จี้ยกเลิกจำนำข้าว 2ปีเจ๊งยับ4.2แสนล้าน

จี้ยกเลิกจำนำข้าว 2ปีเจ๊งยับ4.2แสนล้าน

"ปรีดิยาธร"จี้รัฐบาลยกเลิกจำนำข้าวสร้างความเสียหายต่อชาติ 2 ปี กว่า 4.25 แสนล้านบาท "อัมมาร"เตือนอย่าปล่อยคนอื่นรับบาปจากนโยบาย

โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคา 15,000 บาทต่อตัน ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังถูกจับตามองว่าจะเกิดผลขาดทุนจำนวนมหาศาล เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกที่ตกต่ำอย่างหนัก รวมทั้งผลผลิตที่ออกมาล้นตลาด ขณะที่การระบายข้าวของรัฐบาลก็ยังเป็นคำถามว่าสามารถขายข้าวได้มากน้อยแค่ไหน และในราคาเท่าไร

วานนี้ (15 ต.ค.) ในงานรำลึก 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โครงการอาจารย์ป๋วย จริยธรรม กับการต่อต้านคอร์รัปชันได้จัดเสวนาหัวข้อ "มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวอารัมภกถาในงานสัมมนาหัวข้อ "มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" ซึ่งจัดโดย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยเขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินโครงการจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งที่สุดแล้ว จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองและประชาชนเองก็จะเรียนรู้ถึงความทุกข์จากนโยบายที่ฉาบฉวยนี้

"ผมขอเรียนว่า ผมจะไม่เข้าไปร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อรัฐบาลสร้างปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ไขเอง และผมก็ไม่ต้องการเป็น "ธารินทร์ 2" ไม่ต้องการให้ใครมารับบาปที่คนอื่นสร้างไว้ ถือเป็นการทำโทษด้วยการจับรัฐบาลให้อยู่กับโครงการจำนำ" นายอัมมาร กล่าว

นายอัมมาร กล่าวว่า ขณะนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกกำลังลดลงแรงและเร็ว โดยเฉพาะในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เพราะตลาดโลกเริ่มเห็นแล้วว่า เรามีข้าวในสต็อกมาก ซึ่งรัฐบาลได้บอกว่าเป็นความลับ ถือเป็นโจทย์สำคัญในขณะนี้ และรัฐบาลเองก็มีหนี้จากจำนำข้าวแล้ว 5-6 แสนล้านบาท และกำลังมีปัญหาในการกู้เงิน ขณะเดียวกัน การบริโภคข้าวคุณภาพสูงจะมีมากขึ้น ขณะที่ รัฐบาลก็กำลังผลิตคุณภาพข้าวต่ำ ซึ่งจะเป็นปัญหา

"กระทรวงการคลังเริ่มเห็นค่าใช้จ่ายโครงการที่ขาดทุนมากขึ้น ทำให้หมดอาลัยตายอยากในการหาเงินกู้ อย่างน้อยก็ข้าราชการในกระทรวง ส่วน รมว.คลัง คิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมคิดว่า นายกฯ ที่ดูไบก็เงียบไปเยอะ ส่วนนายกฯ ในไทยนั้น ผมคิดว่า ก็เล่นไปตามบท ตามสไตล์"

ปรีดิยาธร ชี้ 2 ปี ขาดทุน 4.25 แสนล.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในหัวข้อ "จำนำข้าวเสียหายใหญ่หลวง ใครได้ประโยชน์" ว่า การรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2547 โดยมีมนุษย์หัวใสคนหนึ่งคิดว่า ถ้ารัฐบาลให้ราคาข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อดึงดูดให้ชาวนานำข้าวเข้ามาขาย ซึ่งทำให้ข้าวในมือของผู้ส่งออกน้อยลง ราคาข้าวในตลาดก็น่าจะสูงขึ้นและทำกำไรได้อีก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการตลาด

"ข้อเท็จจริงในขณะนี้ คือ เมื่อราคาตลาดไม่เพิ่มบวกกับราคาข้าวในมือรัฐบาลมีจำนวนมากและคุณภาพข้าวเสื่อมลง เมื่อขายข้าวก็เกิดผลขาดทุนมากมาย ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนมาเอาประโยชน์จากโครงการด้วย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินความเสียจากการดำเนินโครงการระยะ 2 ปี ซึ่งรับจำนำข้าวมาจำนวนกว่า 48.9 ล้านตัน ใช้เงินไปกว่า 6 แสนล้านบาท มีผลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4.25 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปีแรก 2554/55 จำนวน 2.05 แสนล้านบาท ปีที่สอง 2555/56 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่ชาวนาได้ประโยชน์จำนวนประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

ส่งจดหมายจี้นายกฯ เลิกจำนำ

"ผมขอส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อมวลชน ซึ่งเมื่อท่านนายกฯทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ถ้าท่านยังเชื่อบุคคลรอบข้าง โดยยอมให้เดินหน้าโครงการต่อ ก็เท่ากับว่า ท่านนายกฯกำลังปล่อยให้มีการบริหารประเทศที่ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณชาติในจำนวนสูง ทั้งๆ ที่รู้ว่า จะเสียหาย และยอมปล่อยให้คนอื่นมาเกาะหลังชาวนา"

นอกจากนี้ ตนอยากเสนอทางออกว่า รัฐบาลควรมีวิธีที่จะทำให้เงินถึงมือชาวนาที่ยากจน โดยไม่ใช้วิธีที่จะดึงดูดให้ชาวนาเอาข้าวมาขาย โดยรัฐบาลได้เริ่มนำวิธีการที่ถูกต้องมาใช้แล้วจากการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ โดยใช้วิธีการจ่ายส่วนต่างราคาตลาดกับต้นทุน ซึ่งก็ทำให้ระบบค้าขายยางเป็นไปตามปกติ

"ยังไม่สายที่รัฐบาลจะยกเลิกโครงการ โดยหันมาจ่ายส่วนประโยชน์เพิ่มและมีการกำหนดวงเงินที่เหมาะสม ถ้าทำได้ ก็จะได้ชื่อว่า ได้ทำงานสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดูแลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ให้สูญเสียมากเกินความจำเป็นและยังช่วยชาวนาได้ทั่วถึงมากขึ้นด้วย"

ชี้พรรคเพื่อไทยมั่นใจดันราคาทำขาดทุนยับ

ช่วงบ่ายมีการอภิปราย ในหัวข้อ "มหากาพย์จำนำข้าว...โง่ หรือจงใจ" โดยมีผู้ร่วมอภิปราย คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดำเนินรายการโดย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อผิดพลาดของโครงการนโยบายจำนำข้าว ก็คือ หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งและรัฐบาลดำเนินเป็นนโยบายรับจำนำข้าว แต่ไม่มีการประเมินผลโครงการว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างใด ซึ่งที่จริงแล้วการทดลองทำแค่ปีเดียวหรือฤดูกาลเดียว ก็จะรู้แล้วว่าโครงการนี้ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเหมือนที่มีการคาดการณ์ไว้

"คิดมาตลอดว่าการจำนำข้าวจะมีความขาดทุนมาก ก็ได้มีการท้วงติง แต่ในขณะนั้นผู้บริหารพรรคเพื่อไทยที่มีความรู้เรื่องตลาดข้าว บอกว่าไทยมีปริมาณส่งออกข้าวมาก การที่รัฐบาลไปเก็บข้าวไว้จะยกระดับราคาข้าวได้ แล้วค่อยไปเน้นวิธีการแบบจีทูจีเพื่อดึงราคาขึ้น แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าราคาข้าวของไทยไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว หากมีการปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ช่วงแรกความเสียหายจะไม่บานปลายขนาดนี้"

สำหรับปัญหาในเรื่องความมั่นคงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น ความเสี่ยงของ ธ.ก.ส.จะมาจากการหมุนเวียนเงิน เนื่องจากวงเงินที่จะค้ำประกันหนี้เริ่มที่จะเต็มเพดาน ซึ่งมีความเสี่ยงมาก และเชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองให้รัฐบาลต้องเลิกโครงการรับจำนำข้าวไปในที่สุด

"คณะกรรมการ ธ.ก.ส. จะต้องระวังตัว อย่าให้การเมืองมาผลักดันให้นโยบายเดินหน้าต่อไป จนกระทบสภาพคล่องและเกิดความเสียหายตามมาได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีความผิดไปด้วย" นายธีระชัย กล่าว

ชี้รัฐบาลขาดความชอบธรรมจำนำข้าว

นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้จับตาดูโครงการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ที่มีการหาเสียง และมีการส่งรายงานของ คณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ท้วงติงว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดการทุจริตให้กับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รับฟัง

เมื่อโครงการดำเนินการมา 2 ปี มีการขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เท่ากับว่าการขาดทุนขนาดนี้เป็นการขาดทุนมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้ารัฐบาลเลิกโครงการรับจำนำข้าว อาจหมายถึงว่าไม่ต้องกู้เงินมาสร้างรถไฟ-การบริหารจัดการน้ำ

เขากล่าวด้วยว่า โครงการรับจำนำข้าวยังไม่สามารถช่วยเหลือยกระดับรายได้ชาวนาได้ เนื่องจากเงินที่ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ชาวนาได้รับเงินเพียง 8 หมื่นล้านบาท การระบายข้าวก็มีปัญหาเรื่องการทุจริตสูง โดยเฉพาะวิธีการขายข้าวแบบจีทูจีที่ใช้วิธีการขายหน้าโกดัง โดยไม่มีการตรวจสอบว่ามีการส่งออกจริงหรือไม่ และรัฐบาลไม่ได้สนใจว่าจะมีการส่งมอบข้าวจริงหรือไม่

"รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีกแล้วแล้ว รวมทั้งรัฐบาลเองก็ไม่มีสภาพคล่องพอในการดำเนินโครงการ หากจะฝืนกู้เงินเพิ่มเพื่อไปขาดทุนมากขนาดนี้ และมีการทุจริตขนาดนี้ โดยอ้างชาวนาต่อไปผมก็ว่าชาวนารับไม่ได้เช่นกัน ทางที่ดีรัฐบาลจะต้องใช้วิธีการช่วยเหลือชาวนาโดยไม่ต้องใช้เงินมากเท่ากับโครงการรับจำนำ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์ข้าว ลดต้นทุนการผลิต คาดว่าจะใช้งบประมาณแค่เพียงปีละ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้นและได้ผลดีมากกว่า"

ชี้เซอร์เวเยอร์เฉพาะกิจผุดเพียบ

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และอดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวในหัวข้อ “กลไกตลาดข้าว กลโกงขาเข้า” ว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่มีการรั่วไหลและทุจริตได้ในทุกๆขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนชาวนา การนำข้าวเข้าโรงสี การส่งข้าวที่สีแปรสภาพแล้วไปยังโกดัง และขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนในการระบายข้าว

โรงสีจะต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในขั้นตอนต่างๆ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงสีก็จะไปกดราคารับจำนำจากชาวนาและการส่งข้าวไปเก็บไว้ในโกดัง โรงสีจะต้องพึ่งพาบริษัทเซอร์เวเยอร์ โดยในหลายพื้นที่เซอร์เวเยอร์เรียกเก็บเงินกระสอบละ 7 บาท หรือตันละ 70 บาท โดยโรงสีที่ถูกเรียกเงินส่วนใหญ่ก็จะยอมจ่าย เนื่องจากไม่ต้องการขนข้าวกลับ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้การใช้เซอร์เวเยอร์ตรวจสอบคุณภาพข้าวในปัจจุบันก็ไม่ได้มาจากผู้ที่มีความรู้เรื่องข้าว แต่เป็นเซอร์เวเยอร์เฉพาะกิจซึ่งกว่า 90% มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อหาประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตรงนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเพราะอาจจะโยงไปถึงกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์

รัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะที่อึดอัดกับโครงการรับจำนำข้าว หากดำเนินการต่อไปก็จะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมาก โดยมองว่าอีก 20 -30 ปีข้างหน้าในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ อาจจะจารึกชื่อของรัฐบาลชุดนี้ไว้ว่าได้สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นตนขอแนะนำให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดีกว่าจะต้องดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวต่อไป

ชาวนาเริ่มหันมองประกันรายได้

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน เริ่มไม่พอใจกับนโยบายรับจำนำข้าวมากขึ้น เนื่องจากบางส่วนจ่ายเงินให้ล่าช้าและชาวนารายย่อยที่มีที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ ก็ไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่เก็บไว้บริโภคเอง

"กลุ่มชาวนาในหลายจังหวัดเริ่มพูดคุยกันว่า เราไม่ต้องการนโยบายรับจำนำแต่อยากได้ประกันราคา เพราะประกันราคาเราเก็บข้าวไว้กินเองบางส่วนได้ และก็ได้เงินส่วนเพิ่มที่รัฐบาลให้ด้วยซึ่งได้ประโยชน์โดยตรง"นายประสิทธิ์ กล่าว