ผ่าโมเดลธุรกิจ “กลุ่มสามารถ”ปี 59 โชว์รายได้ 5 หมื่นล้าน

ผ่าโมเดลธุรกิจ “กลุ่มสามารถ”ปี 59 โชว์รายได้ 5 หมื่นล้าน

“ขาใหญ่วีไอ” ถอนกำลังออกจาก “หุ้นกลุ่มสามารถ” ทว่าวันนี้ถูกแทนที่ด้วย “กองทุนชื่อดัง” หลัง “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” เชื้อเชิญด้วยแผนเดิม

หลายปีก่อน “เซียนหุ้นรายใหญ่” เคยยึดพื้นที่ “หุ้นกลุ่มสามารถ” บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) บมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) และบมจ.สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) ของ “ตระกูลวิไลลักษณ์” อาทิเช่น “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” “ทวีฉัตร จุฬารกูร” “ณัฐพล จุฬารกูร” “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” และ “พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง”

ทว่าเดี๋ยวนี้กองทัพแสวงหากำไรกลุ่มนี้ ได้ทยอย “ถอนกำลัง” ออกจากฐานที่มั่น คงเหลือเพียง “ทวีฉัตร จุฬารกูร” ที่ยังใช้กลยุทธ์ทยอยเงินลงทุน ก่อนจะถูกเหล่า “กองทุนในและต่างประเทศ” ยกพลขึ้นบกยึดหัวหาดเป็นกลุ่มถัดไป ปฎิบัติการณ์เก็บหุ้นของเหล่ากองทุนชื่อดังเกิดขึ้นหลังจบการ “ทอล์คโชว์ธุรกิจ” ของ “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” เจ้าของ “กลุ่มสามารถ”

จากการตรวจสอบพบว่า ณ วันที่ 22 มี.ค.2556 “ทวีฉัตร จฬารกูร” ทายาท “ซัมมิทกรุ๊ป” เหลือหุ้น สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เพียง 18 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.81% จากเดิมที่เคยครองสัดส่วนมากถึง 54.30 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.49% ส่วนหุ้น สามารถเทลคอม (SAMTEL) ปัจจุบันไม่มีรายชื่อติด 1 ใน 13 อันดับ อดีตเคยถือหุ้น SAMTEL 5.3 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.87% (ตัวเลข ณ วันที่ 30 ส.ค.2555)

รายใหญ่ตบเท้าขายหุ้นครานั้น จะใช่เหตุที่ “ขุนพลใหญ่” ไม่สามารถตอบ “โจทย์หิน” 3 ปี (2553-2555) รายได้ 50,000 ล้านบาท ได้ชัดๆหรือไม่ เรื่องนี้ต้องถาม “วัตน์ชัย วิไลลักษณ์”

“วีไอขาใหญ่ไปกันหมดแล้ว (มั้ง) ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร เมื่อต้นปียังแห่มาฟังข้อมูลอยู่เลย รู้เพียงว่า ตอนนี้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนเปลี่ยนไป กองทุนดังๆตบเท้าถือหุ้น SAMART เยอะขึ้น ใครไม่เคยมีก็มาซื้อ ใครเคยซื้อก็สอยเพิ่ม ปรากฎการณ์นี้กำลังบ่งบอกว่า เรามีความน่าเชื่อถือขึ้นเยอะ “ประธานกรรมการบริหาร” กลุ่มสามารถ บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” แบบอารมณ์ดีสุดๆ

ธุรกิจทุกตัวของกลุ่มสามารถจะหล่อขั้น “พระเอก” ทุกตัว!!

“วัฒน์ชัย” โปรยหัวเรื่อง ก่อนเล่าเป้าหมายใหม่ว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า (2556-2559) ไม่ใช่เรื่องยากที่ “สามารถคอร์ปอเรชั่น” จะมีรายได้รวมแตะ 50,000 ล้านบาท จะทำได้เหรอ!! หลายคนตั้งคำถาม ทำได้สิ (เขาพูดเสียงสูง)

ใช่!! ครั้งหนึ่ง “ผมเคยการันตีว่า ภายในปี 2555 เราจะครอบครองตัวเลขนี้ แต่สุดท้ายทำไม่ได้ นั่นเป็นเพราะมีบางธุรกิจเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ที่ก่อตั้งในปี 2554 แต่เพิ่งออกดอกออกผลในปี 2556 และปี 2557 น่าจะเห็นภาพชัดเจน หลังไปซื้อกิจการบริษัท เทด้า จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า งานก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า เป็นต้น"

ครั้งนี้ “เจ้าของ” กลุ่มสามารถ ขอทำนายอีกครั้งว่า สิ้นปี 2556 “สามารถคอร์ปอเรชั่น” คงจะโกย “กำไรสุทธิ” ค่อนข้างเยอะ ส่วนรายได้รวมจะแตะ 25,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 17,099 ล้านบาท ยังไม่รวมธุรกิจใหม่ที่อาจมีเข้ามา “สามารถ ยู-ทรานส์” คงช่วยเราได้เยอะ ถ้าบริษัทนี้ต้องลงทุนเพิ่มเติมคงใช้เงินราวๆหมื่นล้านบาท เราจะไม่มอง “เชิงรายได้” อย่างเดียว แต่จะมองหาธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน..

“สามารถคอร์ปอเรชั่น” มี 4 ธุรกิจหลักที่คอยสร้างรายได้เข้าบ้าน ไล่มาตั้งแต่

สายงานที่ 1 ธุรกิจ Mobile Multimedia นำทีมโดย "สามารถ ไอ-โมบาย" (SIM) ซึ่ง SAMART ถือหุ้นอยู่ 70.80% กำไรเพิ่งกลับมา “เทิร์นอะราวด์” เมื่อปี 2554 “ผมเชื่อว่าสิ้นปี 2556 คงมี “ยอดขาย” เติบโต 100% ส่วน “กำไรสุทธิ” ขยายตัว 1,000% (มั้ง) ส่วน “กำไรขั้นต้น” คงยืน 25-30% “อัตรากำไรสุทธิ” เกือบ 10% ตัวเลขเหล่านี้เราไม่เคยทำได้มาก่อน ปี 2555 มีอัตรากำไรสุทธิแค่ 2.35%

อะไรหนอ!! ทำให้ตัวเลขสวยแบบนี้ เมื่อ 2-3 ปีก่อน เราค่อยๆปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในสามารถ ไอ-โมบาย เริ่มด้วยการเปลี่ยนมาขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภท Smart Phone แทนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Feature Phone และเปลี่ยนจากระบบ Origianl Equipment Manufacturer (OEM) หรือสั่งสินค้าจากผู้รับผลิต เป็นระบบ Original Design Manufactuere (ODM) หรือออกแบบพัฒนาดีไซน์สินค้าเอง

ระบบ ODM มีผลตอบแทน “สูงกว่า-ยั่งยืนกว่า” เมื่อก่อนเรามียอดขายสูงถึง 6,000-7,000 ล้านบาท แต่มีอัตรากำไรสุทธิเล็กนิดเดียวแค่ 2-3% เท่านั้น หลังเราเปลี่ยนกลยุทธ์ แบรนด์ ไอ-โมบาย เริ่มติดตลาด ด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัย และราคาที่ถูกแพงสุดไม่เกิน 10,000 บาท พลางหยิบโทรศัพท์จากกระเป๋ากางเกงขึ้นมาอวด
“เป็นงัยหน้าตาเหมือนไอโฟนป่ะ เนี่ยละราคาแค่ 9,000 บาทเองนะ”

ตอนนี้บริษัทมียอดขายโทรศัพท์ตกเดือนละ 300,000 -400,000 เครื่อง ไตรมาส 2/56 เราขายทะลุ 1 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบ 3 เดือนแรกของปี 2556 ที่มียอดขายแค่ 800,000 เครื่อง เดิมตั้งใจจะขายโทรศัพท์ให้ได้ 3.3 ล้านเครื่องภายในสิ้นปีนี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจละขอเป็น 4 ล้านเครื่อง จากนั้นจะพยายามดันยอดขายให้โตปีละ 20-30%

“สามารถ ไอ-โมบาย” จะพยายามออกสินค้าใหม่ไตรมาสละ 6-7 รุ่น ตกปีละ 30 รุ่น ออกถี่ๆถือเป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง ลูกค้าชอบเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยๆ อายุต่อ 1 เครื่อง ไม่น่าเกิน 2-3 ปี ใช้โทรศัพท์เราดีจะตาย “ไม่แพงเปลี่ยนได้บ่อย” (หัวเราะ) ไม่เหมือนบิ๊กแบรนด์จะเปลี่ยนโทรศัพท์ทั้งทีแอบนึกเสียดายเงิน..

กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ตั้งแต่ระดับ C- B บริษัทจะพยายามอัพเกรดราคาขึ้นทุกปี คนถือ “ไอ-โมบาย” จะได้ไม่อายคนอื่น แต่จะพยายามขึ้นราคาไม่ให้เกิน 12,000-13,000 บาท สูงกว่านี้จะไปชนบิ๊กแบรนด์มากไป ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงคึกคัก หลังเกิดระบบ 3G แต่แบรนด์ชั้นนำไม่ค่อยเหลือแล้วมีเพียงเจ้าตลาดหลักๆไม่กี่ราย
สำหรับธุรกิจคอนเทนท์ และธุรกิจ MVNO ที่อยู่ในสายธุรกิจ Mobile Multimedia มียอดเติบโตที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจ MVNO โอกาสขยายตัวหลายร้อยเปอร์เซ็นต์มีสูงมาก

“3 ปีข้างหน้า “สามารถ ไอ-โมบาย” จะมี “รายได้-กำไร” เติบโตอย่างน้อย 40-50%”

นายใหญ่ เล่าต่อว่า สายงานที่ 2 คือ ธุรกิจ ICT Solutions & Services นำทัพโดย “สามารถเทลคอม” (SAMTEL) กำไรสุทธิไตรมาส 2/56 อาจลดลงนิดหน่อย แต่จะมาปูดอีกทีในไตรมาส 3/56 ฉะนั้นปี 2556 “รายได้-กำไร” อาจเติบโต 20% คงเห็นรายได้แถวๆ 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 7,000 ล้านบาท ตอนนี้เรามียอดแบล็กล็อก 9,700 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายภายในปีนี้ ส่วนอัตรากำไรขั้น 15-20% ได้ได้แน่น เราจะหารายได้ค่าเซอร์วิสมากขึ้น เดิมมีรายได้นี้เพียง 20-25% ต่อไปอีก 3 ปี ต้องทำให้ได้ 50%”

อนาคตผลประกอบการของ “สามารถเทลคอม” คงขยายตัวปีละ 30-35% ที่ผ่านมาโครงการต่างๆของรัฐบาลประมูลล่าช้า แต่ทุกครั้งที่บริษัทเข้าประมูลโครงการ ส่วนใหญ่มัก “ชนะ” ก่อนประมูลงานเราต้องมั่นใจใน “จุดแข็ง” ของตัวเอง นั่นแปลว่า 80-90% บริษัทต้องเป็น “The Winners” ปิดโครงการเร็วขึ้น นั่นแหละ “ข้อดี” ของเรา

ไตรมาส 3/56 บริษัทจะเข้าประมูลงานมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาท อาทิเช่น งานการท่าอากาศยาน มูลค่า 400 ล้านบาท งานการไฟฟ้า มูลค่า 700 ล้านบาท งานกระทรวงมหาดไทย 400 ล้านบาท เป็นต้น “เราต้องชนะทุกงาน” วัฒน์ชัย พูดด้วยสีหน้ามั่นใจสุดๆ

นี่ยังไม่พูดถึงเมกะโปรเจคของรัฐบาลที่จะมาโผล่ในไตรมาส 4/56 และระบบ 3 G เฟส 2 ฉะนั้นในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี เราตั้งใจจะเข้าประมูลงานมูลค่า 30,000 ล้านบาท อาทิเช่น งานกรมที่ดิน งานการไฟฟ้า และงานองค์การศูนย์ข้อมูลภาคใต้ เป็นต้น คาดว่างานชนะการประมูลประมาณ 10,000 ล้านบาท

เขา เล่าต่อว่า สายงานที่ 3 คือ ธุรกิจ NON-Listed Businesses อนาคตรายได้คงเติบโต 25% ธุรกิจนี้ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ กลุ่ม Related Services ซึ่งจะมี 3 บริษัทย่อยคอยสร้างรายได้ เช่น บริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซีสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจกล้องวงจรปิด ปี 2556 คงมียอดขายสูงถึง 800-900 ล้านบาท เรียกว่ามากกว่าปีก่อนเยอะที่มีรายได้แค่ 134 ล้านบาท นั่นเป็นเพราะลูกค้าในกรุงเทพ และภาคใต้ มีความต้องการกล้องวงจรปิดสูงมาก ถามว่ามีโอกาสดันบริษัทแห่งนี้เข้าตลาดหุ้นมั้ย? คงต้องจัดโครงการสร้างใหม่ก่อน

บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด ปี 2557 บริษัทนี้จะกลับมาสวย เมื่อทีวีดิจิทัลเกิด เกือบทุกบ้านต้องเปลี่ยนกล่อง SET TOP BOX ใหม่ (กล่องรับสัญญาณ) พลางชี้มือไปห้องข้างๆ เรากำลังทดลองกล่อง SET TOP BOX กันอยู่ เมื่อไรทางการเปิดประมูลเราพร้อมขายกล่องทันที ตั้งใจจะขายหลักล้านกล่อง ตกกล่องละ 800-1,000 บาท เราคงไม่เข้าไปประมูลทำช่อง แต่จะแจมกับคนที่ได้ช่องมากกว่า

อีกกลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่ม Utilities &Transportations มี 4 บริษัทย่อยคอยทำงาน เช่น บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ เราได้สัมปทานที่ประเทศกัมพูชามาเมื่อ 11 ปีก่อน ล่าสุดกำลังยื่นขอที่ประเทศลาว คาดว่าคงได้ทำบางแอเรียมูลค่าไม่มากเท่าไร เราแค่อยากแหย่ขา ตอนนี้กำลังยื่นประมูลงานที่เมืองไทย มูลค่า 2,000 ล้านบาท ส่วนประเทศพม่าคงต้องส่งมือถือไปขายนำร่องก่อน แต่กำลังขอใบอนุญาต CALL CENTER อีก 2 ปีข้างหน้า คงเป็นพระเอกตัวใหม่ของกลุ่ม

นอกจากนั้นยังมีบริษัท เทด้า จำกัด เขาสร้างรายได้จากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 20 เมกะวัตต์ ประเทศกัมพูชา มาแล้ว 5 ปี กำไรขั้นต้นดีมาก ตั้งใจว่าภายในปี 2556 เล็งจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกประมาณ 2 แห่ง เราสามารถทำได้หลักร้อยเมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนคง 1 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์ หากได้ข้อสรุปภายใน 2-3 ปีข้างหน้า คงเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้

สายงานที่ 4 คือ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด ผู้ให้บริการลูกค้าผ่านศูนย์บริการข้อมูล (Contact Center) ครบวงจร ทุนจดทะเบียน 280 ล้านบาท ซึ่ง “สามารถคอร์ปอเรชั่น” ถือหุ้น 96% มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปลายปี 2556 ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 70 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิม10 ล้านหุ้น

เราจะนำรายได้ที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอไปขยายการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพม่า และกัมพูชา และชำระคืนเงินกู้ ณ สิ้นปี 2555 บริษัทแห่งนี้มีสินทรัพย์ 642 ล้านบาท หนี้สิน 334 ล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) 1.09 เท่า รายได้ 896 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท ฉะนั้นยอดขาย 1,000 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องยาก

“วัฒน์ชัย” บอกว่า วันนี้กลุ่มสามารถล้างขาดทุนหมดแล้ว ไม่มีบริษัทไหนขาดทุนเลย นักลงทุน VI และกองทุนในและนอกประเทศรู้ดี.. เห็นได้จากโครงสร้างการถือหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคงเป็นเพราะเราพูดแล้วทำได้

ถามว่าวันนี้ราคาหุ้นกลุ่มสามารถสอดคล้องกับพื้นฐานมั้ย? ในฐานะเจ้าของไม่แทบไม่เคยขายหุ้นออก เรามองผลตอบแทนเป็นหลักที่มีมากกว่าดอกเบี้ย ที่ผ่านมาหุ้น SAMART เคยจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 0.60 บาท ขณะที่ราคาหุ้นยืน 9-10 บาท แต่ปีนี้น่าจะจ่ายมากกว่านี้ หากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ขึ้นไป 19 บาท และผลประกอบการที่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมามีนักวิเคราะห์บางรายให้ราคาเป้าหมายหุ้น SAMART มากกว่า 30 บาท หากทุกอย่างเป็นตามที่หมายมั่นปั้นมือภาย 6 เดือน ถึง 1 ปี “ผมเชื่อว่าราคาหุ้นคงมีอะไรดีกว่านี้ คงไม่ใช่แค่นี้หรอก”

เขา ตอบคำถามที่ว่า ทำไมถึงขายหุ้น SAMART 22.50 ล้านหุ้น ราคา 25.50 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2556 กองทุนถามเรื่องนี้เยอะมาก ครานั้นตอบไปว่า ต้องเอาเงินไปจ่ายหนี้ เคยกู้เงินมาซื้อหุ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ตลอดเวลาครอบครัววิไลลักษณ์ไม่เคยขายหุ้นกลุ่มสามารถเลยไปไล่ดูได้ เวลาเจ้าของขายรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่เนอะ (เขาตัดพ้อ) จริงๆไม่ได้ตั้งใจจะขายเยอะขนาดนี้ เพราะราคาไม่โอเคเท่าไร และเชื่อว่าอนาคตราคาจะดีกว่านี้ แต่เนื่องจากเราคงไม่มีโอกาสขายอีกแล้วเลยตัดใจขายทีเดียวเลย

“หุ้นใหญ่” พูดเรื่องลงทุนในนามบริษัท วิไลลักษณ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ว่า เพิ่งซื้อโรงแรมในจังหวัดระยอง และเขาใหญ่ และเพิ่งซื้อที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งใจจะทำเป็นรีสอร์ท ปกติเล็งจะเปิดโครงการปีละ 1 แห่ง ส่วนที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีขายไปแล้ว ถ้าได้ที่ดินใหม่ๆตั้งใจจะทำเป็นรีสอร์ทหรือคอนโดมิเนียม ราคา 1-3 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2556 ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมือง หลายสิบปีก่อนไม่เคยมีใครสนใจว่าการเมืองจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากขนาดนี้ หุ้นตกยังมาจากการเมืองเลย เวลาการเมืองแย่หุ้นเราลงบ้าง แต่เราไม่ได้เล่นการเมือง ทำแต่ธุรกิจ ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอะไร เราทำตามหมด