'มหากิจศิริ'ยึดทีทีเอเบ็ดเสร็จ

'มหากิจศิริ'ยึดทีทีเอเบ็ดเสร็จ

"จันทรจุฑา จันทรทัต" ลาออกผู้บริหาร "ทีทีเอ" ทุกตำแหน่ง ขณะที่" เฉลิมชัย มหากิจศิริ" เสียบแทน หลังกุมหุ้นใหญ่กว่า 20% ปัดขัดแย้งผู้บริหาร

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ ทีทีเอ (TTA) เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับทราบการลาออกของ ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกินวันที่ 25 มี.ค. 2557 และนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบัญชีและการเงิน มีผลใน 3 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกิน วันที่ 31 ธ.ค. 2556

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว ก็มีมติแต่งตั้งนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ มารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมทั้งแต่งตั้ง นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ เข้าดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบัญชีและการเงิน ซึ่งจะมีผลเมื่อมีการดำเนินการส่งมอบงานแล้วเสร็จ

เกี่ยวกับการลาออกของ ม.ล.จันทรจุฑา และนางฐิติมานั้น นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ระบุว่า การลาออกของผู้บริหารทีทีเอเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่

"ไม่ได้มีความขัดแย้งกันระหว่างผู้บริหาร กับทางผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด และผู้บริหาร ก็ยังมีการช่วยงานมาเป็นอย่างดี และจะยังอยู่ช่วย จนมีการส่งมอบงานต่างๆ ให้แล็วเสร็จ โดยม.ล.จันทรจุฑา ก็จะอยู่จนถึงการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่ออธิบายให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ"

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ประกอบด้วย นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ สัดส่วน 14.17% บริษัท ราฟเฟิลส์ รีซอร์ส สัดส่วน 5.01% และน.ส.อุษณา มหากิจศิริ สัดส่วน 3.87%

นอกจากนี้คณะกรรมการยังมีมติให้บริษัท ทำการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ในงบการเงินประจำปี 2556 รวม 3 รายการมูลค่ารวมประมาณ 5.5 พันล้านบาทประกอบด้วย 1.การบันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์ทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสดมูลค่าประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.8 พันล้านบาท) สำหรับกองเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองของบริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของทีทีเอ ผลจากปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับลดลงมากและลดลงต่อเนื่องมากหลายปี ทำให้มูลค่าเรือของบริษัท ซึ่งเคยถูกบันทึกไว้ที่ต้นทุนสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน

2. ให้บันทึกการด้อยค่ามูลค่าประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์ สำหรับลงทุนในบริษัท เมอร์ตัน กรุ๊ป (ไซปรัส) ซึ่งไปลงทุนในบริษัท ชิงเมย เพื่อร่วมทุนทำธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมูลค่าการลงทุนในชิงเมยผูกอยู่กับผลของการเข้าประมูลโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีทำเลใกล้กับเหมือง แต่ผลของการประมูลยังไม่เป็นที่แน่นอน ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจบันทึกการด้อยค่าตามมาตรฐานบัญชี และ 3.เพิ่มการบันทึกการด้อยค่าของค่าความนิยม ทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสด มูลค่าประมาณ 530 ล้านบาท สำหรับกรลงทุนในธุรกิจของบริษัท ยูเอ็มเอส (UMS )

"การบันทึกการด้อยค่าดังกล่าว เป็นการบันทึกทางระบบบัญชี ซึ่งจะมีผลในทางบัญชีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน หรือเงินสดของบริษัท บริษัทไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินในการบริหารงาน อย่างไรก็ตามจะมีผลทำให้งบการเงินปีนี้ขาดทุนเหมือนกับปีที่ผ่านมา"

หลังจากนี้ เมื่อมีการบันทึกการด้อยค่าดังกล่าวแล้ว จะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ ขณะที่แนวโน้มธุรกิจของบริษัทแทบทุกตัวปรับตัวดีขึ้น ทั้งค่าระวางเรือในตลาดโลกที่ปรับขึ้น ธุรกิจทางด้านพลังงาน และโลจิสติกส์ต่างๆ ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีหน้าจะพลิกฟื้นเป็นบวกได้

ขณะที่นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีทีเอ กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับทางผู้บริหารทีทีเอที่ลาออก ที่ผ่านมามีการร่วมมือกันในการบริหารบริษัทเป็นอย่างดี และร่วมงานกันมาเป็นปีที่ 2 แล้ว นับตั้งแต่ตนเข้ามาถือหุ้นในบริษัททีทีเอ สำหรับเหตุผลในการลาออกนั้นทางผู้บริหารแจ้งว่าเป็นเหตุผลส่วนตัว

แม้ทีทีเอ จะมีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในปีนี้เพิ่มเติม แต่ทีทีเอ ยังคงแข็งแกร่งและยังคงมีเงินสดจำนวนมาก ซึ่งหลังจากรายการนี้ มูลค่าทางบัญชีของกองเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองก็จะสอดคล้องกับมูลค่าในตลาด ช่วยให้ธุรกิจโทรีเซน ชิปปิ้งอยู่ในสถานะที่จะฟื้นกลับมาทำกำไรได้มากขึ้นกว่าเดิมในปีหน้า

นอกจากนี้บริษัทก็ยังคงมีแผนที่จะลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในธุรกิจการเดินเรือ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ธุรกิจเข้มแข็ง ซึ่งจากการที่อยู่ในธุรกิจนี้มานาน มีประสบการณ์ที่เป็นจุดแข็งของบริษัท โดยบริษัทยังเห็นโอกาสที่จะซื้อเรือในราคาที่เหมาะสม เพิ่มอีก 3-6 ลำ ในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้านี้