'ทำแผนรับสารภาพ-ขอขมา' สอบสวนละเมิดสิทธิ-ส่อผิดก.ม.

'ทำแผนรับสารภาพ-ขอขมา' สอบสวนละเมิดสิทธิ-ส่อผิดก.ม.

"วิธีปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติตามคำสั่งยังคงประสบปัญหา ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัด"

กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพนักงานสอบสวนไปแล้ว เมื่อเกิดคดีอุกฉกรรจ์แล้วตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ หากผู้ต้องหาในคดีนั้นให้การรับสารภาพก็จะต้องมีการนำตัวผู้ต้องหาไป "ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ"

นอกจากนั้น หลายๆ คดีมีการนำผู้ต้องหาไป "ขอขมา" ผู้เสียหาย หรือญาติผู้เสียหาย บางครั้งถึงขั้นถูกฝูงชนที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้นเข้ามารุมทำร้ายขณะนำตัวไปชี้จุดก่อเหตุ หรือที่ทิ้งของกลางในคดีจนต้องหิ้วปีกผู้ต้องหาออกมาแทบไม่ทัน

ภาพเหตุการณ์เหล่านี้จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการสอบสวนรวบรวมหลักฐานในลักษณะนี้มีผลดีผลเสียต่อการดำเนินคดีผู้ต้องหาตามโทษทัณฑ์ที่เขาเหล่านั้นถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร

คำตอบต่อข้อถามข้างต้น ปรากฏในรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ 244/2556 เรื่อง สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของบุคคลในเกียรติยศและชื่อเสียง กรณีการนำตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2556

โดยมีการตั้งประเด็นตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับ "พนักงานสอบสวน" หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า ในการนำตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพนั้นเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

ผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบกับข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเห็นว่า การนำตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพหรือทำแผนประทุษกรรมนั้น พนักงานสอบสวนอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่บัญญัติว่า

“ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”

และมาตรา 226 ที่บัญญัติว่า “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน”

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”

และวรรคสาม บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้”

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพ ต่อสื่อมวลชน ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า ผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา

แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำผิด หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ให้ผู้ต้องหานำชี้ได้

รวมทั้งห้ามเจ้าพนักงานนำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เพราะจะเป็นการประจานเด็ก และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก

หากความปรากฏในภายหลังว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยผู้ต้องหารายนั้นมิใช่ผู้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ชื่อเสียงเกียรติยศที่เขาสูญเสียไปตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้นก็ไม่มีผู้ใดมาเยียวยาหรือชดเชยค่าเสียหายให้

ทั้งนี้ กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปนำชี้ที่เกิดเหตุก็ต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม รัดกุม และจะต้องไม่กระทำในลักษณะประจาน และหากผู้กระทำผิดเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดให้ต้องปิดบังใบหน้าเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จะเห็นได้ว่าตำรวจให้ความสำคัญในเรื่องการนำตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมี การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวยังคงประสบปัญหา ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัด และไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกกรณี ทำให้ยังคงมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้ได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน

วรวิทย์ ฤทธิทิศ อดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดเลย เคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เราคิดอะไร ฉบับที่ 165 เดือน เม.ย.2547 เรื่อง ข้อพิจารณา เรื่อง แผนประทุษกรรม เห็นว่า การทำแผนประทุษกรรมเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนประทุษกรรม

เนื่องเพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดทำแผนประทุษกรรมนั้นเพื่อให้ตำรวจได้มีโอกาสศึกษาถึงกลวิธีขั้นตอน แบบอย่างในการกระทำ ความผิดต่างๆ ของคนร้ายล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวน สอบสวน หาตัวคนร้ายได้โดยง่ายยิ่งขึ้น หาใช่จะต้องให้ผู้ต้องหาแสดงกิริยาท่าทาง กระทำความผิด ประกอบคำรับสารภาพไม่

เมื่อผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ หากประสงค์จะจัดหาพยานหลักฐาน แสดงสถานที่เกิดเหตุประกอบก็อาจกระทำได้ โดยการถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ หรือ ทำเป็นแผนที่ ประกอบกับภาพเขียน หรือภาพสเก็ตช์ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นประการใดที่จะต้องให้ผู้ต้องหาไปแสดงกิริยาท่าทางกระทำความผิดให้ละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม เพราะเมื่อพิจารณาแง่มุมผลกระทบจากการทำแผนประทุษกรรมแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความศรัทธาและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนการอ้างว่า การจัดทำแผนประทุษกรรมจะก่อให้เกิดความยำเกรงขึ้นแก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิด หรือเป็นเครื่องเตือนพลเมืองดีทั้งหลาย ให้รู้ถึงเล่ห์ของคนร้าย เขาเห็นว่ายังเป็นข้ออ้างที่ขาดน้ำหนักจึงเห็นสมควรทบทวนวิธีการจัดทำแผนประทุษกรรมในประเทศไทยเสียใหม่ และจัดให้เข้ารูปเข้ารอยเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเสียที

และถือเป็นหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันสนองตอบหลักการนี้เพื่อเรียกความศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการ บริหารงานยุติธรรมทางอาญาของรัฐกลับคืนมา