เปิดเวทีถล่มปตท.บิดเบือนพลังงาน

เปิดเวทีถล่มปตท.บิดเบือนพลังงาน

เปิดเวทีถล่มปตท.บิดเบือนพลังงาน จี้ภาคปิโตรฯส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่ม

"เวทีถาม - ตอบพลังงานชาติ"ไร้ข้อสรุป ภาคประชาชนรุมอัดปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ “ไพรินทร์” แจง สตง.เป็นผู้ตรวจบัญชีปตท. แต่ไม่ได้ทักท้วงประเด็นคืนท่อ “ปานเทพ” หยิบประเด็นแอลพีจีโจมตีชี้เอื้อธุรกิจปิโตรฯบริษัทในเครือ ด้าน “กรกสิวัฒน์” แนะภาคปิโตรฯส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเท่าอุตสาหกรรมอื่น หวังนำเงิน 3 หมื่นล้าน มาอุดหนุนราคาน้ำมัน "พระพุทธะอิสระ”เตรียมสรุปข้อมูลให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบก่อนส่งให้คสช.เป็นข้อมูลปฏิรูปพลังงาน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2557 ที่ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี มีการจัดเวทีถามตอบพลังงานชาติ โดยมีพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีการเชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้การดำเนินการถามและตอบคำถามเรื่องพลังงานเริ่มเวลา 09.00 น. และสิ้นสุด ณ เวลา 15.30 น. รวมเวลากว่า 6 ชั่วโมง 30 นาที โดยมีภาคประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมากกว่า 500 คน และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดโดยมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบ โดยบรรยากาศในการเสวนาตอบคำถามโดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตามมีการโห่ฮา การตอบคำถามของฝั่งบริษัท ปตท.และกระทรวงพลังงาน แต่หลวงปู่พุทธอิสระได้ขอร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบเพื่อให้การเสวนาดำเนินต่อไปได้

วีระจี้ถามปตท.คืนท่อก๊าซ

สำหรับประเด็นคำถามแรกนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน ได้สอบถามไปยัง ปตท.เกี่ยวกับการคืนท่อทรัพย์สินท่อก๊าซของบริษัท ปตท.โดยตั้งข้อสังเกตว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นท่อก๊าซไม่ครบและไม่ได้นำเอาเอกสารของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) .ซึ่งทักท้วงว่า ปตท.ยังส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนแนบไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่เสนอให้กับศาลปกครองสูงสุดพิจารณา แต่ ปตท.ยังคงอ้างคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว โดยระบุว่า ปตท.ไม่ได้คืนท่อก๊าซในทะเล ที่มีมูลค่าประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ ปตท.ส่งคืนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ วันที่ 26 ม.ค.2551 ในวงเงินเพียง 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ไพรินทร์โต้เดินตามคำสั่งศาล

ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ปตท. ได้ชี้แจงว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้ระบุไว้ชัดเจนให้คืนเฉพาะทรัพย์สินที่ ปตท.ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ์เท่านั้น และที่ผ่านมา ศาลฯได้ส่งบันทึกไปยัง สตง.และช่วงที่ผ่านมา สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ในรายงานประจำปีการตรวจสอบบัญชี ปตท. นอกจากนั้นการลงทุนท่อทางทะเล เป็นการใช้เงินลงทุนของ ปตท.โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งปตท.ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดแล้วและเมื่อสังคมมีความสงสัยในเรื่องนี้ ปตท.ก็ได้นำเรื่องนี้ส่งให้ศาลพิจารณาอีกครั้งเพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคม

“สตง.อยู่ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.มาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยทักท้วงเรื่องการส่งคืนทรัพย์สินไม่ครบในรายงานประจำปีของ ปตท. และ ปตท.ก็ยึดเอาคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สิ้นสุด ที่จริงแล้วหาก สตง.นำหนังสือที่ศาลฯตอบ สตง.กลับไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณะก็จะช่วยลดข้อข้องใจของหลายๆฝ่ายได้” นายไพรินทร์กล่าว

ทั้งนี้หลังจากที่มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วยังไม่ได้ข้อยุติ พระพุทธอิสระจึงขอให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายส่งเอกสารข้อเท็จจริงให้ เพื่อนำเรื่องนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฯเพื่อหาข้อยุติในปัญหานี้ต่อไป

"ปานเทพ"ชี้ปิโตรฯปตท.ซื้อก๊าซถูก

ต่อมานายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดประเด็นเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานโดยหยิบยกประเด็นราคาก๊าซแอลพีจี ซึ่งโครงสร้างราคาที่แตกต่างกันของภาคปิโตรเคมี ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน และมีการตั้งประเด็นว่าบริษัท ปตท.มีการขายก๊าซให้กับบริษัทในเครือและบริษัทลูกในราคาที่ต่ำกว่าบริษัทอื่น จึงอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์กันเองระหว่างบริษัทในเครือ ปตท.เนื่องจากบางบริษัทสามารถซื้อก๊าซแอลพีจี ที่ราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ราคาประมาณ 19 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่บางบริษัทที่อยู่นอกกลุ่ม บริษัท ปตท. จะต้องซื้อก๊าซในราคาหน้าโรงกลั่นที่ราคาประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม

ปิยสวัสดิ์โต้ตกลงราคาตั้งแต่ปี32

โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท.ได้มีการชี้แจงว่า ราคาดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาระยะยาว ที่เคยมีการทำไว้ตั้งแต่ ปี 2532 ขณะที่ในบริษัทอื่นที่ซื้อในราคาที่สูงกว่า เนื่องจากเพิ่งเข้ามาซื้อและไม่ได้มีการซื้อขายกันบ่อยๆ โดยยืนยันว่า ปตท.ไม่ได้มีสิทธิพิเศษกว่าบุคคลอื่นและการชดเชยและมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเช่นกัน

โดยที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้พยายามขอให้ ปตท.เปิดเผยรายชื่อข้อมูลบริษัท ที่สามารถซื้อแอลพีจีในราคา 19 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงกับบริษัท ปตท.

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ ได้ขอส่งเป็นข้อมูลเอกสารให้กับพระพุทธอิสระ โดยที่ไม่ได้อ่านรายชื่อบริษัทให้ฟัง ทำให้ผู้ฟังหลายคนไม่พอใจและส่งเสียงโห่ร้อง จนพระพุทธอิสระต้องประกาศห้ามปราม

ต่อมาบรรยากาศในการซักถามในช่วงนี้ดุเดือดขึ้นอีกหลังจากที่ นายปานเทพ ได้ถาม ปตท.ว่า การใช้แอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีปริมาณมากกว่าการใช้ของประชาชนทั้งประเทศใช่หรือไม่ ซึ่งนายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานเป็นตัวแทนตอบคำถาม โดยชี้แจงว่าหากพิจารณารวมการใช้ก๊าซในภาคขนส่ง ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในภาคประชาชนแล้ว อยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่นายปานเทพกลับนำเอกสารข้อมูลมาแสดงและถามคำถามเดิมซ้ำๆ ทำให้นายมนูญไม่พอใจและกล่าวด้วย เสียงฉุนเฉียว ว่า ตนไม่ใช่จำเลยในศาลการถาม คำถามเดิมๆไม่เกิดประโยชน์อะไร การฟังข้อมูลพลังงานต้องฟังรอบด้าน ไม่ใช่ฟังด้านใดด้านหนึ่ง หรือฟังข้อมูลเพียงช่วงเวลาหนึ่งแล้วสรุปเอง

จี้กลุ่มปิโตรฯส่งเงินกองทุนน้ำมันเพิ่ม

นอกจากนี้ มล.กรกสิวัฒน์ ได้เสนอว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ในส่วนของการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคปิโตรเคมี โดยต้องส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะได้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มอีกประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงได้ เนื่องจากสามารถไปลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมันเบนซินลงได้ โดยไม่กระทบกับสถานะของกองทุนน้ำมัน

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการแก้ไขมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ต้องจัดสรรให้กับภาคปิโตรเคมีและภาคครัวเรือนก่อน เป็นควรจัดสรรให้กับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งก่อน ส่วนภาคปิโตรเคมีหากไม่เพียงพอก็ให้ใช้วิธีการนำเข้าจากต่างประเทศแทนเพื่อให้ก๊าซแอลพีจีเพียงพอสำหรับการใช้ประชาชนในประเทศ

จากนั้นภายในห้องประชุมได้มีการซักถามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีเสียงโห่ร้องจากผู้เข้าร่วมวงเสวนาเป็นระยะ หลังจากที่มีคำถามจากภาคประชาชนถามถึงบริษัท ปตท. ขณะเดียวกันมีหญิงคนหนึ่งที่เข้ามาในห้องประชุมและชูป้ายเป็นระยะ ทำให้มีตำรวจหญิงชุดควบคุมฝูงชนต้องเข้ามายืนติดตามสถานการณ์ ทั้งในและนอกห้องประชุม เพื่อรักษาความปลอดภัย

ตัวแทนภาคประชาชนได้มีข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมเช่น การให้ลดราคาน้ำมันลงให้เท่ากับราคาที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การให้งดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตน้ำมันและก๊าซเพื่อทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซถูกลง การให้ภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ให้เป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน การให้มีข้อกำหนดให้ข้าราชการห้ามเป็นกรรมการใน ปตท.และบริษัท พลังงานทุกบริษัท และการให้กระทรวงการคลังเข้าไปซื้อคืนหุ้นทั้งหมดของ ปตท. เป็นต้น

พระพุทธอิสระรวบข้อมูลชงคสช.

พระพุทธอิสระ กล่าวภายหลังว่า การถามตอบสิ้นสุดลงจากนี้วิวาทะและข้อขัดแย้งเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะในประเด็นเชื้อเพลิงฟอสซิลคือน้ำมันและก๊าซควรจะเป็นที่ยุติ เพราะได้เปิดเวทีให้ถามตอบกันแล้ว โดยถามและคำตอบรวมทั้งข้อมูลที่ได้มีการสอบถามกันในวันนี้ จะให้ทั้งสองฝ่ายยื่นเอกสารประกอบเพื่อให้เป็นการรับรองว่าไม่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยจะถือว่ามีผลผูกพันทางกฎหมาย ใครที่เสนอข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกล่าวหาและชี้แจงต่อประชาชนด้วยข้อมูลเท็จ

ทั้งนี้ตนจะได้นำข้อมูลทั้งหมดให้ฝ่ายกฎหมายและนิติกรช่วยตรวจสอบก่อนที่จะนำเอกสารทั้งหมดที่มีการเสนอในเวที รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.พลังงานและทรัพยากรแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันร่างระหว่างการชุมนุมที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะเพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นข้อมูลในการปฏิรูปพลังงานต่อไป

“ต้องการให้เกิดผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ และประชาชนให้มีความสุข เป็นเป้าหมายในการทำงานของฉัน ซึ่งในวันนี้ก็ถือว่าได้อะไรเยอะในเรื่องพลังงาน ประชาชนก็ได้รู้มากขึ้น ซึ่งต่อไปอาจจะมีการจัดเวทีเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนอีก ส่วนใครที่ไม่มาในวันนี้ก็ถือว่าไม่ควรจะไปพูดอะไรที่สร้างความสับสนอีก”พระพุทธอิสระกล่าว