนบแน่นรู้จักนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา, ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม., มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม โดยได้เข้าให้กำลังใจแกนนำผู้ชุมนุมถึงหลังเวทีแยกอุรุพงษ์

อีกทั้งยังใกล้ชิดกับ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนได้รับการตั้งแต่ให้เป็น 1 ใน 16 คน ในนาม "คณะกรรมการสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556" หรือ (สปท.) ที่มี สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตร เป็นประธาน และ สุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตร และแกนนำกลุ่มกรีน เป็นกรรมการร่วมด้วย

แม้ขณะนี้จะมีการประเมินกันว่า คงไม่มีม็อบใดที่จะมีเรี่ยวแรงพอที่จะล้มล้าง "ระบอบทักษิณ" ได้ เพราะรัฐบาลได้กุมอำนาจเกือบทุกอย่างไว้ในมือได้เบ็ดเสร็จแล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มคนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล การผลักดันกฎหมายเพื่อขยายฐานอำนาจและช่วยเหลือพรรคพวกตัวเอง จะไม่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

วันนี้คนที่ออกมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อต้านรัฐบาล อาจจะไม่มากมายมหาศาล แต่อนาคตหากมี "ประเด็นเรียกแขก" อาทิ ไทยเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชา ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังจะตัดสินชี้ชะตา ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ หรือมีความพยายามล้างคดีความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างที่เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ถึงวันนั้น "ฝ่ายต้านระบอบทักษิณ" ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ อาจจะผนึกหลอมรวมตัวกันหลายหมื่นหลายแสนคนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ก็เป็นไปได้

ดูรัฐบาลเองก็จะตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ดี ถึงได้ประกาศขยายเวลาการใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการชุมนุม ยาวไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.ในพื้นที่ 3 เขต 8 แขวง ตามเดิม อันประกอบด้วย 1.เขตดุสิต ได้แก่ แขวงดุสิต และแขวงจิตรลดา 2.เขตพระนคร ได้แก่ แขวงพระบรมมหาราชวัง, แขวงตลาดยอด, แขวงบวรนิเวศ, แขวงบางขุนพรหม และแขวงบ้านพานถม 3.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้แก่ แขวงวัดโสมนัส

2 ประเด็นร้อนทั้งการนิรโทษกรรมแบบสุดซอย เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และกรณีพิพาทดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร น่าจะเป็นตัว"เรียกแขก"ให้คนออกมาร่วมชุมนุมได้เป็นอย่างดี แต่จะถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ต้องเกาะติดสถานการณ์กันต่อไป

สารพัดกลุ่มต้านระบอบทักษิณ

ฝ่ายต้านในสภา

1.พรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ

2.กลุ่ม 40 ส.ว. มี ไพบูลย์ นิติตะวัน คำนูณ สิทธิสมาน เป็นแกนนำ

ฝ่ายต้านนอกสภา

1.กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)

มี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เป็นแกนนำ

2.เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

มี อุทัย ยอดมณี และ นิติธร ล้ำเหลือ เป็นแกนนำ

3.กลุ่ม V For Thailand หรือกองทัพประชาชนพลังแห่งความดี

นัดระดมพลผ่านเครือข่ายโซเซียลมีเดีย

4.กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี)

มี นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เป็นแกนนำ

5.กลุ่มกรีน

มี สุริยะใส กตะสิลา จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เป็นแกนนำ

6.กองทัพธรรม (สันติอโศก)

มีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ เป็นแกนนำ

7.กลุ่มไทยสปริง

มี แก้วสรร อติโพธิ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นแกนนำ

8กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

นำโดยนักวิชาการ 5 สถาบันอุดมศึกษา อาทิ บรรเจิด สิงคะเนติ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

9.กลุ่มสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556

มี บรรเจิด สิงคะเนติ คมสัน โพธิ์คง สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นแกนนำ

10. แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน

มี ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ สมบูรณ์ ทองบุราณ เป็นแกนนำ