กาลครั้งนี้ ที่ 'กาฬสินธุ์'

กาลครั้งนี้ ที่ 'กาฬสินธุ์'

กาลครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนแห่งนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย

กาลครั้งนี้ ณ ดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่หลายคนไม่รู้ แต่ช่างน่าสนใจ

แม้จะเดินทางไปเหนือจรดใต้ แต่พอเอ่ยถึงภาคอีสาน กลับเป็นถิ่นที่ผมแทบจะไม่ได้เดินทางไปเยือน ยิ่งเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยแล้ว ผมยอมรับเลยว่ารู้จักกาฬสินธุ์เพียงอย่างเดียวคือมีผ้าชั้นเลิศที่ชื่อว่า 'แพรวากาฬสินธุ์'

ดังนั้นผมจึงสมควรถูกเรียกไปกาฬสินธุ์เพื่อปรับทัศนคติอย่างยิ่ง...

ประจวบเหมาะกับไม่นานนี้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ภุชงค์ โพธิกุฎสัย กำลังเร่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เมืองกาฬสินธุ์ในโครงการ 'มองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์' เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากาฬสินธุ์แต่เดิมไม่ใช่หมุดหมาย ทว่าเป็นเพียงเมืองผ่าน แต่มุมมองใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะได้มองมุมใหม่น่าจะทำให้กาฬสินธุ์อยู่ในรายชื่อจังหวัดน่าเที่ยวในดวงใจอีกสักแห่ง

หากมองเป็นข้อด้อยอย่างที่บอกไปว่ากาฬสินธุ์เป็นเมืองผ่าน การท่องเที่ยวของเมืองนี้จึงค่อนข้างเงียบเหงา แต่ในทางกลับกันความเป็นเมืองผ่านแบบนี้ช่วยให้กาฬสินธุ์ยังสดใหม่ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากซ้ำซากจำเจ

-1-

จากสนามบินดอนเมืองใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงก็มาถึงสนามบินร้อยเอ็ด แต่จุดหมายของเราคือกาฬสินธุ์จึงต้องนั่งรถต่อไปยังอำเภอกมลาไสยราวชั่วโมงกว่า ผมถือโอกาสนี้ค่อยๆ ทำความรู้จักอีสานขนานแท้เพราะผมยังไม่เคยสัมผัสสักที

ช่วงต้นฤดูหนาวแบบนี้ยังมีสีเขียวจากใบไม้ใบหญ้าให้ชื่นใจอยู่บ้าง ไม่น่ากลัวอย่างที่ผมเคยจินตนาการถึงอีสานอันแห้งแล้งเหลือทน ริมทางยังมีฝูงวัวเดินเล็มยอดหญ้ากันเพลินปาก...

ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวไทย การได้กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป สถูป เจดีย์ หรือตัวแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอื่นๆ จะนำมาซึ่งความสิริมงคล เมื่อผมมาถึงกาฬสินธุ์ครั้งแรกอย่างนี้ควรประเดิมด้วยที่แรก...พระธาตุยาคู

เพราะกาฬสินธุ์มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นที่ตั้งของเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณในอำเภอกมลาไสย ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐโบราณ แต่พระธาตุยาคูยังตั้งตระหง่านอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดีเพื่อบอกเล่าถึงอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองเมื่อนับพันปีก่อน เชื่อว่ามนุษย์มาอยู่อาศัยเป็นชุมชนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 หรือประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว จนถึงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งเป็นยุคที่ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด

และของดีที่นี่คือ ใบเสมาที่ใช้บอกเขตสีมาภายในวัด บนแผ่นดินเมืองฟ้าแดดสงยางถูกขุดพบใบเสมาจำนวนมาก แม้แต่ในเรือกสวนไร่นา สะท้อนว่าเมืองฟ้าแดดสงยางในอดีตมีวัดมาก และบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็นเท่านั้นที่ผู้คนจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้อย่างนี้

ผมกราบสักการะพระธาตุยาคูและชมใบเสมาที่ยังมีลวดลายชัดเจนบอกเล่าเรื่องราวตามพุทธประวัติ ผมถึงกับขนลุกว่าไอ้ที่เคยเรียนในแบบเรียนนั้นมีอยู่จริง พุทธประวัติที่ใครก็อาจแต่งเติมอะไรใส่ไปก็ได้ ทว่ามีหลักฐานที่จับต้องได้

พอรู้ว่าใบเสมาไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นหลักเขต แต่ยังเล่าเรื่องราวในพระพุทธศาสนาได้ด้วย ผมจึงไปที่วัดเสมาชัย แค่ชื่อก็เดาได้ว่าที่นี่มีอะไรเด็ด

ใช่แล้วครับ วัดนี้มีใบเสมา เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมใบเสมาแห่งเมืองฟ้าแดดสงยางไว้มากที่สุด ถึงแม้วัดแห่งนี้จะไม่ได้กว้างขวางนัก แต่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเห็นใบเสมาเต็มไปหมด ใบเสมาที่สภาพไม่ดีจะถูกนำไปปักตามขอบกำแพงวัดหรือทางเดิน แต่ใบเสมาระดับมาสเตอร์พีซ คือมีสภาพดีมากก็จะถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดดซึ่งตั้งอยู่ในวัดนั่นเอง

ผมสังเกตว่าใบเสมาที่นี่บางใบจะมีสีส้มอมแดง ทางผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเป็นเพราะใบเสมาเหล่านี้เป็นใบเสมาสมัยทวารวดี และทำด้วยหินทราย เมื่อถูกปักไว้ในดินยาวนาน ใบเสมาหินทรายจึงดูดซึมเอาเกลือของดินอีสานเข้าไป ถึงตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะเกลืออยู่ในเนื้อหินเรียบร้อย และอาจกัดกร่อนใบเสมาเหล่านี้ไปทีละนิดๆ ดังนั้นผมจึงโชคดีที่สุดในโลกที่ได้มาเห็นใบเสมาเหล่านี้ก่อนที่มันอาจจะไม่เหลืออีกต่อไปในอนาคตอันไกลโพ้น

-2-

ต้องยอมรับว่าผมไม่ใช่นักเดินทางที่หลงใหลประวัติศาสตร์มากมายนัก แต่เมื่อได้มาเห็นใบเสมาที่คล้ายกำลังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกต่างๆ ผ่านลวดลายสลักตั้งแต่สมัยทวารวดีแบบนี้ ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกทึ่ง แต่กระนั้นผมก็จำเป็นต้องออกจากเมืองฟ้าแดดสงยางเพื่อเข้าสู่เมืองกาฬสินธุ์จริงๆ สักที แต่ก็นั่นล่ะ...ใบเสมาก็ยังตามผมไปทุกที่ แถมยังใหญ่โตมโหฬารอีกด้วย!

คนแถวนี้เรียกที่นี่ว่าเป็นแลนด์มาร์คของกาฬสินธุ์ และที่นี่ก็เป็นประตูสู่กาฬสินธุ์ด้วย ประตูสู่กาฬสินธุ์จำลองใบเสมาโบราณที่จำหลักเรื่องราว จำลองมาจากใบเสมาที่งดงามที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง เพื่อตอกย้ำความเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแหล่งลุ่มน้ำปาวตั้งแต่อดีต

ใกล้ๆ คือ วงเวียนไดโนเสาร์ บอกไปแล้วว่าผมไม่ได้หลงใหลประวัติศาสตร์มากนัก และรู้แค่ว่าที่อีสานมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากมาย ที่โด่งดังและผมรู้จักก็คือขอนแก่น แต่กาฬสินธุ์นี่ผมเพิ่งรู้จริงๆ ว่ามีไดโนเสาร์มากขนาดนี้ และที่น่าอายที่สุดคือผมเพิ่งรู้ว่ากาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากที่สุดและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย...เห็นไหมว่าผมควรถูกเรียกมาปรับทัศนคติแค่ไหน

ถ้าพูดถึงดนตรีอีสานคุณจะนึกถึงอะไร?

บางคนอาจนึกถึงเครื่องดนตรีที่ช่วยชาวอีสานไม่ให้ขาดแคลน เพราะว่ามีแคนจึงไม่ขาดแคนไง...

แต่สำหรับผมกลับนึกถึงโปงลาง เพราะหลายปีมานี้การแสดงจำพวกโปงลางมีให้ชมผ่านสื่อต่างๆ บ่อยมาก แน่นอนว่าเครื่องดนตรีคล้ายระนาดอันเป็นอัตลักษณ์ของภาคอีสานนี้ก็ถูกนำมาขยายสัดส่วนและทำเป็นวงเวียนที่ชื่อว่าวงเวียนโปงลาง เพื่อบอกว่าว่ากาฬสินธุ์เป็นแหล่งที่มีศิลปินโปงลางมากที่สุด กระทั่งวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้ผลิตบุคลากรที่เป็นศิลปินมากมายออกไปสู่สังคมภายนอก จนกระทั่งวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่หมายตาของนักเรียนที่จะมาเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสาขาศิลปะต่างๆ ในภาคอีสาน

วนวงเวียนจนเริ่มวิงเวียน ไม่รู้ว่าทำไมที่กาฬสินธุ์จะต้องมีวงเวียนมากมายและใหญ่โตขนาดนี้ด้วย ผมไม่รู้เหตุผลจริงๆ หรอก แต่เท่าที่เห็นก็คงเอาไว้ตั้งสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์เหล่านี้ไว้นั่นล่ะ...ก็สวยดีนะ

ใกล้เที่ยงแล้ว แดดเริ่มไล่ล่าผมและคนอื่นๆ หากจะต้องยืนถ่ายภาพที่วงเวียนกลางแจ้งเหล่านี้คงไม่ไหวแล้ว ผมจึงออกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปที่อำเภอสหัสขันธ์ ที่นี่เองที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผมเกี่ยวกับกาฬสินธุ์และไดโนเสาร์แบบต้องอ้าปากค้าง

ไม่นานนี้มีตัวอย่างภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่งอำนวยการสร้างโดยสตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่องราวว่าด้วยสวนสนุกที่ตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง สวนสนุกแห่งนี้เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ซึ่งถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย นักท่องเที่ยวที่ไปจะได้สัมผัสไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์อย่างใกล้ชิด แต่เรื่องราวไม่ได้สวยงามอย่างนั้นจนจบเรื่อง...

ที่เล่ามาซะยาวเหยียดก็เพื่อจะบอกว่าที่นี่มีไดโนเสาร์เต็มไปหมด ตามริมถนนก็มีไดโนเสาร์ตัวเล็กตัวน้อยยืนต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้บรรยากาศเหมือนในหนังเรื่องนั้นเลย ต่างกันแค่ที่สหัสขันธ์เป็นไดโนเสาร์จำลอง

และที่อลังการมากคือเมื่อผมมาถึงสวนไดโนเสาร์ สวนสาธารณะที่มีไดโนเสาร์ขนาดน่าจะเท่าตัวจริงหลายสายพันธุ์ ทั้งกินเนื้อและกินพืช ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ กำลังทำท่าเดินออกมาหานักท่องเที่ยว ชวนตะลึงได้ดีทีเดียว

สำหรับนักท่องเที่ยวสายเซลฟี่ ต้องไม่พลาดแวะที่นี่เพื่อถ่ายภาพร่วมกับไดโนเสาร์ฝูงนี้สักรูปสองรูป แต่ควรจะมีเลนส์มุมกว้างจะดีมาก เพราะไดโนเสาร์ตัวโตมาก...(ลากเสียงสักสิบวินาที)

-3-

ตะลึงพรึงเพริดกับไดโนเสาร์จำลองแล้ว แต่คงไม่หนำใจและไม่สมกับที่มาถึงดินแดนไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นผมจึงไปต่อที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร เพราะเป็นแหล่งรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบในภาคอีสานโดยเฉพาะกาฬสินธุ์ที่มากที่สุด

เพียงมาถึงด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ก็ประทับใจกับเจ้าไดโนเสาร์คอยาวที่ยืนต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบมีความเคลื่อนไหว คือ มันขยับเขยื้อนได้ อ้าปากคำรามได้ ขอบอกว่าสมจริงมากๆ

พิพิธภัณฑ์สิรินธรเดิมคือศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นสถานที่ปฏิบัติงานศึกษาวิจัย อนุรักษ์เก็บรวบรวมตัวอย่างเกี่ยวกับไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมสมัยเพื่อนำไปเผยแพร่แก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ซึ่งกาฬสินธุ์เป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย พบกระดูกแบบเกือบเต็มตัวมากกว่า 650 ชิ้น ของไดโนเสาร์ซอโรพอด อายุประมาณ 130 ล้านปี ไม่น้อยกว่า 7 ตัว

นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้ออีกอย่างละ 2 ชนิด เป็นกระดูกของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่อีก 1 ชนิด นอกจากนี้ยังมีซากปลาน้ำจืดโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกในสภาพสมบูรณ์ที่ชื่อว่า เลปิโดเทส ซึ่งอยู่ในยุคมีโซโซอิค หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว

และที่นี่ยังมีหลุมขุดค้นที่ยังมีซากฟอลซิลให้ได้ชมแบบเต็มๆ ตาอีกด้วย...

พักเรื่องไดโนเสาร์ไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนบรรยากาศไปสู่ดินแดนอันสงบร่มเย็นบ้างดีกว่า ไม่ไกลกันนักมีวัดแห่งหนึ่งสร้างอยู่ท่ามกลางป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ ที่นี่คือ วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) อยู่ริมเขื่อนลำปาว นอกจากบรรยากาศธรรมชาติแล้ว ยังมีโบสถ์ไม้สีดำสนิทตั้งโดดเด่นกลางเนินเขาสูง ข้างๆ คือเจดีย์หินทรายที่งามสง่า และมีพระพุทธไสยาสน์แกะสลักบนเพิงผาหินตามแบบศิลปะทวารวดี เป็นที่เคาระสักการะของชาวกาฬสินธุ์

หากอิ่มใจไม่พอ ควรต่อด้วยพุทธสถานภูสิงห์ เพื่อสักการะพระพรหมภูมิเปาโล พระพุทธรูปกลางแจ้งที่มีพุทธลักษณะงดงาม ซึ่งจุดนี้เองจะชมทัศนียภาพของเมืองสหัสขันธ์ได้แบบพาโนรามา ผมจึงรู้ว่าอีสานนี้เขียวมิใช่น้อย

เมื่อแสงแดดเริ่มเจือจาง อีกไม่นานจะแทนที่ด้วยแสงจันทร์ แต่ก่อนที่ฟ้าจะมืดผมไปปิดท้ายวันด้วยบรรยากาศดีๆ ลมเย็นๆ ที่เขื่อนลำปาว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว สะพานที่ทอดยาวไปเหนือผืนน้ำช่วยพักสายตาได้ดีทีเดียวเมื่อได้มอง หรือถ้าใครอยากล่องแพดื่มด่ำบรรยากาศและอาหารขึ้นชื่อเช่นไส้กรอกปลา ก็มีแพรอให้บริการอยู่ที่ริมอ่างเก็บน้ำ

เมื่อแพล่องไป จุดที่สวยงามคงหนีไม่พ้นสะพานเทพสุดาที่เมื่อกี้ผมขึ้นไปยืนอยู่ สะพานเทพสุดาเชื่อมระหว่างฝั่งสหัสขันธุ์ไปยังฝั่งหนองกุงศรีที่ต่อไปยังขอนแก่นหรืออุดรได้อย่างสะดวก

ยิ่งใกล้มืดเท่าไรความงามก็ยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น และที่พลาดไม่ได้อีกอย่างและมีให้เห็นทุกวันคือภาพพระอาทิตย์ตก แม้พระอาทิตย์จะไม่ได้ตกแค่ที่นี่ แต่ที่นี่ก็มีพระอาทิตย์ตกงดงามไม่แพ้ที่อื่นเลย

เขื่อนลำปาวนอกจากเป็นแหล่งน้ำในฤดูแล้งแล้วยังสร้างอาชีพประมงแก่ชาวบ้านในพื้นที่ มีกระชังปลามากมายกลายเป็นหมู่บ้านกระชังปลา ภาพวิถีชีวิตง่ายงามกับพระอาทิตย์อัสดงช่างเข้ากันดี...

อาจเพราะเหนื่อยล้าจากการเดินทางทั้งวัน ทันทีที่ผมมาถึงสวนดอนธรรมอันเป็นที่พักของผมคืนนี้ ก็แทบจะไม่คิดถึงอย่างอื่นนอกเสียจากหมอนนุ่มๆ กับผ้าห่มอุ่นๆ เพราะค่ำคืนกลางลมหนาวแบบนี้ทั้งน่านอนและหนาวเหน็บ

สวนดอนธรรมเป็นรีสอร์ทกลางทุ่งนาที่สร้างตามแบบอีสานพื้นบ้าน มีพื้นที่เกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีทั้งนาข้าว บ่อเลี้ยงปลา แปลงผัก และบ้านพักแบบอีสานแต่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ที่สำคัญคือค่ำคืนแบบนี้มีเสียงกบเสียงเขียดและนกกลางคืนขับกล่อมให้ผมนอนหลับฝันดี...

...และเช้าวันใหม่ของที่นี่ไม่ต้องมีเสียงนาฬิกาปลุก แต่มีเสียงไก่ขัน นกทุ่ง มาร้องปลุกถึงบ้าน ทันทีที่เปิดประตูออกมาที่ชานบ้านทัศนวิสัยผมเหลือเพียงครึ่งจากปกติ เพราะมีหมอกขาวราวปุยนุ่น ไม่สิ ผมนึกถึงสายไหมสีขาวและหวานหอม ผมลองอ้าปากกินหมอกดูบ้าง มันไม่หวานหอมแต่เย็นและอร่อยอย่างบอกไม่ถูก

...

เมื่อวานทั้งวันพาไปดูอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับไดโนเสาร์เต็มไปหมด ถ้ายังไม่หนำใจผมขอส่งท้ายด้วยไฮไลท์ที่รับรองว่าแฟนนานุแฟนของสัตว์โลกล้านปีต้องน้ำลายหกเป็นแน่ เพราะนี่คือรอยเท้าไดโนเสาร์ของแท้ไม่ก็อปเกรดเอแน่นอน ซึ่งอยู่ในวนอุทยานภูแฝก

จากหน้าวนอุทยานเดินเข้าไปไม่ทันเหนื่อย ผ่านต้นไม้โบราณที่กลายเป็นหินเพียงนิดหน่อยก็จะเจอลำธารที่ฤดูหนาวแบบนี้จะแห้ง สังเกตให้ดีว่าบนหินพื้นลำธารจะมีรอยเท้าเหมือนในหนังฝรั่งเลย และไม่ได้มีแค่รอยเดียว แต่เป็นแนวการเดิน ชวนให้จินตนาการว่าไดโนเสาร์เจ้าของรอยเท้ากำลังเดินไปทางไหนอย่างไร

จากชุดความเชื่อเกี่ยวกับกาฬสินธุ์ที่เคยมีแค่ผ้าแพรวากาฬสินธุ์ บัดนี้ถูกเติมจนเกือบเต็มด้วยอะไรต่อมิอะไรที่เป็นกาฬสินธุ์จริงๆ ทว่าเพียงหนึ่งหรือสองวันไม่มีทางเที่ยวกาฬสินธุ์ได้พอ และผมก็นำมาเล่าได้ไม่หมด หากยังไม่รู้ว่าวันหยุดยาวนี้จะไปเที่ยวไหน ลองปักหมุดกาฬสินธุ์ไว้ในใจสักที่

รับรองว่าคุณจะค้นพบอะไรมากมายยิ่งกว่าการขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ก็เป็นได้