เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก "รายได้ปานกลาง"

เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก "รายได้ปานกลาง"

ในช่วงหลังๆ นี้ มีนักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศแสดงความห่วงใยว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงและผันผวนมากขึ้น ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ย 6% ถึง 7% ต่อปี แต่ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราโตเฉลี่ยแค่ 3% ถึง 4% ต่อปีเท่านั้น

เราเจอวิกฤตถึง 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นวิกฤติที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งบรรเทาเบาบางลงไปมากแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในโลก ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” ตามมาตรฐานของธนาคารโลก ไทยอยู่ในกลุ่มนี้มานานกว่า 50 ปีแล้วและยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เลื่อนลำดับให้เป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” เสียที เปรียบเสมือนตกอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap)

ในปีที่แล้ว รายได้ต่อหัวของไทยเท่ากับประมาณ 7,500 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวขั้นต่ำของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงประมาณ 12,500 เหรียญสหรัฐฯ

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยก็กำลังติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” นี้เช่นเดียวกับไทย

เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก \"รายได้ปานกลาง\"

นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารโลกเคยอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับประเทศยากจนที่สามารถ เติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงแรก โดยการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำและแรงงานไร้ฝีมืออย่างเข้มข้น รวมทั้งสามารถดึงดูดการลงทุนจากประเทศอุตสาหกรรมมาได้มาก

แต่ต่อมาเมื่อรายได้ต่อหัวและค่าแรงขยับตัวสูงขึ้น ก็เริ่มมีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงต่อไป เพราะไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและแรงงานที่มีทักษะได้เองอย่างเพียงพอ 

จึงสูญเสียความสามารถในแข่งขันให้กับประเทศอื่นๆ  ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต กลายเป็นเศรษฐกิจที่ตกอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไม่สามารถผลักดันออกจากกับดักเพื่อขยับเขยื้อนขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงได้

หลายคนอาจจะถามว่า ในอดีต (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) มีประเทศไหนบ้างที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เท่าที่เห็นอย่างชัดเจนมีอยู่อย่างน้อย 5 ประเทศ คือ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์

"เกาหลีใต้" เป็นกรณีคู่เทียบของไทยที่น่าสนใจ เพราะในช่วง 10 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยและเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวที่ใกล้เคียงกันมาก

แต่หลังจากนั้นแล้วเกาหลีใต้ก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแซงหน้าไทยไปอย่างไม่เห็นฝุ่น และกลายเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สามารถผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ออกไปขายทั่วโลก

สำนักวิจัยบางแห่งวิเคราะห์ว่า ประเทศที่มีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในเวลาอีกไม่นานน่าจะเป็น จีน ตุรกี เม็กซิโก และรัสเซีย

บทเรียนจากประเทศที่พ้นกับดักรายได้ปานกลางไปแล้วสอนให้เรารู้ว่า การเพิ่มรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจให้กลายเป็นประเทศรายได้สูง จำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ

 

หนึ่ง การมีนวัตกรรมและผู้ประกอบการที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในสินค้าหรือบริการได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน

สอง การมีกำลังแรงงานที่มีความรู้และทักษะในการทำงานในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่มีโอกาสรองรับและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างดี

สาม การมีระบบการเมืองและกฎระเบียบข้อบังคับ ที่เสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ อันจะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจทั้งโดยคนในประเทศและต่างชาติ 

เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก \"รายได้ปานกลาง\"

สี่ การมีวินัยทางสังคม ซึ่งหมายถึงการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด การตรงต่อเวลา จริยธรรมในการทำงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหา อันนำไปสู่ความไว้วางใจและความสามัคคีในสังคม

เราย้อนกลับไปตอบคำถามว่า “ไทยจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้หรือไม่และเมื่อใด?” 

ผมลองคำนวณรายได้ต่อหัวของไทยและรายได้ต่อหัวขั้นต่ำของกลุ่มประเทศรายได้สูง และพยากรณ์ไปข้างหน้า โดยมีข้อสมมติเกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตของไทยที่ 3 ระดับ (คือ ต่ำที่ 3% ต่อปี ปานกลางที่ 4% ต่อปี และสูงที่ 5% ต่อปี) ส่วนอัตราการขยายตัวของรายได้ต่อหัวขั้นต่ำของประเทศรายได้สูงกำหนดให้เป็น 1% ต่อปี

ผลปรากฏว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในอัตราปีละ 5% ไทยจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในปี พ.ศ. 2580 (ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560-2579) 

หากไทยเติบโตได้ปีละ 4% ก็จะหลุดพ้นจากกับดักและกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี พ.ศ. 2585 และในกรณีที่เติบโตได้ ปีละ 3% ก็จะกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2594 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก \"รายได้ปานกลาง\"

งานวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีข้อสรุปคล้ายกัน คือ อัตราเติบโตสูงสุดในอนาคตของไทยอยู่ระหว่างปีละ 3% ถึง 4%  โอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอัตราปีละ 5% มีน้อยมาก

ดังนั้น เราคงต้องมีชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี จึงจะได้เห็นประเทศไทยที่ร่ำรวยติดอันดับโลก

ข้อสรุปนี้ก็ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะถ้าเราลองเทียบสภาพเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองของไทยในปัจจุบันกับคุณสมบัติ 4 ประการข้างบนที่ทำให้หลายประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราก็จะพบว่าไทยยังไม่สอบผ่านได้สักข้อหนึ่ง 

จุดอ่อนสำคัญของไทยคือ “ความแก่” และ “การโกง” .....

“ความแก่” หมายถึงโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนเด็กและคนวัยทำงานลดลง อีกทั้งแรงงานก็ยังขาดฝีมือและทักษะสำหรับโลกในอนาคตอีกด้วย

  “การโกง” หมายถึงการทุจริต/คอร์รัปชั่นในภาครัฐที่ดูจะมีแนวโน้มสูงขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

เศรษฐกิจไทยติดกับดัก จมปลัก \"รายได้ปานกลาง\"

ผู้ประกอบการไทยนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังเน้นกำไรในระยะสั้น-ปานกลาง  และไม่มีสายตาที่กว้างไกลพอที่จะลงทุนในนวัตกรรมเพื่อผลกำไรในระยะยาว

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือนโยบายของรัฐบาลไทยในปัจจุบันที่ดูจะ “หมกมุ่น” อยู่กับการแก้ปัญหาระยะสั้นในแนวประชานิยม ตัวอย่างสำคัญคือ “นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ digital wallet” ที่ใช้เงินมากถึง 500,000 ล้านบาท แจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

แต่จะทำให้ประเทศเพิ่มหนี้สาธารณะและเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาว.....ซึ่งก็คือการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้ประเทศมีคุณสมบัติที่จะทำให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนั่นเอง 

ถ้าแนวโน้มของนโยบายเป็นการมุ่งเน้นผลระยะสั้นเช่นนั้น ผมคิดว่าอีก 20 ปีเราก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นประเทศไทยเลื่อนชั้นไปติดกลุ่มรายได้สูงของโลกอย่างแน่นอน.