พท.จี้จัดเลือกตั้งใน60วัน กกต.วอนปชป.ร่วมวงถก

พท.จี้จัดเลือกตั้งใน60วัน กกต.วอนปชป.ร่วมวงถก

พท.ส่ง"จารุพงศ์-โภคิน"ร่วมวงถกกกต. 22 เม.ย. ยันมติ53 พรรคต้องจัดเลือกตั้งใน60วัน "อภิสิทธิ์"ยังกั๊กอ้างดูคนร่วมหารือก่อน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) แถลงผลการประชุมกิจการพรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้(17 เม.ย.) ว่า ได้หารือกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เชิญพรรคการเมืองเข้าหารือในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยมีมติส่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายโภคิน พลกุล กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุม เพื่อนำข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย

โดยจะนำมติของ 53 พรรคที่ต้องการให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันไปเสนอต่อ กกต. โดยเห็นว่า ถ้า กกต.จัดการเลือกตั้งเร็วเมื่อไร ยิ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ ส่วนที่สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการเลือกตั้งออกมาระบุว่า ต้องใช้เวลา 90 วันในการจัดการเลือกตั้ง ทางพรรคเห็นว่า ช้าเกินไป ถ้าหากวันนี้เห็นว่า มีปัญหาอุปสรรคก็ต้องนำปัญหามาพูดคุยกันให้ได้ข้อยุติ

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่กกต. ออกมาระบุว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 90 วันนั้น เป็นระยะเวลาที่นานจนเกิดไป เนื่องจากทุกพรรคการเมืองที่ไม่ได้บอยคอตการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ทั้งนี้ระยะเวลา 60 วันจึงน่าจะเพียงพอให้ กกต.จัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้มีรัฐบาลมาบริหารประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

กกต.ยันยึดกรอบเลือกตั้งที่วางไว้

ด้านนายสมชัย กล่าวยืนยันว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งในกรอบที่ตั้งเอาไว้ แต่หากพรรคเพื่อไทยต้องการให้จัดการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือ 60 วันนั้น กกต.ก็สามารถทำให้ได้ แต่ต้องถามกลับว่า ถ้าจัดเลือกตั้งแล้วมีการขัดขวางขึ้นอีกจะทำให้งบประมาณเสียเปล่าและใครจะรับผิดชอบ

นอกจากนี้วันที่ 22 เม.ย.ที่ กกต.นัดพรรคการเมืองหารือ กกต.เปิดโอกาสให้ถ่ายทอดสดการหารือได้ตลอด ส่วนตัวมองว่าถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้เห็นความคิดของนักการเมืองว่า ใครทำหน้าที่เพื่อประเทศ หรือใครทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

นายสมชัย ย้ำว่า คาดว่าระหว่างวันที่ 29-30 เม.ย.จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ โดยเป็นสูตร 90 วัน นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นสูตรระยะเวลาจัดการเลือกตั้งที่เร็วที่สุดในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น กกต.มีแนวทางในการป้องกันการขัดขวางการรับสมัครลงเลือกตั้ง อาทิ การเปิดให้สมัครผ่านไปรษณีย์ การสมัครผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงการออกระเบียบข้อบังคับขึ้นมาประกอบด้วยอีกชั้นหนึ่ง คาดว่าแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะสามารถทำให้การสมัครรับเลือกตั้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

"อภิสิทธิ์"ยังกั๊กร่วมวงถกกกต.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ต่อกรณีที่นายสมชัย ระบุถึงการกำหนดวันเลือกตั้งรอบใหม่ ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ยอมรับว่าปัญหาสำคัญคือการจัดการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อยและได้รับการยอมรับ

ดังนั้นในการประชุมพรรคการเมือง วันที่ 22 เม.ย. กกต.ควรตั้งคำถามให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเรียบร้อย ไม่มีสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวาย แทนการตั้งคำถามว่าจะเลือกตั้งวันที่เท่าไร ส่วนตนจะไปร่วมการหารือด้วยตนเองหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีบุคคลใดเข้าร่วมบ้าง ทั้งนี้อยากให้ กกต. ระบุให้ชัดว่าได้เชิญหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคเข้าร่วม และเชื่อว่าการหารือดังกล่าวไม่สามารถได้ข้อสรุปภายในการหารือเพียงครั้งเดียว ดังนั้นกกต.ควรรับฟังและพิจารณาเหตุผลของทุกฝ่าย แต่ปัญหาที่ตนกังวลคือ กรณีที่รัฐบาลรับฟังข้อเสนอเฉพาะของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้การหารือพรรคการเมืองไม่เกิดประโยชน์

กกต.วอนปชป.ร่วมวงถกเลือกตั้ง

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวภายหลังการประชุมกกต.ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบการหารือที่กกต.จะนำไปหารือกับพรรคการเมืองในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม โดยจะมีการเสนอกรอบเวลาพร้อมกับเหตุผลให้กับพรรคการเมืองได้พิจารณา

โดยกกต.เห็นว่าควรมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 60 วันนับแต่พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่มีผลบังคับใช้ รวมทั้งจะบอกถึงการแก้ไขระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ทำให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จ ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามที่นายสมชัย เสนอก่อนหน้านี้

โดยขณะนี้มี 42 พรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ยังขาดพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานงาน จึงอยากขอเชิญหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้มาร่วมประชุม เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่งานของกกต.แต่เป็นงานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมประชุมหารือกฎหมายก็ไม่ให้อำนาจกกต.หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองไปสั่งการอะไร และโดยข้อเท็จจริงแล้วกกต.สามารถพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งได้เองแต่ ที่เชิญทุกพรรคการเมืองมาหารือ เพราะกกต.ให้เกียรติ อยากจะรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเมื่อประชุมแล้วเสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองเห็นอย่างไร ก็ไม่ได้หมายความว่ากกต.ต้องดำเนินการตามนั้น

ยัน22เม.ย.รับรองส.ว.เพิ่มอีกล็อต

นายศุภชัย ยังกล่าวถึงการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในส่วนที่เหลืออีก 19 จังหวัด ว่า ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งส.ว.อีกจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก และจะไปรับรองที่เหลือทั้งหมดอีกในวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งหากผู้ได้รับเลือกตั้งคนใดถูกร้องเรียน แล้วกกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ก็จะต้องประกาศรับรองผลไปก่อน

"ศุภชัย"ไม่หวั่นแรงกดดดันศอ.รส.

เมื่อถามว่า ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์จี้ให้กกต.เร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และระบุว่ามีกกต.คนหนึ่งมีพฤติกรรมเอนเอียงที่เข้าข่ายดำเนินคดีได้ นายศุภชัย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "เขามาสั่งไม่ได้หรอก เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าเขาจะดำเนินคดีอาญาก็ทำไป ไม่ได้หวั่นไหวอะไร"